AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกอาเจียน หลังกินยา ต้องป้อนยาซ้ำหรือไม่?

ทำไมเวลาป้อนยาให้ ลูกถึงอาเจียน หลังกินยา

หากคุณแม่กำลังป้อนยาลูกอยู่ แต่ ลูกอาเจียน หลังกินยา ถ้าเป็นแบบนี้ควรทำอย่างไร ต้องป้อนยาซ้ำหรือไม่? Amarin Baby & Kids มีคำตอบจากคุณหมอมาฝากค่ะ

ไขข้อสงสัย ถ้า ลูกอาเจียน หลังกินยา ต้องป้อนยาซ้ำหรือไม่?

การพิจารณาป้อนยาซ้ำในกรณีที่ ลูกอาเจียน หลังกินยา ไม่มีคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานแน่นอน

เพราะโดยทั่วไปถ้าหากลูกน้อยของคุณไม่ได้เป็นโรคที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและการดูดซึม เช่น โรคไวรัสลงกระเพาะ หากป้อนยาเข้าไปแล้วนาน 30 นาที คาดว่ายาน่าจะดูดซึมเข้าร่างกายไปแล้ว (คล้ายคลึงกับคำแนะนำเวลากินยาก่อนอาหาร ควรกินตอนท้องว่าง ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที) ดังนั้นหากอาเจียนหลังจากกินยาไปแล้วนาน 30 นาที จึงไม่ต้องป้อนใหม่ แต่กรณีต่อไปนี้…อาจต้องพิจารณาให้ยาอีกครั้ง

ลูกอาเจียนหลังกินยา ต้องป้อนยาซ้ำหรือไม่?

 

จะเห็นได้ว่า การตัดสินใจป้อนยาใหม่ เมื่อ ลูกอาเจียน หลังกินยา หรือไม่ >> เป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากใจพอสมควร เพราะหากให้ยามากเกินไปก็กลัวผลข้างเคียงของยา แต่หากได้ยาไม่ครบก็อาจทำให้ไม่หายจากโรค นอกจากนี้ ยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น กรณีของยาปฏิชีวนะที่อาเจียนออกไป ต้องไปซื้อยามาเพิ่มอีกขวดหนึ่งเพื่อกินให้ครบ …ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ป้อนยาลูกอย่างไรโดยไม่อาเจียน คือ ⇓

อย่างไรก็ดีการที่ ลูกอาเจียน หลังกินยา สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะยาที่กินมีรสชาติขมไม่ถูกปาก การทำให้ลูกน้อยกินยาดูจะเป็นปัญหาระดับชาติของหลายครอบครัว  บางคนเคยกินได้  จู่ๆก็ไม่ยอมกิน  บางคนบ้วนทิ้ง  บางคนกัดฟันปิดปากแน่น  บ้างก็ดิ้นวิ่งหนี ฯลฯ

บางครอบครัวจึงใช้วิธีการบีบจมูกเพื่อให้เด็กกลืนยา ซึ่งอาจจะทำให้ลูกกลืนยาได้ง่ายขึ้น แต่เป็นการกระทำที่อันตรายมากเพราะเสี่ยงต่อการที่เด็กจะสำลัก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรใช้วิธีการดังกล่าวและหันมาใช้วิธีที่ถูกต้องแทน คือ การใช้หลอดดูดยาค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มเด็ก แต่ถ้าหากเด็กปฏิเสธและต่อต้านมาก อาจต้องขอให้สมาชิกคนอื่นในบ้านช่วยกันจับมือและเท้าของเด็กไว้ไม่ให้ดิ้น แล้วจึงค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มก็จะสามารถป้อนยาได้สำเร็จ และหากระหว่างการป้อนยามียาหก (ซึ่งอาจจะทำให้เด็กได้ยาไม่ครบ) ก็ไม่ต้องให้ยาซ้ำ เนื่องจากเราไม่ทราบว่ายาที่หกไปมีปริมาณเท่าใดกันแน่

สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดถึง “อาการป่วย” ของลูกมากกว่าจะไปย้ำถึง “การต้องกินยา” อธิบายง่ายๆ ว่า ยาจะช่วยให้เราหายป่วยได้อย่างไร เช่น “กินยาแล้วจะทำให้เราแข็งแรง ลูกจะได้เล่นกับเพื่อนได้นานๆ ไงล่ะ” หากอาศัยความร่วมมือจากหมอช่วยอธิบายแบบง่ายๆ ด้วยก็จะยิ่งได้ผลมากขึ้น

และต้องเข้าใจ เห็นใจลูก รับฟังสิ่งที่ลูกรู้สึกกังวลหรือไม่ชอบเกี่ยวกับยา เมื่อคุณเข้าใจแล้วก็จะหาวิธีได้ง่ายขึ้น ด้วยการคุยอย่างนุ่มนวล แต่จริงจัง แล้วให้ทางเลือกกับลูก แทนที่จะบอกว่า “ถึงเวลากินยาแล้วนะ” ลองเปลี่ยนมาบอกเขาว่า “ลูกจะกินยากับน้ำส้มหรือน้ำเปล่าดีล่ะ” วิธีนี้ทำให้ลูกรู้ว่าการกินยาเป็นสิ่งที่เขาต้องทำ แต่เขาก็ยังมีอำนาจที่จะเลือกได้เอง ที่สำคัญอย่าลืมชื่นชมและให้รางวัล เช่น สติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนตัวโปรดของลูก เพื่อเป็นกำลังใจให้เขากินยาในครั้งต่อไป

อุปกรณ์ป้อนยาเด็ก

หากเด็กเล็กกว่า 1 ขวบหรือในเด็กที่กินยายาก การใช้หลอดดูดยา (syringe) แทนช้อนจะทำให้การป้อนยาทำได้สะดวกขึ้น โดยที่หลอดดูดยาจะมีตัวเลขบอกปริมาตรเป็นซีซีแสดงอยู่ ซึ่งหากว่าเด็กต้องกินยา 1 ช้อนชา ก็จะเท่ากับ 5 ซีซี และขอย้ำว่า “ช้อนชา” ในที่นี้ไม่ใช่ช้อนที่ใช้ในการชงชาตามบ้าน  แต่เป็นช้อนที่แถมมาพร้อมกับขวดยา สำหรับในเด็กโตอาจต้องใช้ “ช้อนโต๊ะ” ซึ่งก็ไม่ใช่ช้อนที่ใช้บนโต๊ะอาหารตามบ้านเช่นกัน แต่ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 3 ช้อนชา ดังนั้นหากบนฉลากเขียนไว้ว่า ป้อนยาครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ก็ควรใช้ช้อนโต๊ะที่แถมมาพร้อมกับขวดยาเท่านั้น หรือใช้ช้อนชาป้อน 3 ช้อนก็ได้

“แล้ววิธีการป้อนยาแก่เด็กที่กินยายาก” จะมีเทคนิคอย่างไร
ตามมาดูกันเลยค่ะ ⇓

เทคนิคป้อนยาลูก เมื่อลูกกินยายาก

การให้ยาแก่เด็กที่กินยายากมีหลายวิธี คุณแม่ลองดูนะคะ

1. ถามเรื่องยากับคุณหมอ

ว่า …ยาแต่ละชนิดผสมกับอาหารได้หรือไม่ หากอาหารไม่รบกวนการดูดซึมหรือเปลี่ยนคุณสมบัติของยา คุณแม่ก็ใช้วิธีเจือจางยาด้วยน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือนม

2. ลองขอยาเม็ดจากคุณหมอ

ใช้ที่ตัดยาแบ่งยาตามขนาดที่ต้องการ อย่าใช้มีดทั่วไป เพราะแบ่งได้ไม่แม่นยำและยาอาจแตกไม่ได้สัดส่วน เอามาตำให้ละเอียดแล้วคลุกกับกล้วยบดหรือโยเกิร์ต แล้วให้ลูกกิน จะให้ดี ลองฝึกให้ลูกกลืนอาหารเหล่านี้โดยไม่ต้องเคี้ยว จะได้ไม่สัมผัสโดนรสขมของยา

ลูกกินยายาก

3. ถ้าอายุ 3 – 4 ขวบ ลองฝึกให้กลืนยาเม็ด

อาจฝึกโดยใช้เม็ดฟลูออไรด์หรือวิตามินซี ให้ดื่มน้ำก่อนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ภายในปากแห้งเม็ดยาจะได้ไม่ติดในปาก วางเม็ดยาตรงกลางลิ้น แล้วให้ดูดน้ำจากหลอดในท่าก้มหน้าเล็กน้อย ให้กลืนน้ำ แรงน้ำจากหลอดจะพายาเข้าไปเอง

4. เตรียมแก้วน้ำหรือเครื่องดื่มที่ลูกชอบ

เพื่อเอาไว้ล้างยาที่ตกค้างในปาก ให้ลูกดูดไอศกรีมหวานเย็นก่อนกินยา ซึ่งอาจช่วยให้ลิ้นชา ทำให้ได้รับรสขมจากยาน้อยลง ยาบางอย่างแช่เย็นแล้วจะขมน้อยลง แต่บางอย่างจะขมมากขึ้น ให้ถามจากคุณหมอก่อน

Must readแก้วน้ำอันตราย เลือกใช้แก้วน้ำให้ปลอดภัย 6 ชนิค

5. ให้ยาด้วยท่าทีที่สงบ

ไม่ข่มขู่คุกคาม แต่ไม่ลังเลเพราะจะทำให้ลูกกลัวมากขึ้น ถ้าเป็นเด็กที่พูดรู้เรื่องแล้ว ให้อธิบายว่าทำไมต้องกินยา อาจให้เลือกว่าอยากกินจากช้อนหรือไซริงค์  อยากกินเองหรือไม่ และเมื่อลูกทำได้ก็อย่าลืมหอมแก้มหรือชมเชยให้กำลังใจ อาจให้สติ๊กเกอร์ดาวเป็นรางวัลก็ได้

6. สำหรับเด็กเล็กที่ยังคุยกันไม่รู้เรื่องและไม่ยอมกินเมื่อผสมในนม

ต้องใช้วิธีจับป้อนยาค่ะ ถามคุณหมอว่าให้ยาตอนท้องว่างได้หรือไม่ จะได้ไม่อาเจียนง่าย ให้คนช่วยจับแขนลูกในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน หรือใช้ผ้าเช็ดตัวพันตัวไม่ให้ดิ้น เตรียมยาและน้ำใส่ไซริงค์ คนป้อนล้างมือให้สะอาด แหย่นิ้วเข้าไปที่มุมปากเพื่อให้เด็กอ้าปาก หยอดยาเข้าปากตรงบริเวณโคนลิ้นทีละน้อย (ประมาณ 0.5 – 1 ซี.ซี.) แล้วเอานิ้วออกจากปากพร้อมไซริงค์ เด็กจะกลืนยาลงไปเอง จะได้ร้องไห้ต่อได้ พอยาลงคอไปแล้วก็ทำซ้ำๆ จนยาหมด

7. ถ้า ลูกอาเจียน หลังกินยา ออกมา

ให้ประเมินดูว่ายาออกมามากน้อยแค่ไหน  เพื่อเติมยาเข้าไปให้ครบ  ส่วนมากจะอาเจียนไม่เกิน 2 ครั้ง เพราะเด็กมักเรียนรู้ว่า ถึงอาเจียนออกมาก็ต้องได้เพิ่มเข้าไปอีกอยู่ดี

Must readอาเจียนหลังกินยา

8. เมื่อให้เสร็จแล้วก็บอกลูกด้วยโทนเสียงมีเมตตา (ไม่ประชดประชัน)

” ไม่เป็นไรนะคะ/ครับ  หนูเก่งมากลูก  กินยาเดี๋ยวก็หายนะคะ/ครับ ”   หลังป้อนยา  ลูกอาจร้องไห้มากก็ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ได้ทำให้สุขภาพจิตเสีย  เพราะพอป้อนเสร็จคุณแม่ก็กอดหรือหอมลูก  ปลอบแค่เดี๋ยวเดียวก็เงียบแล้วค่ะ

 

สำหรับการป้อนยาลูกน้อย อาจใช้วิธีผสมยาลงในน้ำหวาน หรืออาหารที่เด็กชอบ
โดยต้องระมัดระวัง ดังต่อไปนี้ ⇓

ยาน้ำ

ลูกกินยายากทําไงดี

ยาเม็ด หรือแคปซูล

หากยาไม่มีข้อห้ามในการบด สามารถบดเม็ดยา หรือเปิดแคปซูล แล้วผสมผงยาลงในน้ำหวานหรืออาหารได้เช่นเดียวกับกรณีของยาน้ำ หรือตักอาหารนุ่มๆ ที่เด็กชอบด้วยช้อน แล้วโรยผงยาลงบนผิวหน้า ก่อนนำไปป้อนให้เด็กทาน วิธีนี้จะช่วยให้ยาสัมผัสกับลิ้นได้น้อยลง การรับรสยาของเด็กก็จะลดลงไปด้วยค่ะ

นอกจากการปรับรสชาติยาแล้ว ท่าทีคนป้อนก็มีส่วนสำคัญและช่วยให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้นนะคะ การที่จะตั้งหน้าตั้งตาป้อนยาให้เสร็จอย่างรวดเร็วคงทำได้ยาก เพราะเด็กวัยนี้จะห่วงเล่น หากยอมให้ลูกเล่นไปด้วย ป้อนยาไปด้วย เด็กจะยอมรับยาได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญในการป้อนยาลูก คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อดทน ค่อยๆ ป้อน ข้อสำคัญคือ ต้องสร้างความรู้สึกที่ดี ชมเชยเมื่อเด็กร่วมมือได้บ้าง อาจอธิบายเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมต้องกินยา หากมีการขู่บังคับเด็กจะขัดขืนมาก ทำให้ป้อนยาไม่ได้ หรืออาจจะสำลักยาเข้าปอดหรืออาเจียนได้ค่ะ

วิธีป้อนยาลูกให้กินยาง่ายขึ้น

วิธีเก็บรักษายา

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ  เรื่องเกี่ยวการเก็บรักษายา   ควรเก็บในที่ที่พ้นมือเด็ก ห่างไกลแสงแดดและความชื้น  เพราะหากเด็กชอบรสชาติยาที่กิน อาจเกิดอันตรายจากการที่เด็กหยิบยาไปกินเองจนได้รับยาเกินขนาดได้ค่ะ และตรวจสอบอายุของยาทุกครั้งก่อนหยิบใช้ โดยควรเก็บยาที่หมดอายุก่อนไว้ด้านหน้าและหยิบใช้ก่อน ส่วนยาที่หมดอายุทีหลังจะเก็บไว้ด้านใน และควรตรวจสอบอายุยาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มียาหมดอายุค้างอยู่ในตู้ยา

ส่วนการที่หลายๆ บ้านมักเก็บยาที่เปิดใช้แล้วไว้ในตู้เย็นนั้น ต้องบอกว่าอาจจะเหมาะกับยาบางชนิดเท่านั้น เช่น ยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้ว ซึ่งจะใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยาบางชนิด เช่น ยาน้ำเชื่อมอาจจะไม่เหมาะที่จะเก็บในตู้เย็น เพราะจะเกิดการตกตะกอน และทำให้ยาเปลี่ยนสภาพได้ ดังนั้นขอให้ดูฉลาก รวมถึงมีข้อควรระวังในกรณีที่เก็บยาไว้ในตู้เย็น คือ ต้องไม่วางยารวมไว้กับขวดน้ำดื่ม เพราะเด็กอาจหยิบยาไปกินด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ได้ และหากมีปัญหาเรื่องยา ไม่เข้าใจวิธีใช้ โปรดปรึกษาเภสัชกร

ข้อห้ามในการป้อนยาลูก

ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าจากเทคนิคการป้อนยาเจ้าตัวเล็กและข้อควรระวังที่ Amarin Baby & Kids ได้แนะนำมาข้างต้น น่าจะช่วยลดปัญหาในการที่เจ้าตัวเล็กวิ่งหนี หรือแอบไปซ่อนตัวเมื่อถึงเวลาต้องทานยาได้อย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุก ๆ ท่านค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด และข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก : www.healthtoday.net , www.healthandtrend.com