มีคุณแม่ถามกันเข้ามาว่า ตอนนี้ลูก 6 เดือนกว่า ลูกน้ำลายยืดไหลเยอะจัง? คุณแม่ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการน้ำลายไหลแบบ นี้ แสดงว่าฟันน้ำนมกำลังจะขึ้น เหงือกที่ถูกกระตุ้นด้วยฟันที่ค่อยๆ งอกออกมาส่งผลให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากขึ้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปพบคำตอบกันว่า ถ้าลูกน้ำลายยืดในช่วงวัยที่มากกว่านี้ จะมีอะไรผิดปกติหรือไม่
ลูกน้ำลายยืด เรื่องที่พ่อแม่มือใหม่อาจยังไม่รู้!
ลูกชายวัย 1 ขวบ 6 เดือนมีฟันขึ้นครบหมดแล้ว พัฒนาการทางร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่ที่น่ากังวลคือ มักมีน้ำลายยืดอยู่ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเวลากินอาหารหรือเวลาอื่นๆ อยากทราบว่าอาการเช่นนี้เป็นสัญญาณของปัญหาทางพัฒนาการหรือไม่?
และเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้อง ชัดเจนในเรื่องของการที่เด็กมีภาวะน้ำลายยืด แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด จะมาอธิบายให้ได้ทราบกัน ตามนี้ค่ะ
ภาวะน้ำลายยืดเป็นภาวะที่ปกติในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ พบได้ในเด็กบางคนที่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในช่องปากและคอยังพัฒนาไม่เต็มที่ (Delay Maturation) เปรียบเสมือนเด็กบางคนเดินเร็ว พูดเร็ว ฝึกขับถ่ายได้เร็ว ขณะที่เด็กปกติบางคนอาจเดินช้า พูดช้ากว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย แต่ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด บางคนมีอาการเป็นพักๆ ตามจังหวะที่ฟันจะขึ้น
แต่หากเกิดขึ้นในเด็กอายุเกิน 4 ขวบขึ้นไป ภาวะนี้ถือว่าผิดปกติ อาจเกิดจากปัญหาสมองพิการ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือปัญญาอ่อน ปัญหาลิ้นใหญ่คับปาก ฟันผุ ปัญหาโรคเหงือก แผลในปากจากติดเชื้อไวรัส เช่น เริม โรคมือ เท้า ปาก เป็นหวัดหรือไซนัส ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก ต้องอ้าปากหายใจ นํ้าลายจึงไหลออกมาเพราะปิดปากไม่ได้ โครงสร้างของช่องปาก คาง หรือใบหน้าผิดรูป การสบฟันผิดปกติ หรือปัญหาน้ำลายหลั่งมากกว่าปกติจากการกินยาบางอย่าง
น้ำลายยืดทำให้เสียบุคลิก ถูกเพื่อนล้อ ทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจตามมา ผิวหนังที่โดนน้ำลายอักเสบจากการระคายเคืองและ ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน พ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องคอยตามเช็ดปากหรือเปลี่ยนผ้ากันน้ำลายบ่อยๆ อาจพบปัญหาพูดไม่ชัด หรือพูดช้าร่วมด้วย เนื่องจากการพูดต้องอาศัยความสามารถในการขยับลิ้นและปากเช่นเดียวกับการกลืนน้ำลาย
อ่านต่อ >> น้ำลายยืดที่ผิดปกติในเด็ก รักษาได้อย่างไร? หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกน้ำลายยืด อาการที่ผิดปกติ สามารถรักษาได้อย่างไร?
คุณหมอแนะนำว่า หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้ำลายยืดแล้วผิดปกติหรือไม่ ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อให้การประเมิน ว่าเป็นจากสาเหตุใด และเพื่อรับคำแนะนำถึงวิธีรักษา นั่นคือ
1. การฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนน้ำลาย
เป็นวิธีที่ปลอดภัยและเป็นขั้นแรกในการรักษา วิธีการคือ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก ใบหน้า ขากรรไกร และลิ้น เช่น การออกเสียงอา อู อี ฝึกเป่าลม เช่น เป่าหนังสติ๊ก ห่วงยาง ฝึกอ้าปาก – หุบปากเพื่อฝึกกล้ามเนื้อขากรรไกร ฝึกเลียอาหาร กระดกลิ้นหรือเดาะลิ้นเล่น ขยับลิ้นขึ้น – ลง ซ้าย – ขวา ทำเสียงลา ลา ลา เพราะลิ้นจะช่วยผลักน้ำลายไปด้านหลังเพื่อกลืนน้ำลายลงคอ การฝึกกลืนน้ำลายอย่างตั้งใจวันละหลายๆ ครั้ง การฝึกหน้ากระจกจะช่วยให้สัมฤทธิผลดีขึ้น เพราะได้เห็นว่าตัวเองขยับปากถูกต้องหรือไม่ และได้เห็นว่าตัวเองดูดีขึ้นเมื่อปากปิดสนิทและไม่มีน้ำลายยืด
2. การจัดฟัน
ในกรณีที่มีความผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกร หรือปัญหาการสบฟันผิดปกติ
3. ในกรณีที่มีปัญหากล้ามเนื้อคออ่อนแรง
เนื่องจากสมองพิการ แก้ไขโดยใช้เครื่องมือประคองคอหรือขากรรไกร เพื่อพยุงไม่ให้ศีรษะทิ่มไปด้านหน้า ทำให้น้ำลายไม่หยดย้อยออกมา
4. การผ่าตัด
เช่น การผ่าตัดดึงลิ้นที่ยื่นออกมามากเกินไป หรือเปลี่ยนทางไหลของน้ำลาย เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลเป็นดึงรั้งที่ลิ้นหรือทำลายเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง
5. การรักษาทางยา
อาทิ กินยาหรือแปะยาเพื่อลดการหลั่งน้ำลาย จะใช้ในกรณีที่ล้มเหลวจากการฝึกกล้ามเนื้อ มีผลข้างเคียง เช่น ตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัด ส่วนกรณีที่ใช้ยาแปะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง
ขอขอบคุณเนื้อหาโดย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด นิตยสาร Amarin Baby & Kids
อ่านต่อ >> วิธีบรรเทาอาการคันเหงือก ปวดเหงือกให้ลูก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีบรรเทาอาการคันเหงือกให้ลูก เมื่อฟันเริ่มขึ้น
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นค่ะว่า อาการน้ำลายยืด น้ำลายไหลของลูก คุณแม่จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ตอนลูกอายุได้ 6 เดือน ที่ฟันน้ำนมกำลังเริ่มขึ้น ฟันที่ค่อยๆ ทะลุโผล่พ้นเหงือก จะทำให้ลูกรู้สึกคันเหงือก ปวดเหงือก และจะชอบกัดทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะหัวนมแม่ตอนกินนมจากเต้า เผลอไม่ได้เป็นกัดให้คุณแม่เจ็บตลอด ^_^
เมื่อลูกเริ่มฟันขึ้น จะมีอาการปวดเหงือก คันเหงือก และมีน้ำลายไหลย้อยออกมาตลอดเวลา คุณแม่ควรเตรียมผ้าซับน้ำลายลูกไว้หลายๆ ผืนเลยค่ะ และในเด็กบางคนที่ฟันเริ่มขึ้นอาจจะมีอาการท้องเสียบ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่เวลาที่ลูกมีอาการคันเหงือก ถือว่าทรมานสำหรับเด็กๆ มากนะคะ ดังนั้นคุณแม่ควรหาอะไรที่ปลอดภัยต่อการนำเข้าปากเด็ก เพื่อให้ลูกได้กัดเพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก เอาเป็นว่าถ้านึกไม่ออกว่าควรหาอะไรให้ลูกกัดแก้คันเหงือก ผู้เขียนมีมาแนะนำให้ค่ะ
1. ของเย็นช่วยได้
เพื่อช่วยลดอาการบวมของเหงือก และไม่ให้ลูกคันเหงือกมากตอนที่ฟันเริ่มขึ้น วิธีที่ผู้เขียนได้ความรู้มาจากพี่สาว และเพื่อนๆ ที่เขาใช้กันคือ เตรียมผลไม้ที่นิ่มๆ หน่อย เช่น มะละกอหั่นชิ้นพอดีคำ แครอท แตงโม แตงกวา ฯลฯ ผัก ผลไม้อะไรก็ได้ที่ลูกสามารถกินได้แล้ว เตรียมเสร็จก็เอาไปแช่เย็นสัก 20-30 นาที(แช่ตู้เย็นช่องธรรมดาพอค่ะ) จากนั้นก็เอามาให้ลูกกัดกิน ความเย็นจะช่วยทำให้เหงือกชาๆ บรรเทาอาการคัน ปวดเหงือกได้ดีมากค่ะ
2. เจลทาเหงือก
วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลดีในการช่วยบรรเทาอาการปวด คันเหงือกให้ลูก แต่มีคำแนะนำว่าก่อนใช้เจลทาเหงือกให้ลูก ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอเด็กก่อนนะคะ เพราะเจลทาเหงือกจะมีส่วนประกอบของยาฆ่าเชื้อ ยาชาอ่อนๆ การทาเจลที่เหงือกจะทำให้ลูกรู้สึกชาตรงเหงือก ซึ่งนั่นจะช่วยลดอาการปวดเหงือกของลูกลงได้ค่ะ
3. ยางกัดแก้คันเหงือก
ตามร้านขายอุปกรณ์ของใช้เด็ก จะมีขายยางกัดสำหรับให้เด็กที่กำลังฟันขึ้นได้กัดลดอาการคันเหงือกด้วย แต่แนะนำว่าควรซื้อยางกัดที่ผลิตมาจากวัสดุที่ปลอดภัยต่อการนำเข้าปากของเด็กๆ กันนะคะ
พัฒนาการของลูกเปลี่ยนแปลง พัฒนาขึ้นตามวัยค่ะ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือพ่อแม่ผู้เป็นครูคนแรกของลูก จะต้องช่วยส่งเสริมให้ลูกได้ใช้ทักษะ พัฒนาการของพวกเขาให้ได้อย่างเต็มที่ตามวัย เพื่อที่ลูกจะได้เติบโตขึ้นอย่างเด็กที่มีทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพค่ะ
Must Read >> ลูกมีกลิ่นปาก สัญญาณบอกโรคที่ต้องระวัง!
และถ้าลูกเกินวัยเตาะแตะไปแล้ว แต่ยังมีน้ำลายไหลยืดอยู่ อาการแบบนี้ไม่น่าไว้ใจ พ่อแม่ควรแวะไปปรึกษาหมอพัฒนาการเด็กสักนิด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพลูก และความสบายใจของพ่อแม่ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกนอนกัดฟัน ส่งผลเสียอย่างไร และแก้ด้วยวิธีไหน?
เบบี๋น้ำลายไหลย้อย ผิดปกติหรือไม่?
เมื่อไหร่ ลูกจะหายน้ำลายยืด