AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เลิกเต้าไม่เศร้าใจ เผยเทคนิค หย่านม ทำได้ใน 10 วัน

เทคนิค หย่านม ใน10วัน

วัน หย่านม สำหรับบางครอบครัวเป็นเสมือนวันโลกแตก ลองใช้เทคนิคเลิกเต้าใน 10 วันจะช่วยให้ทั้งแม่ และลูกก้าวผ่านเรื่องละเอียดอ่อนนี้ไปโดยไม่เกิดปมในใจแน่นอน

เลิกเต้าไม่เศร้าใจ เผยเทคนิค หย่านม ทำได้ใน 10 วัน

การหย่านมแม่ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนเป็นแม่ และลูกแล้ว นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงหนึ่งของการดูแลลูกเลยทีเดียว การมีอยู่ของแม่ผ่านการให้อาหาร ให้นมแม่มาตลอดเวลา 6 เดือนเต็ม ๆ มาถึงช่วงเวลาในการหย่าขาดจากสิ่งที่เป็นทั้งอาหาร และความอบอุ่น ความมั่นคงทางจิตใจของลูกแล้ว รับรองว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับลูกอย่างแน่นอน และไม่เพียงแต่ลูกน้อยเท่านั้น สำหรับแม่เองก็ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่นกัน ดังคำกล่าวในเพจของคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า

การหย่านมแม่ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะกับลูก แต่มีผลกับแม่ด้วย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แม่อาจรู้สึกเศร้าเหมือนกับการสูญเสียความใกล้ชิดกับลูก และมีความสำคัญต่อลูกลดน้อยลง หากเป็นไปได้ จึงควรหย่านมแบบค่อยเป็นค่อยไป

หักดิบ หรือค่อยเป็นค่อยไป แบบไหนดี?

หลากหลายวิธีการที่แต่ละบ้านเลือกใช้ในการหย่านมลูก บางบ้านเลือกที่จะหักดิบ ใช้วิธีเด็ดขาดเพื่อให้ลูกรับรู้ไปในครั้งเดียวเลยว่าจะไม่ได้รับนมแม่จากเต้าอีกต่อไป บางบ้านเลือกที่จะใช้วิธีหลอกลูก เช่น นมแม่หมดอายุแล้วจ๊ะ ทาบอระเพ็ดหรือรสขมเวลาลูกดูดเต้า ทำให้ลูกกลัวและเข็ดไม่กล้าอีกต่อไป วิธีหักดิบ เด็ดขาด จากประสบการณ์ของหลาย ๆ บ้านก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลในการเลิกเต้าลูกน้อย แต่มีข้อเตือนใจจากคุณหมอว่า การเลิกเต้าด้วยการให้กลัว ให้ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการดูดนมจากแม่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เพราะแม่ควรเป็นสิ่งที่ดีในความทรงจำของลูก

ไม่แนะนำให้ใช้บอระเพ็ดหรือยาหม่องทาที่หัวนมเพื่อทำให้ลูกกลัวการดูดเต้า เพราะนมแม่ควรเป็นประสบการณ์ที่ดีในความทรงจำของลูก : คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

ในวันนี้ทาง ทีมแม่ ABK จึงจะขอนำเสนอเทคนิคการหย่านมแม่ ในแบบฉบับเลิกเต้าไม่เศร้าใจ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 วัน จากแนวคิดของ Jay Gordon ,MD, FAAP เป็นกุมารแพทย์อาจารย์ และนักเขียนชาวอเมริกัน มีความสนใจอย่างมากในเรื่องโภชนาการของทารกและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดร. กอร์ดอนเป็นแพทย์ชายคนแรกที่สอบและผ่านการสอบรับรองการให้นมของคณะกรรมการระหว่างประเทศและดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาชีพของ La Leche League

แนวคิดดังกล่าวเป็นเทคนิคการเลิกเต้าแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เด็ดขาด ซึ่งเป็นเทคนิคการหย่านมที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งของคุณแม่ที่จะเลือกนำมาใช้ โดยวิธีดังกล่าวค่อนข้างได้ผลเป็นที่พอใจโดยผ่านการแชร์ประสบการณ์การเลิกเต้าจากหลายครอบครัวเลยทีเดียว

หย่านม เมื่อพร้อม

ควรหย่านมเมื่อไหร่ดี?

ต่อข้อคำถามที่ว่า ควรให้ลูกเลิกนมแม่ได้เมื่อไหร่นั้น ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ว่าลูกควรหย่านมเมื่อไร ตราบใดที่ยังมีน้ำนม ลูกยังได้รับคุณประโยชน์ของนมแม่อย่างเต็มที่ และถึงแม้ไม่มีน้ำนม การได้ดูดนมแม่ก็ยังให้ความสุขทางจิตใจต่อลูก

ในปัจจุบันนี้จะสนับสนุนการให้นมแม่ไปตลอดตราบเท่าที่จะให้ได้ ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเลิก ก็ควรให้นมไปเรื่อย ๆ จนหลัง 2 ปีขึ้นไป เมื่อลูกโตขึ้น กินอาหารอื่นมากขึ้น ดูดนมแม่น้อยลง น้ำนมก็จะค่อย ๆ ลดไปเองโดยปริยาย เป็นการหย่านมแบบค่อยเป็นค่อยไป และควรทำเมื่อทั้งแม่และลูกพร้อม ควรมีการวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้น มิฉะนั้นอาจมีผลกระทบต่อจิตใจทั้งแม่และลูก ทำให้ซึมเศร้า และรู้สึกสูญเสียได้ ถ้าลูกยังปรับตัวไม่ได้ อาจแสดงปฏิกิริยาโดยการร้องและขอดูดนมแม่บ่อยขึ้น หรือในทางกลับกัน ลูกอาจเครียด ไม่ยอมกินอาหารอื่นเลย และแม่เองก็จะมีปัญหาเต้านมคัดตึง เต้านมอักเสบหรือเป็นฝีได้

การวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้นอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเริ่มลดนมแม่วันละ 1 มื้อ ทีละสัปดาห์ ควรลดมื้อกลางวันก่อนมื้อกลางคืน และเว้นระยะระหว่างมื้อนมให้นานขึ้น

จะเห็นได้ว่า การหย่านมแม่ ถ้าหากโฟกัสไปที่สารอาหารแล้วละก็ ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นมากนัก เพียงแค่เพิ่มมื้ออาหารแก่ลูกตามวัย แต่ส่วนที่ยากที่สุดในการหย่านมแม่นั้น เห็นจะเป็นการหย่านมในมื้อกลางคืน หากว่าลูกของคุณเคยชินกับการตื่นขึ้นมาแล้วต้องดูดนมจากแม่จึงจะหลับต่อไปได้ สิ่งที่เขาต้องการมิใช่ความอิ่มทางกาย แต่เป็นความอิ่มทางใจต่างหาก

เลิกเต้าไม่เศร้าใจ ฉบับ Jay Gordon

จุดประสงค์ และบ่อเกิดแห่งแนวคิด

วิธีการเลิกเต้าวิธีนี้เหมาะสำหร้บเด็กโตวัย 18 เดือนขึ้นไป อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การหย่านมแม่ที่น่าลำบากใจที่สุดเห็นจะเป็นการหย่านมในช่วงเวลากลางคืน เพราะลูกจะมีความเคยชินในการได้รับนมจากเต้านมของแม่ แล้วรู้สึกอุ่นใจ พอใจจนหลับต่อไป ในบางครอบครัวลูกตื่นขึ้นมาขอแม่ดูดเต้าคืนหนึ่งหลายครั้ง เป็นสาเหตุให้ทั้งคุณแม่และลูกไม่สามารถนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนได้ยาวตลอดคืน ไม่สามารถมีการนอนที่มีคุณภาพได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแนวคิดวิธีการหย่านมในช่วงเวลากลางคืนนี้ขึ้นมา เนื่องจากว่าเด็กโตแล้วการดูดนมจากเต้าแม่นั้น ไม่ได้เป็นการต้องการสารอาหาร แต่เป็นเรื่องทางใจต่างหาก ดังนั้นเราควรไปโฟกัสในเรื่องการนอนให้มีคุณภาพแก่ลูกจะดีกว่า เพราะเด็กวัยนี้การนอนหลับพักผ่อนที่ดีก็มีความสำคัญ เด็กในวัยนี้ต้องการโกรทฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกาย ที่หลั่งในตอนกลางคืนที่เด็กหลับลึกแล้วเท่านั้น

อาหารมื้อหลักตามวัย ช่วงหย่านม

ขั้นตอนแรก

เริ่มต้นง่าย ๆ จากคุณแม่เลือกช่วงเวลาที่ต้องการให้ลูกนอนหลับต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ชั่วโมง ซึ่งทางเจ้าของแนวคิดแนะนำเป็นช่วงเวลา 23.00-6.00น. แต่อันนี้ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว แค่ต้องต่อเนื่อง 7 ชั่วโมงเท่านั้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการอธิบายจากช่วงเวลาที่แนะนำข้างต้น เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ถ้าหากเวลาที่คุณแม่เลือกไม่ตรงกับตัวอย่างก็ขอให้ปรับใช้ตามที่ต้องการได้เลย

ช่วง 3 คืนแรก

ใช่แล้วในช่วงหฤโหดของการหย่านมแม่ในวิธีนี้ คือ 3 คืนแรกของการหย่านม ที่คุณแม่ต้องใจแข็ง เด็ดเดี่ยวเพื่อให้ได้บรรลุเป้าหมาย แต่อย่าพึ่งกังวลไป แม้ต้องใจแข็ง แต่มิได้หมายความว่าจะโหดร้าย อาจต้องทำความเข้าใจกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงของคุณสักหน่อยว่า ใน 3 คืนนี้อาจจะมีเสียงเอะอะ เด็กร้องโวยวายอยู่บ้าง คงต้องขออภัยกันไว้ล่วงหน้า

วิธีการเริ่มต้น คือ สมมติว่าคุณแม่เลือกเวลา 7 ชั่วโมง ไว้ที่เวลา 23.00-6.00 น. ในช่วงเวลาดังกล่าวเราจะไม่มีการป้อนนมใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งจากเต้าแม่ และขวดนม แต่นอกเวลาดังกล่าวสามารถให้ลูกกินได้เต็มที่ โดยปกติทั่วไปเด็กจะเข้านอนเวลาก่อนหน้านี้ ถ้าหากลูกตื่นขึ้นมาก่อน 23.00 น. เราสามารถให้เขาดูดเต้าได้ แต่ถ้าเลยเวลาดังกล่าวไปแล้ว หากลูกตื่นขึ้นมาร้องขอนม เราใช้วิธีปลอบ ตีก้นเบา ๆ ลูบหลัง พูดคุย จนกว่าลูกจะผล็อยหลับไปในช่วง 3 คืนแรกนี้ยังพออนุโลมให้อุ้มกอดลูกเพื่อปลอบให้เขาสงบได้ แต่คงต้องใจแข็งไม่อนุโลมการให้นม จึงอยากแนะนำว่าช่วงเวลาดังกล่าวควรให้ลูกนอนเตียงเดียวกับคุณแม่ หรือเตียงที่เราสามารถนั่งอยู่ใกล้ ๆ เขารอจนเขาหลับไปอีกครั้งจะง่ายกว่า เตียงเด็กที่มีคอกกั้น

นอนเตียงเดียวกับลูกในช่วงหย่านมดีกว่าเตียงคอกกั้น

ในบางครอบครัวที่ลูกติดเต้ามาก ๆ คงเป็นคืนที่คุณแม่เสียน้ำตาเป็นแน่ แต่ขอให้มั่นใจเถอะว่าเราต้องยึดหมั่นในหลักการ งดให้นมในช่วงเวลาที่กำหนด แล้วผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงจะดีสำหรับลูก แต่ดีสำหรับคุณด้วยเช่นกัน ลูกอาจมีเหตุผลร้อยแปดมาร้องขอความเห็นใจ หนูกลัว หนูโกรธแล้วนะ แต่เชื่อเถอะว่าถึงแม้เขาจะห่างเต้า แต่คุณแม่ยังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ห่างไปไหน ความโกรธที่ไม่ได้รับสิ่งที่เคยได้อาจมีอยู่บ้าง แต่ความกลัวนั้นสามารถทดแทนด้วยน้ำเสียง มืออันอบอุ่นของคุณแม่ตลอดเวลา เขาก็สามารถหลับต่อได้แน่นอน

ช่วง 3 คืนที่สอง

ยังคงกระทำตามกฎแบบเดียวกับสามคืนแรก ช่วงเวลา 7 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ จะไม่มีการป้อนนมใด ๆ ทั้งสิ้น และเริ่มลดปริมาณการป้อนนมนอกช่วงเวลาดังกล่าวลงไปทีละนิดทีละน้อยด้วย ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลูกหิว หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะเด็กโตวัยนี้เขาสามารถทานอาหารได้อย่างเพียงพอในมื้ออาหารหลักอยู่แล้ว หลังตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า ลูกก็สามารถเติมพลังจากอาหารเช้าได้อยู่แล้ว

สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับช่วงเวลา 3 คืนหลังนี้คือ การปลอบให้ลูกรู้ตัว พูดคุย กอด แล้วให้ลูกเข้านอนต่อด้วยตัวเอง โดยมีคุณแม่ให้ความอุ่นใจอยู่ข้าง ๆ ข้อเน้นย้ำ คือ เขาจะได้เรียนรู้ว่าสามารถหลับตานิ่ง และหลับไปได้ด้วยตนเอง มิใช่การกล่อมจนหลับไปจากแม่เหมือนดั่ง 3 คืนแรก

ช่วง 4 คืนสุดท้าย

หลังจากผ่านพ้นไป 6 คืน ลูกน้อยของคุณเริ่มจะทำใจยอมรับแล้วว่ากฎกติกานี้จะยังคงอยู่ ไม่หาย หรือล้มเลิกไปได้จากการร้องไห้โยเย แต่เขาก็จะมีพฤติกรรมวนกลับมาอยู่บ้าง เพื่อขอลองใจคุณแม่อีกสักหน่อย ยังคงท่องไว้เช่นเดิมว่า ต้องใจแข็ง เดินตามกฎเดิมอย่าได้เสียเปล่าที่อดทนกันมา ในช่วงสุดท้ายนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ การปลอบ กอด ให้ความอุ่นใจกับลูกยังคงมี แต่จะค่อย ๆ ถอยออกมา กล่าวคือ พูดคุย ปลอบใจ กอดได้ จนเขาเริ่มสงบ พอใจ เราก็ให้ลูกเดินเข้าห้องนอนไปนอนต่อเอง ไม่อุ้มไปส่ง หรือหากนอนห้องเดียวกัน ก็ขึ้นเตียง ล้มตัวลงนอนได้เอง ใช้ท่าที คำพูด กอดจนเขาอุ่นใจ และตัดสินใจจากแม่มานอนต่อได้ด้วยตนเอง เป็นใจความสำคัญของสี่คืนสุดท้ายนี้

รอวันพร้อม แม้ต้องถอยกลับก็ไม่เป็นไร

หากคุณแม่รู้สึกไม่ไหว รู้สึกผิด เศร้าใจ ไม่ว่าในขั้นตอนใด จนหยุดรอสักเดือน แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่ วิธีใด ๆ ก็คงไม่ดีพอหากคุณยังไม่พร้อม เพราะจะหย่านมแม่ได้เมื่อไหร่นั้น ไม่มีกฎตามตัวอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปกดดันตัวเองจนเครียดเกินไปนัก

เพียงแค่ 10 วัน การหย่านมแม่ ก็จะถูกดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเห็นผล เป็นเสมือนการให้ลูกได้รับรู้ทีละน้อย ได้ปรับตัว ทำใจ เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวลูกเอง มิใช่ต้องเปลี่ยนเพราะการบังคับ แบบไม่มีทางเลือก หรือเป็นการทำตามคำสั่งของพ่อแม่เท่านั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวสามารถก้าวผ่านจุดเปลี่ยนนี้ไปได้อย่างไม่สะดุด เรียบร้อย ขอให้อดทนเพียงแค่ 10 วันเท่านั้นเพื่อลูกรัก

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย / wikipedia / Jay Gordon Blog 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิธีป้อนขวด ให้นมลูกอย่างถูกวิธี ป้องกันลูกสำลัก ลดความเสี่ยงลูกฟันผุ

เลิกเต้า …. อย่าเพิ่งเฉานะจ๊ะลูกจ๋า

รู้หรือไม่? นมถั่วเหลือง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยแข็งแรงไม่ป่วยบ่อย

อาหารเสริมทารก เริ่มด้วยอาหารแบบไหน? ทานอย่างไร?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids