AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ฝึกลูกให้คิดเป็น ด้วยเทคนิค ตามใจลูกอย่างถูกวิธี

พ่อแม่ทุกคนล้วนอยากให้ลูกเป็นเด็กดี เลี้ยงง่าย เชื่อฟัง แต่ในความจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด คุณพ่อคุณแม่หลายท่านต้องเคยมีคำถามนี้ผุดขึ้นมาในใจ ทำไมลูกเราถึงสอนไม่จำ ต้องให้คอยบอก คอยเตือนทุกวัน จนปากเปียกปากแฉะหมดแล้ว! หรือเคยแอบบ่นใส่ลูกบ้างว่า เพิ่งพูดไปหยกๆ ทำไมทำอีกแล้ว! นั่นน่ะสิคะ!! เพราะลูกพูดยาก…หรือเพราะเราไปขัดใจลูก? หากไม่อยากพร่ำบ่น พ่อแม่ต้อง ฝึกลูกให้คิดเป็น ด้วยเทคนิค ตามใจลูกอย่างถูกวิธี

มาลองทบทวนกันค่ะหากว่าพ่อแม่เตือนลูกแปลว่าใครกันที่เป็นคนจำได้…พ่อแม่หรือลูก? คำตอบที่ถูกต้องก็น่าจะเป็นพ่อแม่ เพราะถ้าลูกจำได้ลูกก็ไม่ต้องรอให้พ่อแม่เตือนจริงไหมคะ แต่เอแล้วพ่อแม่จะทราบได้อย่างไรว่าที่ลูกยังไม่ทำ เพราะจำไม่ได้จริงๆ หรือจำได้แต่ยังไม่ทันทำ พ่อแม่ก็มาชิงเตือนตัดหน้าไปเสียก่อน!?!? 

ลองนึกภาพตามนะคะ หากเราตั้งนาฬิกาปลุกไว้ 8 โมง แต่ยังไม่ทัน 6 โมงก็มีคนมาปลุกให้ตื่นไปทำงาน เราจะรู้สึกอย่างไร…ขอบคุณที่ปลุกตั้งแต่ 6 โมง หรือแอบขัดใจนิดหน่อย แล้วถ้าเราบอกเขาไปแล้วว่า “เดี๋ยวจะตื่นเอง ไม่ต้องปลุก” แต่เขาก็ยังปลุกเราทุก 15 นาที ตอนนี้เราจะรู้สึกอย่างไร…ขอบคุณในความหวังดีหรือรู้สึกไม่พอใจ? แน่นอนว่าเราย่อมรู้สึกรำคาญและไม่พอใจถึงแม้ว่าคนนั้นจะปลุกเราด้วยความหวังดีก็ตาม!

ทีนี้เริ่มเข้าใจหรือยังคะ ว่าทำไมเวลาเอ่ยปากเตือน ลูกถึงอารมณ์ไม่ดี และทำไมพอตามเตือนตามบอก ลูกถึงชอบต่อต้านและลงท้ายด้วยการทะเลาะกับลูกทุกที

(อ่านเพิ่มเติม คำพูดยอดแย่ ที่พ่อแม่มักใช้ตีตรา และทำร้ายจิตใจลูก)

ฝึกลูกให้คิดเป็น ด้วยเทคนิค ตามใจลูกอย่างถูกวิธี

คำถามต่อไปคือ หากพ่อแม่คอยตามบอกตามเตือนลูกทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้ายันเข้านอนตอนกลางคืน ลูกยังจำเป็นต้องจำอยู่ไหมคะ

ลองนึกภาพตามอีกทีว่า ตั้งแต่เราบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้ในโทรศัพท์มือถือ สมองของเราก็เรียนรู้ไปแล้วว่า ข้อมูลนี้ไม่ต้องจำ จะใช้ค่อยเปิดหาดู เราก็เลยกลายเป็นคนที่จำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ เด็กๆ ก็เช่นกัน หากว่าพ่อแม่คอยบอกคอยเตือนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขาก็จะไม่จำเป็นต้องจำ รอพ่อแม่บอกเมื่อไหร่ค่อยทำ!

ดังนั้นแทนที่พ่อแม่จะตามบอกตามสอน ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการตามใจแบบการสร้างวินัยเชิงบวกกันดีกว่าค่ะ  เพียงบอกหน้าที่รับผิดชอบของลูกว่ามีอะไรบ้าง แล้วตามใจ  ให้เขาตัดสินใจเองว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลังเช่น “พรุ่งนี้เช้าสิ่งที่หนูต้องทำคือ อาบน้ำแต่งตัว กินข้าว และหนูจะทำอะไรก่อนก็ได้ พอ 7 โมงครึ่งเราจะขึ้นรถไปโรงเรียนกันค่ะ” หรือ “พอไปถึงบ้านคุณยาย หลังจากสวัสดีคุณยายแล้ว สิ่งที่หนูต้องทำคือ เข้าห้องน้ำ ล้างมือ เล่น ช่วยเก็บผลไม้เข้าตู้เย็น หนูจะทำอะไรก่อนก็ได้ พอ 6 โมงเย็น เราจะกินข้าวด้วยกัน และกลับบ้านตอน 2 ทุ่มค่ะ”

(อ่านเพิ่มเติม คำพูดเชิงบวก ที่ควรใช้พูดกับลูก 64 คำ)

เทคนิคนี้เป็นการตามใจลูกที่นอกจากจะสอนวินัยและความรับผิดชอบได้แล้ว ยังทำให้ลูกอยากให้ความร่วมมือมากขึ้นและไม่รำคาญเราอีกด้วย เพราะการให้อิสระในการเลือก เป็นการให้โอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนลงมือคิด บริหารเวลา วางแผน เรียงลำดับความสำคัญ ควบคุมความต้องการของตนเอง และกำกับตนเองให้รับผิดชอบจนเสร็จทุกหน้าที่

ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w

อ่านต่อ “5 เคล็ดลับเสริมให้ลูกคิดเป็น วางแผนได้ ลำดับความสำคัญถูก” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อย่างไรก็ตามเทคนิคตามใจลูก ฝึกลูกให้คิดเป็น แบบนี้จะทรงประสิทธิภาพมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเคล็ดลับต่อไปนี้

1. เตือนเพื่อชวนคิด

หากสังเกตเห็นว่า ลูกเริ่มติดกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานเกินไป เราสามารถเตือนเพื่อชวนลูกให้เริ่มคิดวิธีบริหารเวลาที่เหลือได้ เช่น เหลือเวลาอีก 30 นาทีเราจะออกจากบ้านแล้วนะคะ หนูคิดว่าเสร็จทันไหมคะ ต้องการให้แม่ช่วยอะไรไหม แทนการเตือนเพื่อชวนทะเลาะ เช่นจะเสร็จหรือยัง เห็นนั่งเล่นนานแล้ว เหลือเวลาอีกแค่ 30 นาทีนะ จะทานข้าวเตรียมกระเป๋าทันไหม!

2. เป็นคนช่วยเหลือ

ในกรณีที่ลูกงอแง โยเย และไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เช่น ไม่ยอมเก็บของเล่น แต่ก็ไม่ยอมไปอาบน้ำ เราสามารถบอกได้ว่าลูกอยู่ในอารมณ์ที่ไม่พร้อม เราเลยจะเป็นคนช่วยพาเขาทำเอง แทนการเป็นคนช่วยซ้ำเติม เช่น เก็บของเล่นเดี๋ยวนี้ แล้วไปอาบน้ำเร็วๆ เลยนะ! ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมอารมณ์ให้ลูกโยเยเข้าไปใหญ่

3. คำถามนำคิด

ในกรณีที่ลูกไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่บอกเอาไว้ ให้ถามลูกว่า ลูกคิดเอาไว้ว่าจะทำเมื่อไหร่ แทนการใช้คำถามที่นำมาซึ่งการแก้ตัว เช่น ทำไมถึงยังไม่ทำ หรือ ทำไมไม่ยอมทำ

(อ่านเพิ่มเติม คำถามที่ควรถาม หลังลูกกลับจากโรงเรียน)

4. ชม ชม ชม

เมื่อเห็นลูกทำหน้าที่เสร็จแล้ว เราต้องชื่นชม และให้ความสำคัญกับความพยายามและความรับผิดชอบของลูก เพื่อลูกจะได้มองเห็นความสามารถของตัวเอง และเกิดความภาคภูมิใจ เช่น แม่ขอบคุณมาก ที่ลูกพยายามควบคุมความอยากเล่นไว้ก่อน แล้วทำการบ้านจนเสร็จ ลูกแม่เรียงลำดับความสำคัญได้ยอดเยี่ยม เป็นนักบริหารเวลาตัวยงเลยนะเนี่ย แทนการ ติ ติ ติ หรือให้ความสนใจแค่ตอนที่ลูกทำไม่ดีเท่านั้น

5. รับผิดชอบผลที่ตามมา

บางอย่างที่ลูกไม่ทำ แล้วเป็นปัญหาของลูกเอง เราต้องปล่อยให้เขาได้รับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของเขา เช่น หากเหลือเวลากินข้าวอีกแค่ 5 นาที เพราะมัวแต่เล่น ก็ต้องให้ลูกกินแค่ 5 นาที พอถึงกำหนดเวลา ก็ต้องพาขึ้นรถไปโรงเรียนเลย เพื่อให้เขารู้ว่า หากบริหารเวลาไม่ดีและไม่ควบคุมตัวเอง ผลจะเป็นอย่างไร

(อ่านเพิ่มเติม “ลูกควบคุมตัวเอง” ได้ ต้องฝึกให้สมองได้ “คิด”)

การปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสมจนเป็นนิสัย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แค่การตามบอกตามเตือนลูก จึงยังไม่พอ แต่จำเป็นต้องอาศัยความรักและความเข้าใจจากพ่อแม่ด้วย เมื่อลูกปรารถนาแรงใจจากเรา แล้วเราจะไปขัดใจทำไม รีบตามใจ ให้แรงใจเขาดีกว่า…จริงไหมคะ?

ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  1. Thanasetkorn, P.**, Chumchua, V. Suttho, J., & Chutabhakdikul, N. (2015). The preliminary research study on the impact of the 101s: A guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. ASIA-PACIFIC Journal of Research in Early Childhood Education, 9(1), pp. 65-89.
  2. Jutamard Suttho*, Vasunun Chumchua, Nuanchan Jutapakdeekul, Panadda Thanasetkorn**. The impact of the 101s: A Guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. The 2nd ASEAN Plus Three Graduate Research Congress (AGRC). 2014;255.

เรื่อง : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ : Shutterstock

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

8 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก ง่ายๆ ป้องกันลูกดื้อ เริ่มได้ตั้งแต่ 1 ขวบ

วิธีบอกรักลูก ฉบับง่าย! แม้ไม่มีคำว่า “รัก” แต่ลูกรับรู้ได้!!