พอใกล้จะจบเกมและคุณก็เตรียมจะอ่อนข้อให้อยู่แล้ว เจ้าลูกน้อยกลับปล่อยโฮออกมาดื้อๆ เสียก่อน เนื่องจากตระหนักว่าตัวเองกำลังจะแพ้ คุณเลยกลุ้มใจ สงสัยว่าเขาจะเป็นคนประเภท ขี้แพ้ชวนตี อย่างนี้ไปตลอดหรือเปล่า
เรื่องจริงก็คือ เป็นธรรมดาของเด็กวัยยังไม่ถึง 7 ขวบ ซึ่งวิสัยทัศน์เรื่องการแพ้ชนะนั้นยังคับแคบอยู่มาก ด้วยความอ่อนวัย เขารับรู้เพียงว่าการชนะเป็นเรื่องดี ส่วนการแพ้นั้นไม่ดี เป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควร ฉะนั้นเขาจึงยอมเป็นผู้แพ้ไม่ได้ (ถึงแม้จะเป็นไปแล้วก็ตาม) เวลาเล่นเกมกระดานหรือการ์ดเกม คุณคงต้องพยายามออมฝีมือให้ลูกได้ชนะบ้าง หรือไม่ก็หาเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมเสริมทักษะอื่นๆ ที่สามารถเล่นอยู่ในทีมเดียวกันหรือช่วยกันเล่นได้ก็จะดีกว่า
ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไปร้องไห้โวยวายขณะที่เล่นแข่งขันกับเพื่อน โดยธรรมชาติแล้ว ระหว่างที่อยู่กับเพื่อน เด็กจะระมัดระวังกิริยาอาการมากกว่าเวลาอยู่กับคุณอยู่แล้ว ที่ต้องทำคือคอยสอนว่าเขาต้องทำตามกฎกติกาถ้าอยากให้เพื่อนเคารพกฎเหมือนกัน ถ้ารู้สึกว่าลูกจะจริงจังกับความพ่ายแพ้มากเกินไปแล้ว ค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ทุกๆ คน ไม่ว่าใครก็ตาม ต้องแพ้บ้างชนะบ้างสลับกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่สำคัญกว่าความพ่ายแพ้คือความสนุกสนานที่ได้จากการเล่นต่างหาก
แพ้อย่างสวยงาม ให้ลูกเข้าใจว่าการที่เขาได้พยายามเล่นอย่างดีที่สุดนั้นสำคัญกว่าการแพ้ชนะ ขณะเล่นเกมใดๆ กับลูกให้คอยบอกเขาว่า ลูกนับเลขได้เก่งจริงๆ หรือ วิธีเดินหมากของลูกพัฒนาขึ้นมาก เมื่อคุณ(ทำเป็น) แพ้ในบางเกม ให้เป็นตัวอย่างผู้แพ้ที่ดี แสดงออกถึงอารมณ์ที่แจ่มใส บอกกับลูกว่าคุณมีความสุขและสนุกมากแค่ไหนที่ได้เล่นกับเขา แน่นอน ต้องมีบ้างที่เขาแพ้อีกแม้ว่าคุณจะออมฝีมือแล้วก็ตาม ไม่ผิดที่จะปลอบโยนลูก เมื่อปลอบจนน้ำตาแห้งแล้ว ก็ชวนกันไปหากิจกรรมสนุกๆ อย่างอื่นทำด้วยกันต่อไป เดี๋ยวลูกก็จะลืมเรื่องที่ทำให้เสียน้ำตาไปเอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง