AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เทคนิค เลือกหนังสือให้ลูก อย่างฉลาด เหมาะกับวัย

เลือกหนังสือให้ลูก …เพราะการอ่านถือเป็นพื้นฐานของการพูด และการเขียน มีคนตั้งหลายคนเคยประสบความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยการอ่านหนังสือ  ยิ่งอ่านมากยิ่งได้เปิดโลกทัศน์มาก และยิ่งอ่านมากเราจะยิ่งมีคลังคำศัพท์มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เด็กที่ได้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก  เขาจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่านด้วย

 

การอ่านหนังสือภาพพร้อมเล่าเรื่องนั่นมีประโยชน์มากมายกับลูก ทั้งช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการลูกและความสัมพันธ์ ความอบอุ่น และช่วยพัฒนาสมองให้ให้เกิดความรู้และพัฒนาการสูงมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว Amarin Baby & Kids จึงขอแนะนำวิธีการเลือกหนังสือให้ลูก  เพื่อให้ลูกรักของคุณพ่อคุณแม่ได้อ่านหนังสือที่ดี  เสริมสร้างพัฒนาการ  และเหมาะสมกับวัยของเขาค่ะ

เทคนิค เลือกหนังสือให้ลูก อย่างฉลาด เหมาะกับวัย

♠ 6 เดือน – ขวบครึ่ง : ชวนดูชวนจับหนังสือสวย

เด็กวัยนี้ยังอ่านหนังสือเองไม่ได้และไม่เข้าใจเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก  หลักการเลือกหนังสือจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหา  แต่เน้นที่ภาพประกอบ  สี  ผิวสัมผัส  และความทนทาน  โดยภาพประกอบต้องสวยงาม  มีสีสันสดใสและมีพื้นผิวหลากหลายให้เด็กได้จับ  ลูบ  ขยำ  เช่น  อาจเป็นหนังสือรวมภาพสัตว์ที่มีขนนุ่มนิ่ม  หรือหนังสือรวมภาพของใช้ในชีวิตประจำวันที่จำลองพื้นผิวของวัสดุต่างๆ  เพื่อดึงดูดความสนใจ  กระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก  และสอนคำศัพท์ให้เด็กไปด้วยในตัว  และควรมีความทนทานเป็นพิเศษ  เพราะเด็กน้อยยังกะประมาณน้ำหนักมือไม่ได้  เวลาเขาหยิบคว้าหนังสือแรงๆ  จึงอาจทำให้หนังสือขาดเสียหายได้

อ่านต่อ >> “เทคนิคเลือกหนังสือให้ลูกอย่างฉลาดเหมาะกับวัย” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

♦ ขวบครึ่ง – 3 ขวบ : ชวนฟังนิทานก่อนนอน

เพราะเด็กวัยนี้คุณพ่อคุณแม่เริ่มพาเขาไปเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์นอกบ้านมากขึ้นแล้ว  เรื่องราวในหนังสือจึงต้องเริ่มกว้างขึ้น  ไม่ใช่แค่คำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์หรือสิ่งของรอบตัวอย่างที่ผ่านมา  นอกจากนี้เขายังชอบฟังนิทาน  คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกหนังสือนิทานที่มีภาพสวยงามและมีเรื่องราวง่ายๆ ไม่ซับซ้อน  ให้เป็นเหมือนนิทานก่อนนอนที่จะเล่าให้เขาฟังทุกคืน  อาจเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน  เรื่องราวที่ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม นิทานเกี่ยวกับคุณลักษณะสิ่งของ  เช่น  สี  รูปทรง  หรือผิวสัมผัส  หรือนิทานคำกลอนที่มีคำคล้องจองต่างๆ  เพื่อให้เขาจดจำและร้องเล่นตามได้ง่าย

Must readรวมนิทาน เรื่องสั้น รูปแบบ MP3 สำหรับเด็ก

◊ หนังสือลูกเล็กต้องซื้อมากแค่ไหน?

หนังสือนิทานสำหรับเด็กวัย 1-3 ขวบเป็นสิ่งสำคัญก็จริง  แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อหลายสิบหลายร้อยเล่มค่ะ  เพียงเลือกซื้อตามกำลังทรัพย์และความเหมาะสม  เพราะเด็กวัยนี้ชอบอ่านเรื่องซ้ำๆ อยู่แล้ว  เพียงเลือกนิทานที่มีภาพสวยงาม  และเนื้อเรื่องหลากหลายน่าประทับใจ  เขาจะอ่านซ้ำๆ และท่องจำจนขึ้นใจ  เพียงเท่านี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้เขากลายเป็นนักอ่านตัวน้อยได้แล้ว

♥ 4-6 ขวบ : ชวน (หัด) อ่านนิทานสนุก

เด็กวัยนี้จะต้องเริ่มเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาลแล้ว  นิทานที่เหมาะจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่ในสังคมภายนอก  เช่น  เรื่องราวภายในโรงเรียน  นิทานเสริมสร้างคุณธรรม  หรือนิทานเสริมสร้างสุขลักษณะนิสัย  เช่น  การแบ่งปัน  การไม่ขโมยของเพื่อน  การล้างมือ  การเข้าห้องน้ำ  การอาบน้ำแปรงฟัน  หรือการกินอาหาร  เพื่อให้เขารู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  รู้วิธีรักษาความสะอาด  รู้กฎระเบียบ  และช่วยเหลือตนเองได้เมื่ออยู่ในโรงเรียน ซึ่งการใช้คาแรกเตอร์ตัวละครในหนังสือจะได้ผลดีกว่าการพูดพร่ำอบรมสั่งสอนลูกน้อยโดยตรง  นอกจากนี้เด็กๆ วัยนี้ยังชอบเล่นบทบาทสมมุติและชอบจินตนาการแฟนตาซี  เขาจึงชอบหนังสือนิทานแนวเทพนิยายหรือซูเปอร์ฮีโร่อีกด้วย

Must read : “อ่านให้ฟัง” หรือ “อ่านเอง” ถูกใจวัยช่างพูดทั้งนั้น

อ่านต่อ >> “วิธีเลือกหนังสือให้ลูกอย่างฉลาดเหมาะกับวัย” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

♣ 7-9 ขวบ : ชวนเลือกชวนอ่าน

หนังสือสำหรับเด็กวัยนี้อาจมีตัวหนังสือเยอะขึ้น  มีรูปภาพน้อยลง  แต่ควรใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย  และตัวหนังสือไม่แน่นจนเกินไป  อาจเป็นนิทานที่มีเนื้อเรื่องยาวขึ้น  เรื่องสั้น  นวนิยายขนาดสั้น  หรือหนังสือสารคดีตามความสนใจของเด็ก  เพื่อสร้างนิสัยใฝ่รู้  ให้เขาเรียนรู้ว่าหากเขาอยากรู้หรือสนใจเรื่องใด  ก็สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือ  และเนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มมีความสนใจแตกต่างไปตามเพศของตนเอง  เด็กผู้ชายจึงชอบหนังสือนิทานแนวผจญภัย  ส่วนเด็กผู้หญิงอาจชอบนิทานเกี่ยวกับเพื่อน  โรงเรียน  หรือเทพนิยาย  คุณพ่อคุณแม่จึงควรเริ่มพาเขาไปร้านหนังสือและให้เลือกหนังสือตามความสนใจของตัวเอง  เด็กบางคนอาจเลือกได้ดี  เหมาะสมกับความสามารถในการอ่านของเขา  และตรงกับความสนใจของตนเอง

ซึ่งการเลือกหนังสือได้ดีจะยิ่งส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  เพราะเด็กจะอ่านหนังสืออย่างสนุกสนานได้จนจบ  ทำให้เขาอยากอ่านหนังสือเล่มต่อๆ ไป  แต่เด็กบางคนที่ยังไม่รู้ชัดเจนว่าตนเองสนใจเรื่องใด  ก็อาจเลือกเพียงเพราะสนใจรูปบนหน้าปกหรือของเล่นที่มากับหนังสือเท่านั้น  คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ให้คำแนะนำ  และช่วยวางแผนให้เขาอ่านหนังสือเล่มที่เลือกให้ได้จนจบ  อาจแบ่งอ่านวันละ 1 ตอน  หรือวันละไม่กี่หน้าอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้เขาไม่รู้สึกท้อและเลิกอ่านหนังสือไปกลางคัน

Must read : การอ่านที่แท้จริงคืออะไร

⊕ 9-12 ขวบ : อิสระเลือก อิสระอ่าน

เด็กวัยนี้จะรู้สิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างชัดเจน  เมื่อพาลูกไปร้านหนังสือจึงควรมีข้อตกลงกับเขาว่า  คุณพ่อคุณแม่จะให้เขาเลือกหนังสือเล่มที่ชอบที่สุดได้กี่เล่ม  และอาจให้คำแนะนำวิธีการเลือกหนังสือ  เช่น  ควรลองอ่านก่อนสัก 1 บทเพื่อดูว่าถูกใจจริงๆ ไหม  หรือหากเป็นหนังสือห่อพลาสติกที่ไม่สามารถเปิดอ่านได้ก็ควรอ่านจากปกหน้าและปกหลังก่อน  และสอนให้ลูกหยิบจับหนังสืออย่างทะนุถนอม  แม้เราจะเลือกซื้อหรือไม่ก็ตาม  แล้วให้เวลาเขาค่อยๆ ดู ค่อยๆ เลือกด้วยตัวเองอย่างเต็มที่  เขาจะได้ไตร่ตรองความสนใจของตัวเอง  และเลือกหนังสือที่ใช่ได้ตรงใจที่สุด

สุดท้ายนี้อาจารย์สุธาวัลย์ฝากไว้ว่า  “นิสัยรักการอ่านจะเกิดขึ้นได้  ต่อเมื่อเขารู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือ  ดังนั้นจึงควรเลือกหนังสือของลูกให้เหมาะกับวัยและตรงกับความสนใจของเขา  นอกจากนี้การเล่านิทานและชวนลูกพูดคุยหรือตั้งคำถามยังต้องใส่ลีลาหรือความตื่นเต้นเข้าไปบ้าง  เพื่อให้ลูกตื่นเต้นหรือลุ้นไปตามเรื่องราว  เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เร่งแต่จะให้เขาอ่านออกเขียนได้  แล้วเด็กเกิดความเบื่อหน่าย  ไม่สนุกสนาน  เขาก็จะไม่ได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้น  แถมยังมีทัศนคติไม่ดีกับการอ่านติดตัวไปจนโต  แตกต่างจากเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ให้อิสระในการเล่น  เล่านิทานสนุกๆ ให้ลูกฟัง  ชวนพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน  เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายและจดจำได้เอง  เมื่อถึงวัยที่ต้องเรียนอ่านเขียน  แม้จะเริ่มช้ากว่าเด็กคนอื่นแต่ใช้เวลาไม่นานก็ตามทันเพื่อน  ไม่ได้มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าแต่อย่างใดเลยค่ะ”

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


เรื่อง : ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ (ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร