โภชนาการที่ดี เป็นรากฐานที่สำคัญต่อสุขภาพที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะช่วงที่มีการเจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนมีความกังวลว่าลูกจะตัวเล็ก ตัวผอมบางเกินไป ซึ่งเมื่อ ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนใหญ่มักเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่เราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดจากอะไร?
1. ความผิดปกติแต่กำเนิด
เช่น ติดเชื้อบางชนิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ได้แก่ หัดเยอรมัน เป็นต้น เป็นโรคที่มีโครโมโซมหรือยีนที่ควบคุมด้านการเจริญเติบโตผิดปกติ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ดูดนมไม่ดี กลืนอาหารลำบาก
2. ขาดฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต
อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง เช่น เนื้องอกที่สมอง ทำให้ขาดโกรทฮอร์โมน ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ลูกต้องมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่า 2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟแสดงการเจริญเติบโต หรือมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและส่วนสูงไปจากเส้นกราฟเดิมอย่างชัดเจน ลูกอาจมีอาการผิดปกติด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ตามัว พัฒนาการถดถอยหรือช้ากว่าปกติ
3. โรคเกลียดการกิน หรืออนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa)
พบได้น้อยมาก มักเป็นในเด็กโต หรือวัยรุ่นผู้หญิง
4. เด็กกำพร้าตามสถานสงเคราะห์
เนื่องจากป่วยบ่อยเพราะอยู่กันแออัด ขาดความรักความอบอุ่น ไม่มีความสุขเท่าที่ควร ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
5. เด็กยากจน
เด็กเร่ร่อนในค่ายอพยพ ประเทศยากจน เช่น เอธิโอเปีย พ่อแม่ไม่มีเงินซื้ออาหารให้รับประทาน
อ่าน “ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เพราะนมแม่ไม่พอหรือพันธุกรรม?” คลิกหน้า 2
ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะนมแม่ไม่พอ?
หากลูกเป็นเด็กผอมบาง และกำลังกินนมแม่อยู่ มักถูกโทษว่าน้ำนมแม่ไม่พอ บังคับให้แม่เปลี่ยนเป็นนมผง เมื่อคุณแม่ได้ฟังคำวิจารณ์บ่อยๆ ก็เริ่มคล้อยตาม ทำให้หยุดให้นมแม่เร็วเกินไป ผลที่ตามมาคือลูกเริ่มป่วยบ่อย น้ำหนักตัวก็ยิ่งแย่ลง ตามธรรมดาแล้วสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้มีความหลากหลายทั้งสิ้น ทั้งเรื่องของน้ำหนักตัว ความสูง หรือระดับสติปัญญา ดังนั้นไม่ว่าลูกจะกินนมวัว นมถั่ว นมแพะ หรือนมแม่ มีโอกาสที่จะมีน้ำหนักมาก น้ำหนักน้อย หรืออยู่ที่ค่าเฉลี่ยได้ทั้งนั้น
ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะพันธุกรรม?
พ่อแม่แต่ละครอบครัวมีต้นทุนด้านพันธุกรรมเรื่องการเติบโตที่แตกต่างกัน ลูกมักจะมีรูปแบบการเติบโตเหมือนพ่อแม่และมักดีกว่า เพราะความรู้ทางด้านโภชนาการยุคใหม่ดีกว่ายุคเก่า เพียงแต่ว่าพ่อแม่ต้องระวังเรื่องการเลี้ยงดู อย่าทำให้ลูกเข้าใจผิดๆ ว่ายิ่งกินเยอะยิ่งดี จนกลายเป็นโรคอ้วน
ผลการศึกษาวิจัยกล่าวว่า หากอ้วนหรือท้วมตั้งแต่เด็กจะเสี่ยงกับโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น และเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคมะเร็งบางชนิด หากวัยรุ่นอ้วนจะทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป กระดูกหยุดโตเร็ว จึงตัวเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น ค่านิยมเรื่องน้ำหนักตัวของเด็กดูเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงยาก และโรคอ้วนจัดเป็นโรคระบาดในสังคม เนื่องจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เห็นลูกของคนข้างบ้านอ้วน ก็รู้สึกเสียหน้าว่าลูกเราตัวเล็กกว่าทั้งๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน มีความรู้สึกอยากแข่งขัน จึงพยายามขุนให้ลูกอ้วนแบบเดียวกัน และสังคมยังขาดการรณรงค์ให้ทราบถึงอันตรายของโรคอ้วนในเด็ก ยิ่งเลี้ยงให้ลูกอ้วนจ้ำม่ำยิ่งดูน่ารัก หากใครเลี้ยงลูกแล้วดูผอมเก้งก้าง มักถูกพูดให้ช้ำใจว่าเลี้ยงลูกอย่างไรตัวผอมนิดเดียว น้ำหนักขึ้นน้อยจัง ทั้งๆ ที่ขึ้นตามเกณฑ์อยู่แล้ว
เครดิต: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
เกณฑ์มาตรฐานเด็กอายุ 0-5 ขวบ
เครดิตภาพ: ศุภนิดา อินยะบุตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ่าน “ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ แก้ปัญหายังไงดี?” คลิกหน้า 3
ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ แก้ปัญหายังไงดี?
ข้อมูลการประเมินการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย จากกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า
ทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 3,000 กรัม และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก โดยมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่าเมื่ออายุ 5 เดือน และ 3 เท่าเมื่ออายุ 1 ปี จากนั้นน้ำหนักจะเพิ่มเพียงปีละ 2-3 กิโลกรัม
สำหรับความยาวของเด็กแรกเกิด โดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร และเมื่ออายุ 1 ปี จะเพิ่มเป็น 1.5 เท่า หรือประมาณ 75 เซนติเมตร เมื่ออายุ 4 ปี จะเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือประมาณ 100 เซนติเมตร
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ พัฒนาการ และสติปัญญา เด็กที่รับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ และในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้การเจริญเติบโต และพัฒนาการเหมาะสมตามวัย
เคล็ดลับปรับน้ำหนักให้ตามเกณฑ์ (สำหรับเด็ก 1-5 ขวบ)
1.รับประทานอาหารให้ครบทุกกลุ่ม ได้แก่ ข้าวหรือแป้ง ผัก ผลไม้ เนี้อสัตว์ และนม
2.มีอาหารว่างระหว่างมื้อ เช่น นมจืด ผลไม้ โดยให้อาหารว่างก่อนเวลาอาหารหลักประมาณ 2 ชั่วโมง
3.รับประทานยาน้ำ หรือยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
4.ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหารทุกครั้ง
5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
6.ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่งเล่น กระโดดเชือก ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เต้นกิจกรรมเข้าจังหวะ เป็นต้น
นอกจากนี้คุณพ่อ คุณแม่ควรติดตามเกณฑ์การเจริญเติบโตของลูกทุกๆ 3 เดือน และจดบันทึกการรับประทานอาหาร เพื่อไม่ให้ ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออ้วนจนเกินไป หากพบว่าปฏิบัติตามเคล็ดลับนี้แล้วยังไม่เป็นผล แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้านเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของลูกน้อย
อ่านเนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์กับวิธีการตรวจขนาดของลูกว่าตัวเล็กหรือใหญ่!
ของว่างทำง่าย “มินิพิซซ่า” อาหารเพิ่มน้ำหนักลูก!
เผยสูตร! ชีสสติ๊ก อาหารว่างสุดอร่อย ช่วยเพิ่มน้ำหนักลูกรัก (มีคลิป)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่