AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ความจริง 10 ข้อ พ่อแม่ต้องรู้ก่อน เลือกโรงเรียนให้ลูก

จากกรณีเหตุทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็กชั้นอนุบาลในโรงเรียนเอกชนชื่อดัง ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพ่อแม่ทั่วประเทศ ทำให้หลายบ้านที่กำลัง เลือกโรงเรียนให้ลูก หันกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า “โรงเรียนดัง โรงเรียนแพง ดีจริงหรือไม่” ทีมแม่abk ขอนำเสนอคำแนะนำจากคุณหมอในการเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสม และสามารถใช้เป็นเกราะป้องกันในระดับหนึ่งว่า เมื่อลูกไปโรงเรียนแล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำรอยอีก

เด็กคือผ้าหลากสี เกิดมาต่างกัน และไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนกัน การ เลือกโรงเรียนให้ลูก สมัยนี้จึงไม่เหมือนเดิม  อีกต่อไป นี่ทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะโรงเรียนที่ดีคือพื้นฐานที่ดีของลูกในอนาคต แต่ “โรงเรียนที่ดี” ควรเป็นอย่างไร และมีหลักพิจารณาอย่างไรกันแน่

ทุกวันนี้มีโรงเรียนหลายหลักสูตร หลากสไตล์ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกสรรมากมาย ทั้งโรงเรียนรัฐชื่อดัง โรงเรียนเอกชนหลักสูตรสองภาษา บวกกับข้อมูลทางวิชาการสารพัดจากสื่อต่างๆที่ยื่นเงื่อนไขของการเป็น “พ่อแม่ที่ดี” และ “เลี้ยงลูกให้ดี” ส่งผลให้พ่อแม่หลายคนเกิดความสับสน ไม่รู้จะเริ่มต้น เลือกโรงเรียนให้ลูก อย่างไรดี โดยเฉพาะวัยอนุบาล ที่ลูกจะไปโรงเรียนครั้งแรก

หมอเด็กอยากบอก เลือกโรงเรียนให้ลูก ต้องเน้นมองจาก “ตัวลูก” ก่อนเลือก “โรงเรียนเด่น”

นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติและการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตหัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติราชินี ได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ Amarin Baby And Kids ถึงแนวทางการ เลือกโรงเรียนให้ลูก ที่เหมาะสมไว้ว่า

“หัวใจสำคัญของการพาลูกไปโรงเรียน หรือเลือกโรงเรียน ให้หันกลับมาดูที่ “ตัวลูก” เป็นหลัก และควรพิจารณาลูกเป็นคนๆไป เพราะถ้าบ้านไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ก็ไม่ได้หมายความพี่น้องจะมีนิสัยเหมือนกัน ชอบหรือไม่ชอบอย่างเดียวกัน พี่น้องฝาแฝดก็ยังไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีความเฉพาะที่พ่อแม่ต้องคอยสังเกตและใช้เป็นหลักในการเลี้ยงลูก รวมถึงวิธี เลือกโรงเรียนให้ลูก

การ เลือกโรงเรียนให้ลูก ให้สอดคล้องกับพัฒนาและจิตวิทยาเด็ก  ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต และไม่เป็นการขัดขวางการพัฒนาด้านต่างๆของเด็ก ควรเริ่มตั้งแต่ชั้นก่อนปฐมวัย หรือเนสเซอรี่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ตัวเด็ก กับ โรงเรียน นพ.สุริยเดลได้ให้หลักคิดที่แบ่งย่อยออกเป็น 10 ข้อหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. ลูกอายุ 3 ขวบหรือยัง

วัยที่เหมาะกับการไปโรงเรียนคือ 3 ขวบ แต่ถ้าลูกยังอายุน้อยกว่านั้น หัวใจสำคัญของเขาคือพ่อแม่ แม้ลูกจะท่องก.ไก่-ฮ.นกฮูกได้ A-Z ได้คล่องแคล่ว พูดเก่ง ร่าเริงแจ่มใส แต่ธรรมชาติของเด็กวัยนี้มักกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือคนที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็ก

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพเด็กวัยก่อนสามขวบร้องไห้อยู่เป็นเทอม เมื่อไปโรงเรียน เพราะเด็กไม่เข้าใจเหตุผลของการไปโรงเรียน เขาแค่รู้สึกไม่ปลอดภัย และเกิดความสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ต้องเอาเขามาทิ้งกับคนแปลกหน้า เกิดคำถามว่าพ่อแม่ยังรักเขาไหม สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนผ่านพฤติกรรมต่อต้านต่างๆ เช่น ดื้อจัด กรี๊ดร้องเสียงดัง ร้องดิ้น ทำร้ายพ่อแม่หรือตัวเอง เพียงเพราะต้องการพิสูจน์ว่าพ่อแม่ยังรัก ยังสนใจลูกอยู่หรือไม่

ฉะนั้น ขอให้พ่อแม่ปักธงไว้ในใจเลยว่า เด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบยังไม่พร้อมจะไปโรงเรียน แต่สำหรับบ้านไหนที่มีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานและให้ลูกไปโรงเรียนก่อนวัยจริงๆ คงต้องพิจารณาจากหลักอื่นร่วมด้วย

2.ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย หรือดูแลเป็นพิเศษ

สังคมไทยมักบอกว่าเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวที่ผู้จะใหญ่แต่งแต้มสีอะไร เขาก็จะเป็นแบบนั้น หมอเองก็เชื่อว่าเด็กทุกคนมีจิตใจบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว แต่เด็กคือผ้ามีสีพื้นต่างกัน บางคนเป็นสีชมพู สีฟ้า สีเหลืองต่างเฉดไป ถึงจะวาดลายเดียวกัน แต่บนสีพื้นต่างกัน ลวดลายก็ไม่มีทางเหมือนกัน นี่คือธรรมชาติของเด็กที่พ่อแม่ปรับความเข้าใจสิ่งนี้ก่อน” อ.สุริยเดลเสริม

การสังเกตพื้นฐานอารมณ์ของลูกมีส่วนสำคัญที่บอกได้ว่า ลูกพร้อมไปโรงเรียนหรือยังไง และควร เลือกโรงเรียนให้ลูก แบบไหนดี  ถ้าลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ปรับตัวง่าย แม้เขาอาจกลัวการพรากจากพ่อแม่และร้องไห้บางช่วงแรๆ แต่ไม่นานก็ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้ การพาลูกไปโรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับบ้านที่มีพี่น้อง พ่อแม่ไม่ควรใช้เกณฑ์เดียวกันในการกำหนดวัยที่ลูกไปโรงเรียน ถ้าคนพี่เข้าเรียนตอนสองขวบได้ ไม่ได้หมายความว่าคนน้องจะทำแบบเดียวกัน หากคนน้องเป็นอารมณ์อ่อนไหวง่าย เวลาเปลี่ยนที่หรือเจอคนแปลกหน้าจะงอแงมาก  ในทางกลับกันลูกอาจเป็นเด็กพลังเยอะ มีความคล่องแคล่วว่องไว นั่งเฉยไม่ได้ ถ้าเลือกโรงเรียนที่ต้องนั่งเรียน ก็อาจได้รับข้อมูลว่า “ลูกสมาธิสั้น” ทั้งที่ความจริงคือ พื้นฐานอารมณ์ของลูกกับแนวการสอนของโรงเรียนไม่เหมาะกัน เป็นต้น

อ่านต่อ ลูกต้องเก่งแค่ไหนก่อนไปโรงเรียน หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

พ่อแม่หลายคนอาจหลงทางว่า ก่อนพาลูกเข้าโรงเรียนจะต้องเสริมให้ลูกเก่งวิชาการ ความจริงพัฒนาการตามวัยขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการเรียนปฐมวัย อนุบาล หรือเนสเซอรี่ไม่ใช่ “การเรียน” แต่เป็นการ “ส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อม” ก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนในช่วงประถมศึกษา

 

3.ร่างกายแข็งแรง –สื่อสารเป็น ลูกถึงพร้อมไปโรงเรียน

เด็กเล็กที่พร้อมกับการไปโรงเรียนครั้งแรกควรมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงดี ผ่านการฝึกฝนให้รับประทานอาหารหลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ สามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น กินข้าว ดื่มน้ำเองได้ สื่อสารความต้องการของตัวเองได้ ปวดเข้าห้องน้ำ ไม่สบาย ชอบหรือไม่อะไรสามารถให้ครูรู้ได้

ที่สำคัญพ่อแม่ควรฝึกให้ลูกเลิกขวดนม และผ้าอ้อมสำเร็จรูปก่อนไปโรงเรียน แต่ถ้าลูกมีพัฒนาการร่างกายที่ด้อยกว่า ยังต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือสังเกตแล้วว่ามีพัฒนาการล่าช้าด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียในระยะยาว

เมื่อสำรวจลูกตัวเองแล้ว ถึงเวลาที่พ่อแม่จะหันกลับมา เลือกโรงเรียนให้ลูก ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 วิธีสังเกตย่อยๆ ดังนี้

4.เสริมพัฒนาการผ่านเล่น ไม่ใช่นั่งโต๊ะเรียน

หากลูกต้องไปเนสเซอรี่หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อดูแลเด็กวัยก่อน 3 ขวบ กรณีที่ต้องให้ลูกไปโรงเรียนเร็ว พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะไปเรียนวิชาการ เพราะเด็กวัยนี้ยังต้องการความรักสูง เมื่อเขาต้องไปเจอกับโลกใบใหม่และพรากจากอกแม่ โรงเรียนนั้นจะต้องสามารถจัดการเรื่องโภชนาการเด็ก และสุขลักษณะที่ดี

ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาการผ่านการเล่น เช่น มีกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กๆได้ยืน เดิน วิ่ง ปีนป่ายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีกิจกรรมสร้างสรรค์  เช่นปั้นดินน้ำมัน เล่นทราย ต่อบล็อกเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกทักษะประสาทสัมผัส เช่น เดินบนเส้นวงกลม เล่นกระต่ายขาเดียว เป็นต้น ซึ่งต้องมีทั้งในวัยเนสเซอรี่และอนุบาล แต่มีระดับความยากง่ายแตกต่างกัน

5.ไม่เน้นสอบแข่งขัน วัดผลผ่าน-ตก

“โรงเรียนอาจผสมผสานกิจกรรมเข้ากับทักษะภาษา ซึ่งควรเน้นภาษาไทย (ภาษาแม่)ก่อน  หรือจะเรียนสองภาษาก็ได้ เว้นแต่ว่า ถ้าลูกมีแนวโน้มเรียนรู้ทักษะภาษาช้า พูดช้า ไม่ควรเรียนสองภาษาพร้อมๆกัน

เมื่อถึงชั้นอนุบาลจะเริ่มเกิดความคาดหวังเล็กๆ มีเป้าหมายกระตุ้นให้เด็กทำ โรงเรียนอนุบาลก็มีหลายแนวทั้ง มอนเตสเซอรี่ วอลดอร์ฟ วิถีพุทธ สิ่งนี้พ่อแม่สามารถเลือกที่เหมาะได้ ขอเพียงใช้วิธีเรียนผ่านเล่น ไม่ใช่ท่องจำ”

สิ่งที่โรงเรียนอนุบาลไม่ควรมี คือการสอบในระบบแพ้คัดออก มีการจัดอันดับ สอบผ่านหรือตก แม้แต่วัดเปอร์เซ็นต์ นำเด็กไปสู่การเรียนรู้แบบท่องจำ เน้นคัด เน้นเขียน บวกเลขหลายๆหลัก ก่อนเข้าอนุบาล1 ต้องทำข้อสอบ หรือต้องสอบเลื่อนชั้น ซึ่งทำลายพัฒนาการรอบด้านของเด็กอย่างสิ้นเชิง

ถึงเราจะพูดกันว่า เด็กเรียนรู้ไว จดจำเก่ง แต่การท่องจำเพียงอย่างเดียว ทำให้เด็กๆขาดประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง การสอบสร้างเงื่อนไขที่เด็กไม่เข้าใจ สร้างความเครียด กดดันที่ไม่สมวัย

 

6.โรงเรียนมีระบบคุ้มครองความปลอดภัย

ลองสังเกตสภาพแวดล้อมของเนสเซอรี่และโรงเรียนที่พ่อแม่ตั้งเป้าไว้ว่า มีการจัดการเรื่องความปลอดภัยดีหรือไม่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุง่ายหรือไม่ เพราะเด็กเล็กมักเล่นซนและยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนอันตราย สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนต้องปลอดภัย มีระบบการรับส่งระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน เพื่อทำให้เด็กปลอดภัย ถ้าเด็กต้องนั่งรถรับส่ง ต้องตรวจเช็กด้วยว่าปลอดภัยดีหรือไม่

7.จัดอาหารการกินถูกหลักโภชนาการเด็ก

อาหาการกินของลูกเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่มีผลต่อ การเลือกโรงเรียนให้ลูก เพราะเมื่อลูกต้องกินอาหารของโรงเรียนแทนฝีมือแม่ อาหารหลักควรมีครบทั้ง 5 หมู่ มีขนมของว่างที่เหมาะกับเด็ก ถ้ามีร้านค้าที่ขายขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หรือเอานมรสอื่นๆนอกจากนมจืดให้เด็กกิน แบบนี้อาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีนัก อย่างไรเสียอาหารการกินยังสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

 

อ่านต่อ  5 หลักมองโรงเรียนแบบไหนเหมาะกับลูก หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

8.โรงเรียนไม่อยู่ไกลเกินไป

ถึงจะ เลือกโรงเรียนให้ลูก ได้ตามข้อต้นๆหมดแล้ว แต่ถ้าโรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านเกินไป ลูกต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า เพื่อนั่งรถไปโรงเรียนให้ทัน จนทำให้ลูก “ติดหนี้การนอน” ที่นั่นอาจไม่ใช่โรงเรียนที่เหมาะกับลูก สำหรับวัยอนุบาล เด็กควรได้นอนวันละ 10 – 12 ชั่วโมง (รวมช่วงนอนกลางวัน)  ชั่วโมงการนอนที่น้อยเกินไปส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้เช่นกัน

วัยเนสเซอรี่กับอนุบาลควรเริ่มเรียนประมาณ 8.30 – 9.00 น. และเลิกเรียนประมาณ 14.00 – 15.00 น. เพื่อกลับไปพักผ่อนและมีเวลาเล่นที่บ้าน การเดินทางไกลๆอาจทำให้ลูกเหนื่อยเกินไป

9.ค่าเล่าเรียนยืดหยุ่นและเหมาะกับฐานะครอบครัว

วัยเนสเซอรี่ที่เด็กเพิ่งหัดไปโรงเรียน บางวันอาจงอแง หรือป่วยบ่อย ทำให้ไปโรงเรียนได้ไม่สม่ำเสมอทุกวัน เกณฑ์ค่าเล่าเรียนควรมีความยืดหยุ่น ไม่ควรผูกมัดว่าจะต้องจ่ายเป็นเทอม เพราะเด็กเล็กไม่ได้ไปโรงเรียน เพื่อไปเรียนหนังสือ ฉะนั้นค่าเล่าเรียนอาจแบ่งเป็นรายเดือนแทนเทอมการศึกษา เมื่อได้โรงเรียนดีควรประเมินค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับฐานะครอบครัว เพื่อความต่อเนื่องทางการศึกษาของลูกด้วย

10.โรงเรียนดีเกินไปจนลูกเจ็บไม่เป็น

สำหรับพ่อแม่ที่มีกำลังส่งให้ลูกไปโรงเรียนชื่อดัง มีหลักสูตรการสอนดีเยี่ยม ระบบความปลอดภัย โภชนาการ บุคลาการยอดเยี่ยม ทุกอย่างดูเพอร์เฟ็กต์ หากมองในอีกมุมหนึ่ง เรากำลังวางลูกให้อยู่ในจุดที่ปลอดภัยเกินไปจนไม่พบเจอกับอุปสรรค ปัญหา หรือความผิดหวังเลยหรือไม่

“ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์คับขัน ความผิดหวัง อุปสรรคเป็นโจทย์ชีวิตที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้หัดแก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ ใช้ทักษะชีวิต และเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดในตัวเด็ก ถ้าโรงเรียนปกป้องเกินไป ที่นั่นอาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีที่สุดก็ได้”

การเลือกโรงเรียนให้ลูก แบบไหนจะเหมาะสมที่สุดเริ่มต้นจากตัวพ่อแม่เอง ว่าตั้งหลักไว้อย่างไรข้อมูลที่กล่าวมาเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่ ซึ่งต้องมาชั่งน้ำหนักให้เหมาะสมทั้งความต้องการของพ่อแม่ และตัวตนของลูกให้สมดุล สุดท้ายแล้วคนที่รู้จัก “ลูก” ได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่อย่างเราเอง

6 หลักไม่ลืมเลือกโรงเรียนให้ลูก

  1. ดูแลเรื่องโภชนาการ และสุขลักษณะเบื้องต้นดี

  2. มีกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ภาษา ไหวพริบผ่านการเล่น

  3. สร้างการเรียนรู้ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านศิลปะ ดนตรี กีฬา

  4. เสริมสร้างทักษะชีวิต คุณธรรม จริยธรรม และการอยู่ร่วมกันในสังคม

  5. ดูแลจัดการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ห่างไกลจากอันตราย

  6. ครูผู้สอนต้องมีใบประกอบวิชาชีพ และความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กเล็กโดยตรง

ทั้งนี้คุณหมอเดวได้กล่าวถึงกรณีการใช้ความรุนแรงกับเด็กอนุบาลที่โรงเรียน ในรายการโหนกระแส ออกอากาศในวันที่ 29 กันยายน 2563 ว่า “หากผู้ใหญ่สร้างทัศนคติให้กับเด็กว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ จะทำให้เกิดเด็ก 4 สายพันธุ์ที่พ่อแม่ไม่ต้องการ คือ

สิ่งสำคัญที่อยากฝากผู้ปกครองไว้คือ ถ้าโรงเรียนพิสูจน์ไม่ได้ถึงความรัก อบอุ่น และปลอดภัย ก็ไม่เรียกว่าเป็นโรงเรียน” 

 

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

7 Step เตรียมเจ้าตัวน้อย ก่อนเข้าอนุบาล

ทำอย่างไรเมื่อ…ลูกไม่อยากไปโรงเรียน !!

ลูกเราควรไปโรงเรียนตอนอายุเท่าไหร่?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids