ลูกไม่นอนกลางวัน ปัญหาโลกแตกของพ่อแม่ลูกเล็กที่อาจเป็นได้ตั้งแต่ลูกนอนกลางวันน้อย หรือไม่ยอมนอนกลางวันเลย ตื่นทั้งวัน เล่นทั้งวัน จนคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นกังวลไม่น้อยว่า ปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อลูกหรือไม่ มาดูกันค่ะ
Q: เคยอ่านเจอว่าเด็กวัย 3 เดือน-3 ขวบควรนอนวันละ 12-16 ชั่วโมง แต่ลูกสาวฝาแฝดวัย 1 ขวบ 2 เดือน นอนช่วงกลางคืน 9-10 ชั่วโมง นอนกลางวันอย่างมากแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถือว่าน้อยไปหรือเปล่าและจะช่วยให้เขานอนนานขึ้นได้อย่างไร
ลูกไม่นอนกลางวัน น่ากังวลขนาดไหน?
“ลูกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง” เป็นคำถามที่ตอบเป็นตัวเลขจำเพาะเจาะจงได้ยากค่ะ เพราะหนังสือแต่ละเล่มเขียนไว้ไม่เหมือนกัน และโดยธรรมชาติแล้วแต่ละคนก็ต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน
อย่าไปยึดติดกับตัวเลขเลยค่ะ เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป บางคนนอนกลางวันแค่วันละ 1-2 ครั้งๆ ละ 1/2-1 ชั่วโมง กลางคืนนอน 8 ชั่วโมง ก็ใช้ได้แล้ว ถ้าลูกนอนน้อยเพราะเป็นธรรมชาติของตัวเขาเอง ไม่ได้มีปัจจัยอื่นมารบกวนการนอนของลูก และเขาก็ดูเป็นเด็กที่มีความสุข อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด งอแง มีพัฒนาการสมวัย เจริญเติบโตตามปกติและสุขภาพแข็งแรง ก็แสดงว่าเขาต้องการนอนแค่นั้นจริงๆ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเรายังต้องนอนกลางวันอยู่หรือเปล่า มีพฤติกรรมของลูกให้ลองสังเกตกันดูดังนี้ค่ะ
ขั้นหงุดหงิด
- ลูกบ่นไม่ยอมนอน แต่พอเอนหลังปุ๊บก็หลับปั๊บ และหลับยาวเป็นชั่วโมงๆ
- ลูกเพ่งสมาธิกับกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลง แม้แต่เรื่องที่ถนัด หรือทำเป็นแล้วอย่างการใส่กางเกงก็ทำไม่ได้
- ลูกตื่นนอนตอนเช้าแบบหงุดหงิดฉุนเฉียว และมีอาการงัวเงียตลอดวัน
- ลูกงอแงผิดปกติในช่วงหัวค่ำก่อนถึงเวลาเข้านอนตามปกติ
อ่านต่อ “สัญญาณที่แสดงว่าลูกควรนอนกลางวัน” คลิกหน้า 2
ขั้นงัวเงีย
- ลูกหาว ขยี้ตา เบลอ หรือดูเลื่อนลอย
- ลูกโกรธ อาละวาด หรือร้องไห้ง่ายกว่าปกติ
- ลูกทรงตัวยาก เดินหกล้มบ่อยๆ
ขั้นหงุดหงิดและงัวเงีย แปลว่าร่างกายของลูกต้องการพักผ่อน แต่ยังห่วงเล่นอยู่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดสภาวะแวดล้อมให้ลูกพร้อมจะเข้านอน เช่น ปิดม่าน เปิดเพลงเบาๆ หรือกันผู้ใหญ่คนอื่นและพวกพี่โตออกไป
ขั้นโงกหงุบ
ลูกบ่นง่วงนอนหรือยอมนอนหลับโดยไม่อิดออด ถ้าลูกทำกิริยานี้ แปลว่าลูกต้องไปงีบได้แล้วละ
เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อย คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกนอน แต่ควรดีใจที่ลูกมีเวลาเล่นหรือเสริมสร้างพัฒนาการมากกว่าเด็กคนอื่น (ฮือๆ แต่แม่อยากนอนนี่นา แม่แบตหมดไปตั้งนานแล้ว ลูกยังไม่หมดอีกหรือจ๊ะ)
อ่านต่อ “สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนไม่พอ หรือไม่ยอมนอนกลางวัน” คลิกหน้า 3
เช็ก! ลูกอาจนอนไม่พอ เพราะเหตุเหล่านี้
1. บรรยากาศในการนอนไม่เหมาะสม
เช่น บ้านอยู่ริมถนน ทำให้มีแสงสว่างจากดวงไฟเล็ดลอดเข้ามาในห้อง แก้ไขได้โดยการติดผ้าม่านทึบแสง หรือทำให้มีเสียงดัง แก้ไขได้โดยการปิดหน้าต่าง ติดตั้งที่บุกันเสียง หรือใช้เสียงอื่นกลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เสียงดนตรี เสียงพัดลม แต่ถ้ามีเด็กคนอื่นมาเล่นส่งเสียงดังอยู่ใกล้ๆหรือเปิดทีวีเสียงดัง ก็แก้ไขได้โดยให้เด็กไปเล่นที่อื่นหรือปิดทีวี
2. การเจ็บป่วย
บางครั้งลูกอาจไม่สบาย เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้มีอาการคัดจมูก หายใจลำบากหรือไอตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่ได้และต้องตื่นบ่อยๆ บางครั้งลูกอาจมีอาการปวดฟันเพราะฟันจะขึ้น การแก้ไขคือการแก้ที่สาเหตุ
3. ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก
พบในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาอยู่กับลูกเฉพาะช่วงเย็นหรือค่ำ เด็กจะรู้สึกว่าอยากอยู่กับพ่อแม่ให้นานขึ้น จึงไม่ยอมนอน วิธีแก้คือ ใช้เวลากับลูกแบบมีคุณค่า แทนที่จะหมดเวลาไปกับการเตรียมทำกับข้าว ก็อาจใช้วิธีผูกปิ่นโต ซักผ้าวันเสาร์-อาทิตย์หรือจ้างซักรีด เมื่อลูกรู้สึกถึงความใกล้ชิดอบอุ่นและได้เวลาจากพ่อแม่เพียงพอแล้ว เขาจะมีชีวิตที่เป็นปกติขึ้น
อ่านต่อ “สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนไม่พอ หรือไม่ยอมนอนกลางวัน” คลิกหน้า 4
4. จินตนาการอันบรรเจิด
เด็กบางคนเริ่มกลัวเป็น เช่น กลัวความมืด กลัวผี กลัวการอยู่คนเดียว เลยไม่ยอมนอน แก้ไขได้โดยการเปิดไฟสลัวไว้เป็นเพื่อน หาสร้อยพระให้ใส่เพื่อความอุ่นใจ และสอนให้สวดมนต์ เป็นต้น
5. ตอนกลางวันเล่นมากไป
บางครั้งเราคิดว่า ถ้าให้เด็กเล่นจนเหนื่อยเต็มที่ เมื่อถึงเวลานอน ก็น่าจะนอนได้ง่าย แต่เด็กบางคนกลับตรงกันข้ามค่ะ คือถ้าเหนื่อยเกินไปก็จะกลายเป็นนอนยากขึ้นและคุณภาพการนอนไม่ดี คือจะฝันร้ายจนทำให้ตื่นกลางดึก
ดังนั้น ควรเล่นแค่พอดีๆ และกิจกรรมช่วงก่อนนอนก็ควรเป็นแบบเงียบๆ ไม่โลดโผน หลังอาบน้ำแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นชุดนอน หรือทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ลูกจะได้เกิดความเคยชิน เช่น อ่านนิทานด้วยโทนเสียงนุ่มนวลชวนหลับ ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ นอนกอดกัน และร้องเพลงกล่อมเด็ก ลูกจะหลับได้ง่ายและฝันดีค่ะ
บทความโดย: พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด และกองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock