คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่… ความแตกต่างของลำดับ ลูกคนโต ลูกคนกลาง และลูกคนเล็ก รวมไปถึงลูกคนเดียว ก็มีผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งความฉลาด ความเกเร ความประสบความสำเร็จ รวมไปถึงลักษณะนิสัยของลูกแต่ละคนด้วย ซึ่งล้วนแต่มีพื้นฐาน และความเกี่ยวข้องกับลำดับพี่น้อง
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า… ทำไมลูกเกิดมาเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน แต่มีนิสัยต่างกันได้ เรามีคำตอบมาให้ค่ะ ซึ่งทฤษฎีนี้ Alfred Adler และทีมนักวิจัยได้ระบุแล้วว่า ลำดับที่คุณเกิดมานั้นส่งผลต่อบุคลิกภาพของคุณอย่างมาก มาดูกันค่ะว่าจริงเท็จแค่ไหน
ลูกคนโต หรือลูกคนแรก
โดยส่วนใหญ่แล้วลูกคนโต มีแนวโน้มจะเป็นพวก perfectionism ซึ่งได้อิทธิพลมาจากพ่อแม่ที่เลี้ยงดูประคมประหงมอย่างดี ทำให้เหล่าลูกคนโตมักจะมีนิสัยเป็นคนที่มีความเป็นผู้นำ ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ต้องการมีอำนาจหรือโดดเด่นเหนือคนอื่น เป็นคนที่มีความเที่ยงตรงและตรงต่อเวลา คนที่เป็นลูกคนโตจึงมักยึดความถูกต้องเป็นหลัก และประสบความสำเร็จสูง
- อนุรักษ์นิยม
- มีความเป็นผู้นำ
- มีเหตุผล
- รอบคอบ
- มีความน่าเชื่อถือ
- มีความห่วงใย
- มีความรับผิดชอบสูง
- พร้อมที่จะเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
- มีผลการเรียนดี ฉลาด
ลูกคนกลาง หรือลูกคนที่สอง
ในการเลี้ยงลูกคนกลางหรือลูกคนที่สอง พ่อแม่จะผ่อนคลายในการเลี้ยงดูมากขึ้น ทำให้เขาเป็นเด็กมนุษยสัมพันธ์ดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นหรือพึ่งพาตัวเอง เนื่องจากต้องการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น จึงมักทำให้คนที่เป็นลูกคนกลางพยายามทำตัวตามความต้องการของคนอื่นหรือทำให้คนที่คบรอบข้าง มีความสุขจนเกินขอบเขต หากไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ ก็มักลงโทษตัวเอง หรือ มองตัวเองในแง่ลบไป
- ชอบเข้าสังคม
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
- รักอิสระ
- รู้สึกว่าต้องต่อสู้หรือแข่งขันกับพี่น้องตลอดเวลา
- ชอบกำหนดเป้าหมายที่สูงเกินตัวเอง
- รู้วิธีที่จะรับมือกับปัญหา ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น
ลูกคนเล็ก หรือคนสุดท้อง
ลูกคนสุดท้อง พ่อแม่ก็จะไม่เคร่งเครียดและวางระเบียบมาก ทำให้ลูกคนเล็ก เป็นคนที่สนุกสนาน ร่าเริง มีความเป็นมิตรกับคนรอบข้าง เข้ากับคนได้ง่าย อบอุ่น น่าคบหา เป็นคนเปิดเผย จริงใจ มีความคิดสร้างสรรค์และมีเสน่ห์ตามธรรมชาติ
- สนุกสนาน ร่าเริง
- ได้รับแรงจูงใจจากบรรดาพี่ชายและพี่สาว
- ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ค่อนข้างเอาแต่ใจ
- เข้ากับคนง่ายมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะขาดความรับผิดชอบเมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่อายุเท่ากัน
อ่านต่อ >> “ผลวิจัยเผยลูกคนกลาง มีแนวโน้มสร้างปัญหามากกว่าพี่น้องคนอื่น” คลิกหน้า 2
ที่มาจาก : thepowerofhappy.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกคนเดียว หรือลูกโทน
ลักษณะนิสัยของลูกคนเดียว มักจะมีนิสัยเหมือนลูกคนแรกหรือลูกคนโต เพราะพ่อแม่จะให้ความสนใจอย่างมาก ดูแลดุจไข่ในหินและเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจของพี่ป้าน้าอา และบรรดาญาติๆทั้งหลาย จึงทำให้เด็กที่เป็นลูกคนเดียวมักชอบเรียกร้อง และทนต่อเสียงวิจารณ์ได้น้อยและค่อนข้างอ่อนไหวง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง
- บางครั้งอาจถูกตามใจหรือดูแลปกป้องมากเกินไป
- มีความมั่นใจในตัวเองสูง
- กลายเป็นพวกสมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลา
- ชอบพึ่งพาตัวเองและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- เขาจะทำทุกอย่างเพื่อนที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
- มีความเป็นผู้นำ
- มีความรับผิดชอบสูง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อลักษณะเหล่านี้ ก็ล้วนมาจากการพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมในครอบครัว และความสัมพันธ์ของพี่น้องที่มีต่อกัน อันส่งผลต่อลักษณะบุคลิกภาพของพวกเขา ซึ่งทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา คุณพ่อคุณแม่ควรคอยสังเกตนิสัยของลูกๆ ด้วย เพื่อที่จะเลี้ยงให้ถูกทาง
ทั้งนี้ในบรรดาครอบครัวที่มีพี่น้องหลาย ๆ คน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเกิดความวุ่นวายกับการเลี้ยงดูลูก ๆ แต่ละคน ในวัยต่าง ๆ กัน และก็มักเกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพี่น้องด้วยกันเสมอ ๆ พอถามว่าใครผิดก็ไม่ค่อยมีใครยอมรับผิดกันสักเท่าไร จะโทษพี่คนโตไปเสียหมดทุกเรื่องก็ไม่น่าใช่ เพราะบางทีคนเป็นน้องนี่แหละที่อาจจะเป็นเด็กดื้อ คอยสร้างเรื่อง และสร้างปัญหามากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ในบ้าน
วิจัยเผย! ลูกคนกลาง มีแนวโน้ม สร้างปัญหามากกว่าพี่น้องคนอื่น
จากงานวิจัยล่าสุดของโจเซฟ ดอยล์ (Joseph Doyle) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT กล่าวว่าผลการสำรวจในครอบครัวที่มีพี่น้องทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรปกว่า 1,000 คน พบว่า…
ลูกคนที่สอง (โดยเฉพาะลูกชาย) ประมาณ 25-40 % มีพฤติกรรมสร้างปัญหาในโรงเรียน และมีแนวโน้มที่จะก่อเรื่องผิดกฎหมายมากกว่าพี่น้องร่วมท้องคนอื่น ๆ
โดยเหตุผลนั้นพบว่า…ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ในช่วงวัยเด็ก พ่อแม่มักจะทุ่มทุนในการเลี้ยงลูกคนแรกมากกว่า เมื่อมีลูกคนที่สองก็จะไม่ค่อยสนใจดูแลลูกมากเท่าไรนัก ซึ่งอาจทำให้ลูกคนที่สองรู้สึกน้อยใจว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน จนเกิดเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่ส่งผลมาถึงตอนโต
อีกทั้งเด็กอาจเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมอื่น ๆ จากแบบอย่างที่เป็นคนใกล้ตัว เช่น พี่คนโตที่อายุต่างกันไม่มาก ซึ่งต่างจากลูกคนโตที่จะได้รับแบบอย่างที่ดีมาจากพ่อแม่
นักวิจัยกล่าวว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจและไม่ควรละเลย ซึ่งจริงอยู่ที่บางครอบครัวอาจไม่เคยประสบกับเหตุการณ์แบบนี้เพราะมีลูกแค่เพียงคนเดียว และในบางครอบครัวลูกคนที่สองก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนไม่ดี หรือต้องเป็นคนสร้างปัญหาเสมอไป เพราะข้อมูลนี้เป็นเพียงผลสำรวจจากคนส่วนใหญ่เท่านั้น
“ลูกคนโต” จะฉลาดกว่าน้องๆ ท้องเดียวกัน
โดยมีจากผลการศึกษาจากประเทศนอร์เวย์ ที่พบว่า ลูกคนแรกมักมีสติปัญญาดีกว่าลูกคนอื่นๆ มาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพี่น้องทั้งหมด 250,000 คน ที่ลูกคนแรกจะมี IQ สูงกว่าน้องคนรองอยู่ประมาณ 3 จุดโดยเฉลี่ย ลูกคนรองจะมี IQ สูงกว่าคนถัดไป 1 จุด และหลังจากนั้นก็ไม่พบความแตกต่างระหว่างพี่น้องคนถัดๆ ไป
โดยมีเหตุผลที่ชี้แจ้งเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า ลูกคนแรกจะมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ในช่วงอายุ 4-13 ปี มากกว่าลูกคนรองถึง 3,000 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าพ่อแม่จะมีเวลาเอาใจใส่ลูกคนโตมากกว่า และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกคนโตฉลาด อีกทั้งยังรู้จักความรับผิดชอบ เพราะจะมีความรู้สึกถูกคาดหวังจากพ่อแม่ว่าเขาจะต้องประสบความสำเร็จ
อีกหนึ่งผลงานวิจัยจาก University of Illinois ที่ระบุว่า เด็กที่เป็นลูกคนโตจะมีแนวโน้มเป็นคนชอบเข้าสังคม กล้าแสดงออก เข้ากับคนง่าย และยุติธรรมมากกว่า รวมถึงมีรายได้เฉลี่ยและการศึกษาสูงกว่าด้วย
อ่านต่อ >> “4 กลยุทธ์ป้องดราม่าระหว่างพี่น้อง
และ 5 วิธีสงบศึกเมื่อพี่น้องทะเลาะกัน” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.moshmace.com , baby.kapook.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
“ดราม่า” พี่น้อง ต้องระวัง!
ทั้งนี้เมื่อไหร่ที่น้องได้รับความรัก คำชม มากกว่า รับรองว่าได้มีรายการน้ำตานองแน่ๆ งานนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องเตรียมรับมือให้ดี
- อย่าตอกย้ำ = คุณอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ด้วยสภาพอารมณ์ของลูกตอนนี้ พวกแกจะรู้สึกไวกว่าปกติ แค่แม่บอกว่า “ทำไมน้องเดาะลูกบาสได้ก่อนหนูอีกล่ะ” เท่านี้ก็ทำให้แกคิดมากได้แล้ว เด็กๆ จะยิ่งรู้สึกแย่และเป็นปมด้อยหนักขึ้นไปอีกหากคุณสั่งน้องเล็กช่วยสอนพี่ หรือให้บุคคลที่สามเช่นครูสอนว่ายน้ำช่วยติวให้แกเป็นพิเศษ
- ชมน้องได้ แต่… = อย่าลืมเสริมว่า “พี่ต๊ะก็กำลังตั้งใจเรียนเปียโนเหมือนกัน แม่ภูมิใจในตัวหนูสองคนมากจ้ะ”
- สนับสนุนให้ถูกวิธี = คุยกับลูกว่า คุณรู้ดีว่าแกตั้งใจคัดลายมือขนาดไหน เพียงแต่ว่าแกต้องพยายามต่อไปอีกหน่อย “แม่รู้ว่าหนูขยันมาก พยายามต่อไปนะ แม่เชื่อว่าหนูทำได้” คุณอาจแชร์ประสบการณ์ยากๆ สมัยเด็กของตัวเองกับพ่อหนูแม่หนู หรือเสริมความมั่นใจให้พวกแกว่าพวกแกก็มีข้อดีอื่นๆ อีกเยอะแยะ
- มองหากิจกรรมที่พี่น้องสนุกได้ทั้งคู่ = ถ้าสถานการณ์หน้าแป้นบาสชักไม่ค่อยดี ลองชวนลูกๆ เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนุกและไม่ต้องงัดเอาทักษะมาแข่ง เช่น ช่วยกันขุดหาสมบัติในสนาม หรือเข้าครัวทำกับข้าวหรือขนมง่ายๆ ช่วยลดความขัดแย้งและบรรยากาศของการแข่งขันไปได้เยอะ
ทั้งนี้เมื่อมีเรื่องดราม่าระแวงกันเกิดขึ้น เหตุการณ์พี่น้องทะเลาะกันก็ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะช่วยสร้างสันติระหว่างเจ้าตัวโตกับเจ้าตัวเล็กในตอนนี้และปลูกฝังให้เกิดมิตรภาพฉันพี่น้องในอนาคตได้อย่างไร มาดูกัน
1. อย่าโทษใคร
ลูกวัยเตาะแตะและวัยอนุบาลยังขาดทักษะในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดการทะเลาะกัน เขาจึงต้องการความช่วยเหลือ (และความอดทน) จากคุณที่จะสอนให้เขาเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันและการผลัดกันเล่น คุณควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำทันทีเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น แยกทั้งคู่ออกจากกันหรือเอาของเล่นไปเก็บให้พ้นสายตา ไม่ใช่พยายามจะคาดคั้นว่าใครเป็นคนเริ่ม เพราะถึงอย่างไรก็ทะเลาะฝ่ายเดียวไม่ได้อยู่แล้วละ
2. ทำให้เด็กๆ มั่นใจในความรักของคุณ
พี่น้องมักทะเลาะกันเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณ จึงต้องทำให้เขามั่นใจในความรักแบบไม่มีข้อแม้ของคุณ ซึ่งไม่ว่าเขาจะแสดงพฤติกรรมหรือความรู้สึกออกมาอย่างไรคุณก็ยังรัก แทนที่จะดุลูก (“อย่าพูดแบบนี้กับน้องนะ!”) ก็แสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของเขา เช่น “ดูเหมือนตอนนี้หนูจะหงุดหงิดน้องมากเลยใช่ไหมจ๊ะ”
3. ส่งเสริมให้พี่น้องเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน
ชมเชยเด็กๆ ทุกครั้งที่เขาแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือใส่ใจกัน เช่น “ที่หนูกอดน้องแบบนั้นน่ะ น่ารักมากเลยรู้ไหมจ๊ะ”
4. ตั้งกฎประจำบ้านที่เข้าใจง่าย
เช่น ห้ามตะโกน ห้ามรังแกกัน (ตี เตะ หรือกัด) ห้ามใช้คำหยาบ และห้ามหยิบของของใครโดยไม่ขออนุญาตก่อน กำชับด้วยว่าห้ามทำร้ายกันทั้งด้วยการกระทำและด้วยคำพูดอย่างเด็ดขาด
5. สอนให้เด็กๆ รู้จักควบคุมอารมณ์
การนับหนึ่งถึงสิบ เดินหนี หรือพูดย้ำซ้ำๆ ว่า “ไม่เป็นไร” คือวิธีดีๆ ที่จะช่วยให้เด็กๆ หายโมโห ถ้าจะช่วยแก้ปัญหาเมื่อลูกตกลงกันไม่ได้ ลองแนะให้เขาใช้วิธีโยนเหรียญหรือทอยลูกเต๋าเพื่อดูว่าใครจะได้ทำอะไรก่อนหรือจะใช้วิธีตั้งนาฬิกาจับเวลาสำหรับการผลัดกันเล่นก็ได้นะ
อย่างไรก็ดีทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูของแต่ละบ้าน อย่างไรแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก ๆ แต่ละคนในบรรดาพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็น ลูกคนโต ลูกคนกลาง และลูกคนเล็ก รวมไปถึงลูกคนเดียว สิ่งสำคัญของการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนคือ ควรรักลูกให้เท่ากัน ไม่ลำเอียง เพียงเท่านี้ลูกก็จะรู้สึกอบอุ่น และไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยไปกว่าพี่น้องคนอื่น หรือเป็นตัวปัญหาในครอบครัวค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- สอนให้พี่น้องรักกัน ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ในการปลูกฝังที่พี่คนโต
- เลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกันคุณเองก็ทำได้!
- ทำอย่างไรดี ท้องนี้พี่กลัวแม่ไม่รัก
- 5 ข้อดีและข้อเสียของการ มีลูกคนเดียว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids