AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกนอนผวา ตื่นกลางดึก รับมือด้วย 5 วิธีนี้!

5 วิธี รับมือลูกนอนผวา ตกใจตื่นตอนกลางคืน

ทำไงดีเมื่อ ลูกนอนผวา ขวัญหาย ตกใจตื่น ร้องไห้ กลางดึก! ที่ลูกเป็นแบบนี้เพราะอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไร? ตามมาดูกันเลยค่ะ

ลูกนอนผวา ขวัญหาย
ชอบตื่นขึ้นมาร้องไห้กลางดึก เกิดจาก?

“ลูกขวัญผวา” “นอนละเมอร้องไห้”พอคุณแม่หรือคุณพ่อรีบเข้ามาปลอบ หนูก็ไม่ยอมหยุดร้อง แต่สุดท้ายก็หลับต่อได้อย่างรวดเร็ว แถมเช้ามายังจำไม่ได้สักนิดว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคืน!

เชื่อว่าในวัยเด็กเกือบทุกคน ย่อมต้องเคยมีประสบการณ์ “สะดุ้งตื่นแบบงงๆ” ในบางคืน โดยจะตื่นขึ้นมาแบบสะลึมสะลือ มองไปรอบๆ แต่มีท่าทีเหมือนไม่รู้ตัวว่ากำลังมองอะไรอยู่ แล้วจู่ๆ ก็หลับไปเอง

แต่ก็มีหลายบ้าน อย่างน้อยร้อยละ 5 ที่เกิดปัญหาจากอาการที่ เด็กนอนผวา ขวัญหายกลางดึก ซึ่งอาจเป็นการกรีดร้อง การเหวี่ยงแขวนเหวี่ยงขาแบบสะเปะสะปะ การเดินไปมา หรือพูดพึมพำแบบฟังไม่ได้ศัพท์

ซึ่งลักษณะอาการทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัวนี้ แม้จะไม่ใช่ฝันร้ายของลูก แต่อาจเป็นฝันร้ายสำหรับตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ได้ ซึ่งเมื่อลูกมีอาการขวัญผวากลางดึกเกิดขึ้น การร้องมีลักษณะเฉพาะคือมักเกิดช่วงหัวค่ำ การทำงานของสมองสะดุดอยู่ระหว่างการนอนหลับระดับลึกและระดับตื้น ต่างจากฝันร้ายซึ่งมักเกิดตอนเช้ามืด ดังนั้นการร้องแบบนี้ไม่ใช่ฝันร้ายค่ะ เป็นคนละแบบกัน

และเมื่อคุณพ่อคุณแม่หลายคนพอเห็นลูกร้องตกใจตื่นกลางดึกก็มักรีบอุ้มขึ้นมาและเขย่าปลุกให้ตื่น ซึ่งไม่ควรทำค่ะ …เพราะการร้องแบบนี้เกิดในช่วงของการนอนที่เรียกว่า Non REM Sleep เป็นช่วงซึ่งเด็กจะจดจำเหตุการณ์ไม่ได้ เมื่อเด็กถูกพ่อแม่เขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมา ก็จะยิ่งตกใจ

 

คลิกหน้า 2 เพื่ออ่าน วิธีรับมือลูกนอนผวา ขวัญหายตื่นร้องไห้กลางดึก

วิธีรับมือ ลูกนอนผวา ขวัญหายตื่นร้องไห้กลางดึก

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการ ลูกนอนขวัญผวา ตื่นร้องกลางดึก เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น สมองของพวกเขาจะก้าวล่วงจุดนี้ไปได้และอาการดังกล่าวก็จะหายไปเอง แม้ไม่สามารถรักษาได้ แต่มีวิธีช่วยหนูน้อยป้องกันและรับมือกับปัญหานี้โดย

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น เหนื่อยเกินไป เปลี่ยนแปลงตารางเวลามากและเร็วเกินไป มีไข้ (ควรให้ยาลดไข้ก่อนถึงเวลานอน) เครียด และการได้รับยาบางชนิด (เช่น ยาในกลุ่มยาแก้แพ้ เป็นต้น)

2. ทำใจเย็นๆ ถึงจะไม่ได้ตื่นขึ้นมาจริงๆ แต่ลูกก็รู้สึกได้ว่าคุณกำลังตื่นตระหนก จึงควรทำจิตใจให้สงบและใจเย็นๆเข้าไว้จะดีกว่า

3. ชิงปลุกลูกก่อน ถ้าลูกของคุณมีอาการขวัญผวาในเวลาใกล้เคียงกันทุกครั้ง คุณก็อาจจะปลุกเขาก่อนหน้านั้นสัก 15 นาทีแล้วค่อยกล่อมให้นอนต่อ เพื่อหลีกเลี่ยง “ภาวะสะดุด” ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการขวัญผวากลางดึก

4. ปล่อยไปตามธรรมชาติ ลูกจะสับสนและหงุดหงิด ถ้าเกิดอาการนี้ แล้วคุณเข้ามาปลุกเสียก่อน อันที่จริงควรปล่อยให้เขาหลับต่อเองจะดีกว่า

5. ระวังภัยให้ลูก เคลียร์พื้นห้องให้โล่งและคอยจับตาดูลูก เขาจะได้ไม่เจ็บตัวถ้าตกเตียงหรือละเมอเดินไปเดินมา

 

ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ลูกน้อยนอนผวา และตกใจร้องไห้เสียงผิดปกติ หรือไม่อาการอื่นร่วมด้วยให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อวินิจฉัยอาการ และรักษาได้ตรงอาการ

อ่านต่อบทความดีๆ น่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids