การ ฝึกลูกเลิกผ้าอ้อมสำเร็จรูป ถือเป็นพัฒนาการด้าน การช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ควรเริ่มตอนไหน จริงๆแล้วในวัย 1 ขวบเด็กสามารถเริ่มฝึก นั่งกระโถนได้แล้ว เพราะพัฒนาการเด็กในวัยนี้ สามารถยืน และเริ่มเดินได้แล้ว กล้ามเนื้อมัดใหญ่เริ่มแข็งแรง ฟังคำสั่งเริ่มรู้เรื่อง และเริ่มพูดคำที่มีความหมายได้เป็นคำๆ
ขั้นตอน การ ฝึกลูกเลิกผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก่อนเข้าเรียน
ขั้นที่ 1 ให้ลูกน้อยชินกับการเข้านั่งในห้องน้ำ
แต่ก่อนอื่นต้องให้ลูกน้อยเข้าใจว่าห้องน้ำคือสถานที่สำหรับการขับถ่ายซะก่อนลองกะช่วงเวลาที่ลูกน้อยจะปัสสาวะดู แล้วพาลูกน้อยไปนั่งบนโถส้วม พร้อมทั้งกระตุ้นไปด้วย เช่น การทำเสียง “ฉี่……ฉี่……” ช่วงที่เหมาะจะทำเช่นนี้ได้แก่ ช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้าถ้าผ้าอ้อมที่ใส่ไม่เปียกหรือหรือหลังการนอน ตอนกลางวัน เนื่องจากนี่เป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยสั่งสมปัสสาวะไว้มาก และโอกาสที่จะปัสสาวะเมื่อพาไปนั่งโถส้วมจะมีสูง
Must read : ทำไงดี ลูกชอบอั้น เพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน
ถ้าพาไปห้องน้ำแล้วลูกน้อยปัสสาวะไม่ออก ก็ไม่ต้องผิดหวัง! ให้ลองพาไปห้องน้ำวันละ 3 ครั้งก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเร่งทำทั้งวัน
ขั้นที่ 2 ชวนลูกน้อยไปเข้าห้องน้ำ (ฝึกไปยิ้มไป)
การฝึกเข้าห้องน้ำสามารถเป็นเรื่องสนุกได้ทั้งสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย ที่สำคัญคือต้องไม่เครียด ไม่เร่งรัด และไม่ดุลูกน้อย พยายามเข้าใจว่าสำหรับลูกน้อยแล้ว การปัสสาวะและอุจจาระในผ้าอ้อมนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดามาตลอดตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะครั้งแรกที่เข้าขับถ่ายในห้องน้ำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ดุ หรือทำท่าผิดหวัง นี่ล่ะจะทำให้ลูกน้อยไม่อยากลองฝึกเข้าห้องน้ำอีก
ดังนั้นถึงแม้ลูกน้อยจะไปเข้าห้องน้ำไม่ทันและปัสสาวะซะก่อนที่จะถึงห้องน้ำ หรือปัสสาวะเสร็จแล้วค่อยบอก ก็ให้พูดกับลูกน้อยดีๆว่า “สบายตัวขึ้นแล้วใช่ไหมลูก” เด็กๆนั้นชอบรอยยิ้มของคุณแม่ที่สุดเสมอ ยิ่งถ้าชมเขาด้วยแล้ว ลูกน้อยยิ่งจะมีความรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อคุณแม่ช่วยเชื่อมโยงความรู้สึกปวดขับถ่ายกับคำพูด เช่น “ฉี่” หรือ “อึ” ได้แล้ว นี่จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยบอกคุณแม่ในคราวหน้าที่รู้สึกอยากขับถ่ายได้
ถ้าลูกน้อยสามารถปัสสาวะเมื่อพาไปเข้าห้องน้ำได้แล้ว ให้ลองเริ่มสังเกตเวลาที่ลูกน้อยปวดปัสสาวะดูกัน เช่น ในระหว่างที่ลูกเล่นอยู่ ถ้าเห็นอาการกระสับกระส่าย หรือเอามือกุมที่เป้าแล้วล่ะก็ ให้ถามลูกน้อยว่าจะ “ฉี่” หรือ”อึ” ไหม และจากนั้นให้ชวนไปเข้าห้องน้ำ เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะทำให้ลูกน้อยเข้าใจได้ว่า ความรู้สึกอย่างนี้คือการปวดปัสสาวะหรือปวดอุจจาระ