AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกฟันผุ เสี่ยงโรคหัวใจ ป้องกันด้วยการแปรงฟัน

คุณพ่อ คุณแม่อาจจะสงสัย ว่า ลูกน้อยฟันผุ จะเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้อย่างไร ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคหัวใจกันก่อน โรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น โรคหัวใจแต่กำเนิด กับโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจมีความรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี หรือไม่มีอาการ

น.พ.อิทธิชัย  วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า เมื่อฟันผุจนถึงขั้นเหงือกอักเสบ เชื้อที่อาศัยอยู่บริเวณเหงือกที่อักเสบอาจสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก ทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือตันด้วย เนื่องจากลิ่มเลือดอาจลอยไปตามกระแสเลือดไปอุดบริเวณใดก็ได้ ถ้าไปอุดตันที่เส้นเลือดหลักที่ไปเลี้ยงสมองก็อาจก่อให้เกิดเป็นอัมพาต

เชื้อดังกล่าวอาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนลิ้นหัวใจอักเสบ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจหรือไม่ การดูแลสุขภาพปากและฟัน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพราะปากเป็นช่องทางผ่านของอาหาร เป็นที่ซ่อนตัวของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพราะเกิดจากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี การถอนฟัน หรือการตัดต่อมทอนซิล เป็นต้น เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปถึงหัวใจ คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะเข้าไปผสม และทำให้เกิดก้อนติดเชื้อที่หัวใจ

ก้อนติดเชื้อจะแพร่โรคกระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ไต ม้าม สมอง และอาจทำให้ผนังหัวใจส่วนที่บางทะลุได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

อ่านต่อ “การดูแลสุขภาพปากให้ลูกน้อย” คลิกหน้า 2

การดูแลสุขภาพปากให้ลูกน้อย

ในเด็กเล็กที่ฟันยังไม่ขึ้น สามารถใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดเหงือก เยื่อบุปาก และลิ้น ทุกเช้าและก่อนนอน เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อขาวๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

ถ้าลูกน้อยฟันขึ้นแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ควรทำความสะอาดช่องปาก และฟันด้วยแปรงสีฟัน เลือกขนาดที่พอเหมาะ มีลักษณะอ่อนนุ่ม เลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็ก เพราะในเด็กเล็กอาจกลืนยาสีฟันเข้าไป จึงไม่ควรใช้ยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ เพราะถ้าลูกน้อยกลืนยาสีฟันเข้าไปจำนวนมาก อาจเกิดภาวะพิษจากฟลูออไรด์ได้

ถ้าลูกน้อยดูดนมจากขวด ควรฝึกลูกน้อยหย่านมขวดให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการติดขวดนม และไม่ควรให้ลูกน้อยดูดขวดนมก่อนนอน ซึ่งเป็นสาเหตุในการแพร่กระจายของเชื้อโรค อาจให้ลูกน้อยดูดน้ำแทนการดูดนมก่อนนอน

การแปรงฟันที่ถูกวิธีจะทำให้ลูกน้อยทำความสะอาดฟันได้ทั่วปาก แปรงครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป จะช่วยป้องกันฟันผุและเหงือกอักเสบได้ ควรตรวจสุขภาพฟันปีละ 2 ครั้ง และควรรีบไปพบทันตแพทย์ทุกครั้งเมื่อพบว่าฟันผุ ถ้าลูกฟันผุ หรือมีรากฟันอักเสบ การแปรงฟันควรเบามือ ใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่มเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเลือดออก และทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย

ถ้าลูกน้อยที่เป็นโรคหัวใจไปรักษาฟัน หรือทำฟัน คุณพ่อ คุณแม่ควรแจ้งคุณหมอก่อนทุกครั้งว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจ เพื่อที่คุณหมอจะได้ให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคก่อนทำการรักษา

อ่านต่อ “การดูแลสุขภาพปากให้ลูกน้อย (เพิ่มเติม)” คลิกหน้า 3

นพ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท แนะนำเพิ่มเติมในการดูแลสุขภาพฟันเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

1.ควรเลือกแปรงที่หัวกลมมน และนิ่ม

2.ควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน 3 เดือน/1 ครั้ง เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย และหัวแปรงสึกตามการใช้งาน

3.ควรเลือกยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันผิวเคลือบฟัน

4.ควรใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง เนื่องจากไหมขัดฟันช่วยขจัดทั้งคราบอาหาร และคราบแบคทีเรียระหว่างฟัน

5.หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมขบเคี้ยว ขนมเหนียวๆ โดยเฉพาะที่มีน้ำตาล และพยายามลดน้ำตาลแต่ละวัน

6.รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น บร็อคเคอรี่ ปลาซาร์ดีน นม งาดำ กะปิ เป็นต้น

7.ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ช่วยลดความเป็นกรดในช่องปากได้ดี

8.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล

9.หลังการดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ควรบ้วนปากหลายๆ ครั้งทันที

10.ไม่ควรแปรงฟันภายใน 1 ชั่วโมงหลังอาหาร นม หรือเครื่องดื่มรสเปรี้ยว เช่น น้ำอัดลม ของดอง อาหารรสเปรี้ยว เป็นต้น เนื่องจากกรดทำให้สารเคลือบฟันอ่อนตัว ทำให้สารเคลือบฟันบางลง

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา สุขภาพปากและฟันเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับคนป่วยโรคหัวใจ เมื่อสุขภาพฟันดี สุขภาพหัวใจก็ดีไปด้วย

เครดิต: มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ, คมชัดลึก, ผู้จัดการออนไลน์, อาจารย์แพทย์หญิงขนิษฐา ลายลักษณ์ดำรง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร