AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“ไม่ ไม่ ไม่” คำฮิตติดปาก วัย 1-3 ปี

แม่มณกำลังงงกับคำว่า “ไม่” ของน้องมิกมากๆ ตอนนี้เขาอายุ 1 ขวบ 1 เดือนค่ะ เพราะหลายครั้งพอบอก “ไม่” แต่ท่าทางของมิก “ไม่ใช่” สักหน่อย ยื่นกล่องขนมปังขาไก่ไปให้เจ้ามิกส่ายหน้า แต่หยิบขาไก่เข้าปากเฉย เลยไม่รู้ว่าจะอ่านใจลูกอย่างไรดี

คุณหมอฮาร์วี่ คาร์ป เจ้าของบล็อก “The Happiest Toddler” อธิบายว่า เด็กวัยเตาะแตะมักส่งสารที่ขัดแย้งกันหรือปนเปกันอย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านทักษะการเข้าสังคม รวมทั้งเป็นการแสดงความต้องการเป็นตัวของเขาเอง คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไป คุณหมอคาร์ปมีคำแนะนำดีๆในการทำความเข้าใจลูกน้อยและช่วยเขาลดอาการ “ไม่” ลงบ้าง

• อ่านภาษาท่าทาง

วัยเตาะแตะสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง (ซึ่งสั่งงานด้วยสมองซีกขวา) ได้ดีกว่าการใช้ภาษาพูด (ซึ่งสั่งการด้วยสมองซีกซ้าย) โดยส่วนมากอ่านท่าทางลูกจะรู้หรือเชื่อได้มากกว่าว่าเขาต้องการบอกอะไร ดังนั้นเวลาท่าทางเขาบอก “ใช่”คุณก็ปล่อยคำว่า “ไม่” ของเขาไปเสีย และเมื่ออาการของเขาขัดขืน ต่อต้าน หรืออื่นๆ ในทำนองปฏิเสธ คำว่า “ไม่” ของลูกก็ต้องหมายความว่า “ไม่” จริงๆ แล้วละ

• ให้เวลาเขา

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้วัยเตาะแตะ “ไม่” ไปเรื่อยกับทุกอย่าง เพราะเขารู้สึกอึดอัดที่ยังทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ดังใจ ก็เจ้าหนูยังแรงน้อย หยิบจับอะไรก็ยังไม่ถนัดนี่ทำอะไรๆ ได้ช้า แต่ใจน่ะไปแล้ว อยากได้ อยากทำอะไรเร็วๆ ไง

วิธีช่วยเขาที่ดีคือ ให้เวลาเขาทำอะไรมากขึ้น พอเขาทำได้สมหวัง จะเป็นกำลังใจส่งเสริมให้เขาร่วมมือในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

• มีตัวเลือกให้

แทนที่จะบอกลูกวัยเตาะแตะว่า “ใช่-ไม่ใช่”“เอา-ไม่เอา” “กิน-ไม่กิน “ทำ-ไม่ทำ” (พร้อมหน้านิ่งๆ สายตาเน้นๆ ของแม่ “เลือกให้ดีนะลูก”) ลองมีตัวเลือกให้เขา เช่น “หนูจะกินพี่แครอทหรือน้องคะน้าสุดสวย” และให้เวลาลูกขณะที่ลูกกำลังคิดและพิจารณาสิ่งของ จะช่วยให้การสื่อสารของคุณทั้งคู่ช้าลง ลูกจะได้เรียนรู้การเลือก และไม่ต้องตอบว่า “ไม่” ก็ได้

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง