AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกเป็นอะไรเวลาไม่พอใจ ชอบหยิกคนอื่น?

 Q. ลูกอายุ 1 ขวบ 11 เดือน เวลาเขามีความรู้สึกไม่ดีมากๆ เสียใจ หงุดหงิด โกรธ จะหยิกค่ะ พ่อ แม่ น้อง และพี่เลี้ยง โดนหมดค่ะ เป็นเพราะอะไร และจะช่วยลูกอย่างไรดีคะ

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง ช่วงที่หลานสาวของผมอายุ 1 ขวบ 8 เดือน เขานั่งกินข้าวร่วมกับผู้ใหญ่แล้ว อีกทั้งสามารถพูดคำสั้นๆ และประโยคสั้นๆ ได้ เวลาที่มีใครคะยั้นคะยอให้เขากินข้าวเยอะๆ เขาจะปัดถ้วยข้าวตกพื้น สร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้ใหญ่เป็นอันมาก พวกเราก็ใช้วิธีจับมือเดี๋ยวนั้น พูดกับเขาชัดๆ ช้าๆ ว่า “ไม่ให้ปัดถ้วยข้าว” เขายังคงทำซ้ำอีกหลายครั้งก่อนที่จะเลิกทำ แล้ววันหนึ่งเขาก็พูดคำว่า “อิ่มแล้ว” เป็น อีกไม่นานหลังจากนั้นเขาก็พูดคำว่า “ข้าวไม่อร่อย” ออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ

ลองเปรียบเทียบเรื่องของผมและเรื่องของคุณ มาช่วยกันแยกแยะครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เรื่องที่หนึ่ง คือ “เวลาเขามีความรู้สึกไม่ดีมากๆ เสียใจ หงุดหงิด โกรธ” จะเห็นว่านี่คือสาเหตุ ถ้าป้องกันได้ก็ป้องกันอย่าให้เกิด ผมไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรสำหรับบ้านของคุณ แต่บ้านของผมคือมีใครไปคะยั้นคะยอให้หลานกินข้าวทั้งที่ไม่อยากกิน สำหรับผมเรื่องนี้ง่ายมากๆ ไม่กินก็ไม่ต้องกิน มื้อหน้าค่อยเริ่มกินใหม่ ระหว่างมื้องดขนมและน้ำหวาน ทำเรื่องนี้เป็นกติกาล่วงหน้า

เรื่องที่สอง คือ “จะหยิกค่ะ” นี่คือการกระทำที่รับไม่ได้ ผิดกฎการเติบโตเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ดังนั้นเราต้องหยุดทันที วิธีง่ายมากคือ จับมือ มองหน้าและมองตาเขา พูดชัดๆ อย่างนิ่มนวลว่า “แม่ไม่ให้หยิกค่ะ” เอาเท่านี้ ไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลยืดยาว เราต้องการให้เขารับข่าวสาร “แม่ไม่ให้หยิกค่ะ” อย่างชัดเจนและทำตามโดยไม่ต้องอธิบาย เฉพาะเรื่องนี้ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่านักจิตวิทยาบางสำนักจะเห็นแย้ง กล่าวคือเราควรอธิบายเหตุผลให้เด็กฟังด้วย ขอให้ทราบว่านี่เป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันครับ

เรื่องที่สาม คือ “โดนหมดค่ะ” ผมก็จะตีความว่าเขาไม่เคยได้รับข่าวสาร “แม่ไม่ให้หยิกค่ะ” เลย แม้ว่าจะมีคนออกปากห้ามด้วยคำพูดหรือกริยามากเท่าไรก็ตาม มีหลายสาเหตุที่เด็กไม่ทำตามแม้ว่าเราจะอ้างว่าบอกแล้ว เช่น พูดยาวเกินไป พูดตอนเขาไม่ฟัง พูดสำเนียงเหยาะแหยะ พูดสำเนียงก้าวร้าวเกินไป หรือแม้กระทั่งอธิบายเหตุผลยืดยาวจนกระทั่งเด็กไม่เข้าใจว่าจะเอาอะไรกันแน่ เป็นต้น ดังนั้นกลับไปอ่านข้อสองใหม่

เรื่องที่สี่ คือกรณีตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง “เขายังคงทำซ้ำอีกหลายครั้งก่อนที่จะเลิกทำ” เด็กแต่ละคนจะทำตามที่เราบอกเร็วช้าต่างกันแล้วแต่บุคคล เราไม่ควรคาดหวังว่าเขาจะทำตามหลังจากการบอกเพียงครั้งเดียว เด็กกำลังมีความสามารถปัดถ้วยข้าวสร้างความโกลาหล หรือมีความสามารถหยิกได้ตามใจชอบโดยห้ามปรามกันอย่างเสียไม่ได้ จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เขาจะทดสอบความสามารถใหม่ๆ ของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะมั่นใจว่าบ้านนี้ห้ามทำ (หรือที่แท้แล้วบ้านนี้ทำได้) ดังนั้นเราก็ห้ามซ้ำๆ อย่างตั้งใจ

เรื่องที่ห้า เด็กยังไม่ถึง 2 ขวบมีคำศัพท์ให้ใช้กี่คำ จะให้เขาพูดหรืออธิบายอย่างไรว่าเขากำลังไม่พอใจเรื่องอะไร ดังนั้นถ้าเขาแสดงออกได้ด้วยมือเขาก็จะแสดงออกด้วยมือ มองในแง่ดีกล้ามเนื้อนิ้วมือเขาน่าจะพัฒนาได้ดีทีเดียวถึงหยิกได้หยิกเอา บางบ้านแสดงออกด้วยเท้า ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเขาอยู่ระหว่างการเรียนรู้ว่าจะแสดงความไม่พอใจอย่างไรถึงจะเป็นที่ยอมรับ หากหยิกไม่เป็นที่ยอมรับก็พูดกับเขาตรงๆ ว่าไม่ได้ และถ้าอยากให้เขาบอกความต้องการได้เร็วๆ ก็เล่นกับเขาให้มากขึ้น อ่านหนังสือนิทานก่อนนอนทุกคืน พัฒนาการทางภาษาของเขาก็จะดีขึ้นครับ

 

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์