AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำอย่างไรดี ป่านนี้หนูยังติดขวดนม

Q: ดิฉันไม่ได้ให้ลูกหย่านมจากขวด เพราะดูท่าเขามีความสุขดีเวลาได้ดื่มนม ดิฉันก็เลยผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย จนตอนนี้เขา 2 ขวบแล้ว ทำอย่างไรดี

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การหย่านมก็ดูจะเป็นเรื่องยากทั้งนั้น ยิ่งเด็กวัย 2 ขวบ ยิ่งไม่ยอมไปกันใหญ่ จะยอมตามใจให้ดูดนมต่อไปก็ไม่ได้ เพราะการดูดนมจากขวดในช่วงหนึ่งปีแรกหลังพ้นวัยทารกนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการฟันกร่อนและปัญหาสุขภาพฟันอื่นๆ แต่ถ้าคุณอดทนให้มากเข้าไว้ และค่อยๆ โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมลูก ภารกิจดังว่าก็จะสำเร็จลงได้ในที่สุด ส่วนจะทำอย่างไร มาอ่านบรรทัดต่อไปค่ะ

1. ถ้าลูกร้องขอขวดนมในคราวต่อไป

ลองเสนอทางเลือกสองอย่าง อย่างแรกคือ “ขวดนม” ใส่น้ำเปล่า อย่างที่สองคือ “แก้ว” ใส่เครื่องดื่มที่เขาโปรดปราน (อาจจะเป็นน้ำผลไม้) พอรู้ว่าเลือกได้เพียงอย่างเดียว เขาก็น่าจะเลือก “เครื่องดื่ม” ที่เขาชอบ มากกว่าจะเลือก “ภาชนะ” ที่เขาโปรดปราน แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะยังเลือกขวดนมในคราวแรก หน้าที่ของคุณคือพยายาม (หลอกล่อ) ต่อไป

เพื่อดึงดูดให้ลูกเปลี่ยนจากขวดเป็นแก้ว คุณก็พาลูกไปเลือกซื้อถ้วยหัดดื่มเองเสียเลย! หรือไม่คุณแม่ก็ซื้อถ้วยหัดดื่มกลับบ้านพร้อมกับสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ เขาจะได้เลือกแต่งถ้วยโปรดใบใหม่ได้ด้วยตัวเอง

2. ทำความคุ้นเคย

ก่อนที่จะใส่นมให้ลูกดื่ม คุณแม่อาจส่งถ้วยใบใหม่ให้นักสำรวจตัวน้อยนั่งจับ นั่งพิจารณาเสียก่อน พอเขาคุ้นเคยกับมันแล้ว การดื่มนมจากถ้วยก็อาจไม่เป็นปัญหามากอย่างที่คิด

3. ใช้หลอดเป็นตัวช่วย

เด็กบางคนชอบการดูดจากหลอด เพราะมันไม่ต่างจากการดูดขวดนมมากเท่ากับการยกดื่มจากถ้วยตรงๆ

4. เปลี่ยนรสชาติบ้าง

ล้างถ้วยให้สะอาด แล้วใส่น้ำผลไม้หรือน้ำเปล่าให้ลูกดื่มจากถ้วยบ้างก็ได้ รสชาติแปลกใหม่อาจทำให้เขารู้สึกอยากลองดื่มจากถ้วยมากขึ้น

5. กระตุ้นลูก

โดยใช้ของรางวัลมาดึงดูดใจ บอกเขาว่า ถ้าเลิกติดขวดนมได้จะมีอะไรดีๆ รออยู่บ้าง เช่น นิทานเล่มใหม่ ของเล่นชิ้นใหม่ หรือจะได้ไปเที่ยวสวนสัตว์

6. เน้นย้ำพร่ำบอก

บอกกับเขาว่า การเลิกดูดนมจากขวดนั้นมีความหมายเพียงใด “ก็แปลว่าลูกโตขึ้นแล้วไงจ๊ะ” แล้วลูกก็จะทำอะไรอย่างที่คนโตๆ แล้วเขาทำกันได้ด้วย เช่น ได้นอนบนเตียงเหมือนพ่อแม่ แทนที่จะเป็นเตียงคอก หรืออะไรก็ตามที่คิดว่าบอกไปแล้วเขาจะสนใจ (พึงคำนึงไว้ด้วยว่า ในกรณีที่คุณมีน้องคนใหม่ให้เขา คำว่า “ลูกโตแล้ว” อาจจะเป็นสาเหตุให้ลูกอิจฉาน้องเบบี๋ตัวจ้อยก็ได้)

7. ให้กำลังใจลูก

พยายามช่วยให้เขาโบกมือลาขวดนมให้ได้ อย่าลืมว่าลูกต้องการเวลาในการปรับตัว คุณจึงควรเอาใจใส่ดูแลเขาให้มาก เมื่อทำสำเร็จ อย่าลืมชมเชยหรือให้รางวัลเขาด้วยล่ะ

8. อย่ายัดเยียดลูก

ให้เริ่มต้นทีละน้อย เปลี่ยนการดื่มนมจากขวดนมมาเป็นดื่มจากถ้วยวันละหนึ่งมื้อ แล้วพอลูกเริ่มชิน ค่อยเพิ่มจำนวนครั้งให้บ่อยขึ้น

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง