ความกลัวสำหรับวัยทารกถือเป็นกลไกปกป้องตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสัญชาตญาณและปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติมากกว่าการตอบสนองด้วยความรู้และเข้าใจ แต่ความกลัวของเด็กขวบปีที่สองพัฒนาซับซ้อนขึ้น และมีเหตุผลสำคัญอันเกี่ยวข้องกับพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ อาทิ
1. มีความรู้แต่ยังน้อย
เมื่อลูกน้อยฉลาดเฉลียวขึ้น โลกก็ดูเหมือนจะน่ากลัวไปเสียหมด วัยเตาะแตะช่วงต้นคือวัยแห่งความภาคภูมิใจ หนูน้อยจะภูมิใจมากกับความคิดใหม่ๆ ของตัวเอง การได้รู้จักสิ่งใหม่ๆ นับสิบและความจริงนับร้อยอย่าง และการได้เรียนรู้ขั้นเบื้องต้นเกี่ยวกับโลกนี้ก็สังเคราะห์เป็นมโนภาพแห่งความน่ากลัวแบบนับไม่ถ้วน
2. รู้ แต่อ่อนประสบการณ์
หนูๆ เข้าใจหลัก “เหตุและผล” ของการกระทำแล้วก็จริงแต่ยังไม่เข้าใจเรื่อง “ความสมเหตุสมผล” ลูกวัยนี้จึงคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น (หรือสิ่งอื่น) จะเกิดขึ้นกับเขาด้วย เช่น ถ้าชักโครกดูดน้ำลงไปได้ก็คงดูดเขาลงไปได้เช่นกัน หรือถ้าหมากัดคุณพ่อ หมาทุกตัวก็จะกัดเขาได้ด้วย วัยที่คิดว่าตัวเองเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” มองว่าทุกอย่างเป็นของตัวเอง แม้แต่เรื่องเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นในการ์ตูน (เช่น โดนยักษ์เอากระบองไล่ตี) ก็จะเกิดขึ้นกับตัวเองด้วย
3. เริ่มรู้จักแยกแยะขนาด
เด็กวัยนี้เริ่มได้ออกไปเห็นโลกภายนอกบ่อยขึ้น และเริ่มเห็นว่าสิ่งรอบตัวช่างใหญ่โต ทั้งรูปคนบนป้ายยักษ์ บนอนุสาวรีย์ ฯลฯ เลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองเล็กนิดเดียว นี่ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความระแวงได้เช่นกัน
4. จินตนาการบรรเจิด
จินตนาการนั้นเหมือนพาหนะวิเศษที่นำลูกน้อยจากสนามเด็กเล่นเล็กๆ ไปสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ หรือจากเตียงแคบๆ ไปสู่จักรวาลแห่งดวงดารา จึงย่อมแปลงของธรรมดาๆ ให้เป็นสิ่งที่น่ากลัวได้เช่นกัน ห้องนอนอันอบอุ่นเลยกลายเป็นที่หลบซ่อนของอสูรเขี้ยวยาว เพราะจินตนาการกับความกลัวก็เหมือนกับพี่น้องที่เติบโตไปพร้อมๆ กัน
รับมือกับความกลัวของลูกน้อยยังไงดี?
การเพิกเฉยอาจได้ผลกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ใช่กับความกลัวเพราะอาจทำให้ยิ่งกลัวหนักขึ้นหรือขยายไปสู่ความกลัวในสิ่งที่ใกล้เคียงกัน การทำเหมือนเป็นเรื่องตลกขบขันก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ขอให้ตระหนักเสมอว่าความกลัวนั้น “มีอยู่จริง” และเป็นเรื่องใหญ่ และลูกมีทักษะในการหลบเลี่ยงมันน้อยกว่าคุณมาก
การบังคับให้เผชิญหน้า เช่น บังคับให้ลูกลูบสุนัขตัวเบ้อเริ่มของเพื่อนบ้าน จับโยนลงสระน้ำแบบฝืนใจ หรือแม้แต่การให้ดูว่าในตู้หรือใต้เตียงไม่มีสัตว์ประหลาด สำหรับวัยนี้อาจเปลี่ยนความกลัวเป็น “โรคกลัว” ได้
เวลากลัวลูกจะต้องการการสัมผัสที่แนบแน่นกว่าปกติเพื่อชดเชยความมั่นใจที่สูญเสียไป ต้องทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่กลัวไม่อาจจะเข้ามาทำร้ายเขาได้ อธิบายเหตุผลแบบตรงไปตรงมา แล้วเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งนั้น การปลอบประโลมมากเกินไป ลูกอาจยิ่งรู้สึกว่าความกลัวนั้นสมเหตุสมผลแล้ว
เทพนิยายบางเรื่องอาจเป็นตัวกระตุ้นความกลัวได้ อย่ามองข้ามนิทาน ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนเด็กที่แอบแฝงความน่ากลัว การเลือกสื่อสำหรับลูกต้องระวัง และเลือกสรรอย่างรอบคอบ ของที่ไม่น่าจะทำให้กลัว เช่น ตุ๊กตาช้าง ลวดลายบนผ้าปูเตียง ฯลฯ หากลูกกลัวจริงๆ ควรย้ายไปให้พ้นตา
เลี่ยงคำขู่อย่าง “คนแปลกหน้าจะอุ้มไป” หรือ “เดี๋ยวโดนจับเข้าห้องมืดนะ” แม้แต่คำพูดธรรมดาๆ เพียงปรับเปลี่ยนเล็กน้อยก็จะช่วยได้มาก เช่น พอเห็นลูกแมวเดินเข้ามาใกล้ แทนที่จะพูดว่า “ไม่ต้องกลัวนะลูก!” ก็เปลี่ยนเป็น “ลูกแมวน่ารักจังเลยลูก ดูสิ มันอยากทักทายเรานะ” และหากคุณรับมือกับความกลัวอย่างสงบเสมอลูกก็จะเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมจากคุณด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง