วิธีดูแลลูกเมื่อไปสระว่ายน้ำ การเล่นน้ำเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเราซึ่งอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี การพาลูกไปเล่นน้ำที่สระ จึงต้องให้ความใส่ใจและระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยให้มากเป็นพิเศษ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีดูแลลูกเมื่อต้องพาไปสระว่ายน้ำ มาฝากทุกครอบครัวค่ะ
วิธีดูแลลูกเมื่อไปสระว่ายน้ำ อย่างไรให้ปลอดภัย?
ช่วงนี้อากาศร้อนมาก ลูกสาววัย 3 ขวบเลยร่ำร้องจะไปเล่นน้ำที่สระว่ายน้ำเกือบทุกวัน อยากขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลทั่วๆไป โดยเฉพาะเรื่องผม ผิว และอาการคล้ายๆ กับภูมิแพ้ที่มักเป็นหลังเล่นน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นช่วงหน้าร้อน หรือช่วงฤดูอื่นตลอดทั้งปี กิจกรรมที่เด็กๆ ชอบกันมากอย่างหนึ่ง ก็คือ การว่ายน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณแม่ได้กังวลใจกันอยู่บ้าง ดังนั้นเพื่อให้ได้คลายกังวลจากข้อสงสัยต่างๆ ในการดูแลลูกเมื่อไปสระว่าย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้กันค่ะ
ความปลอดภัย ผู้ใหญ่ควรอยู่ดูแลตลอดเวลาเพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ลูกจมน้ำหรือสำลักน้ำ ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีความรู้เรื่องการช่วยชีวิตก็ยิ่งดี แม้ลูกจะว่ายน้ำเป็น อยู่ในห่วงยางหรืออยู่ในบริเวณน้ำตื้น ก็ไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันความปลอดภัยได้นะคะ นอกจากนี้ ลูกอาจได้รับบาดเจ็บจากการเล่นสไลเดอร์ การกระโดดน้ำด้วยความประมาท หรือลื่นล้มจากการวิ่งเล่นริมขอบสระด้วย
ที่สำคัญพ่อแม่ควรต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ด้วย นั่นคือ
1. ความสะอาดของสระ
เพราะลูกอาจกลืนน้ำเข้าไปโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ถ้าสระไม่ได้มาตรฐานเรื่องความสะอาด เมื่อมีผู้แพร่เชื้อลงไปในสระ เชื้อโรคที่ออกมาทางน้ำมูกหรือน้ำลายก็ไม่อาจถูกทำลายโดยคลอรีนที่มีน้อยเกินไป ผู้รับเชื้อจึงอาจเป็นโรคติดต่อได้ เช่น หวัด ตาแดง อาเจียน หรือท้องร่วง ในทางตรงข้าม ถ้าใส่คลอรีนมากเกินไป ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องตาอักเสบหรือผิวหนังอักเสบจากสารเคมี
2. ระยะเวลา
ในกรณีที่อุณหภูมิของน้ำในสระค่อนข้างเย็น เด็กเล็กไม่ควรเล่นนานเกินครึ่งชั่วโมง และ เด็กโตไม่ควรนานเกิน 1 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น เพราะอุณหภูมิร่างกายอาจลดต่ำเกินไป จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายได้ง่าย
3. การดูแลเส้นผมและผิวหนัง
สารคลอรีนและแสงแดดมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นผมและผิวหนังถูกทำลาย และผิวหนังของเด็กก็บอบบางและอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่มาก จึงควรให้การดูแลเป็นพิเศษ เช่น เลือกชุดว่ายน้ำที่ปกปิดผิวหนังและมีสารเคลือบป้องกันรังสี UVA และ UVB ทาครีมกันแดดแบบกันน้ำ (waterproof) ก่อนลงน้ำ และไม่ว่ายน้ำกลางแดดจ้า
หากมีปัญหาผิวหนังเป็นผื่นแดงจากการแพ้สารคลอรีน ก็ใช้วาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลทาเคลือบผิวก่อนลงน้ำและอย่าเล่นน้ำนาน เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ควรรีบล้างตัวเอาคลอรีนออกและอาบน้ำ เช็ดตัว เป่าผมให้แห้ง เพราะถ้าใส่ชุดที่เปียกแฉะตลอดเวลา ก็อาจทำให้เป็นเชื้อราหรือเกิดผื่นแพ้
หากมีปัญหาผิวแห้ง ควรทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำ เพราะการเล่นน้ำหรืออาบน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติจนทำให้ผิวแห้งมากยิ่งขึ้น
ส่วนการดูแลเส้นผม ถ้าผมยาว ควรมัดผมให้เรียบร้อยแล้วใส่หมวกด้วย จะช่วยป้องกันไม่ให้ผมเสียจากแสงแดด และหมวกจะช่วยป้องกันไม่ให้ผมยุ่งหรือพันกันมากตอนอยู่ในน้ำ เวลาสระผม ควรใช้แชมพูของเด็กและใช้ครีมนวดผมด้วยเพื่อให้ผมลื่นไม่พันกัน เวลาสางผม ให้ใช้หวีซี่ใหญ่ เพื่อไม่ให้หนังศีรษะถูกดึงมาก และควรเป่าผมด้วยลมเย็น ไม่ใช่ลมร้อน
อ่านต่อ >> “วิธีดูแลลูกหลังการว่ายน้ำ” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีดูแลลูกเมื่อพาไปสระว่ายน้ำ หลังเล่นน้ำเสร็จแล้ว ควรดูแลอย่างไร?
ในเด็กบางคนหลังว่ายน้ำเสร็จอาจมีอาการคล้ายภูมิแพ้เกิดขึ้น ซึ่งอาการคล้ายภูมิแพ้ที่มักเป็นหลังเล่นน้ำ หมอคิดว่าลูกคงมีอาการคัดจมูกและมีน้ำมูกใสเล็กน้อยอยู่สักพักแล้วก็ดีขึ้น อาการแบบนี้อาจเป็นเพราะแพ้สารคลอรีนในสระ หรือเป็นเพราะความเย็นของน้ำทำให้เยื่อบุโพรงจมูกมีอาการบวมคล้ายกับเวลาอยู่ในที่อากาศเย็น
Must Read >> ล้างจมูกลูกอย่างไรให้ปลอดภัย ถูกต้องแต่ละช่วงวัย
วิธีแก้ไขคือ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นเล็กน้อย เพื่อล้างสารคลอรีนออกและปรับอุณหภูมิของโพรงจมูกให้อุ่นขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการบวมลดลง แต่ถ้าลูกของคุณแม่มีอาการคล้ายเป็นหวัดตลอดเวลาและเป็นชัดเจนขึ้นหลังจากว่ายน้ำ คือมีอาการน้ำมูกเขียวและไอมีเสมหะ หมอคิดว่าเขาน่าจะเป็นโรคไซนัสอักเสบและอาการกำเริบเพราะว่ายน้ำ ซึ่งคุณแม่จะดูแลรักษาเองไม่ได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์และต้องงดว่ายน้ำจนกว่าจะหายค่ะ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด นิตยสาร Amarin Baby & Kids
อ่านต่อ >> “การเล่นน้ำในสระที่เหมาะสมกับเด็ก” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การเล่นน้ำในสระที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ
อย่างที่บอกไปว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะมองข้าม หรือประมาทไม่ได้เป็นอัดขาด เพราะเพียงแค่เสี้ยววินาทีก็ส่งผลอันตรายถึงชีวิตของลูกได้ ดังนั้นเพื่อให้การว่ายน้ำของลูกได้ทั้งความสนุกสนาน และได้ในเรื่องของพัฒนาการ รวมทั้งสุขภาพที่ดี
ปัจจุบันการพาลูกไปว่ายน้ำสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ซึ่งหากตามความเป็นจริงที่เด็กจะพร้อมสำหรับการเรียนรู้การว่ายน้ำ หรือเข้าใจในการลงสระน้ำ น่าจะอยู่ที่ช่วงอายุ 4 ขวบขึ้นไป แต่ก็แนะนำว่าควรมีคุณครูสอนว่ายน้ำ หรือผ้เชี่ยวชาญดูแลลูกอยู่ด้วยทุกครั้ง หากคุณพ่อคุณแม่ว่ายน้ำไม่แข็งแรง ไม่ควรพาลูกเล็กๆ เล่นน้ำกันตามลำพัง
ประโยชน์จากการพาลูกไปว่ายน้ำ
การพาลูกไปสระว่ายน้ำ อาจยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าช่วงวัยไหนที่เหมาะจะให้ลูกลงสระน้ำ ซึ่งหากจะดูกันตามความเหมาะสมคือช่วงอายุประมาณ 4 ขวบขึ้นไป นั่นเพราะลูกเริ่มที่จะสามารถเข้าใจในรายละเอียดของเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น และเข้าใจว่าทำอะไรจะปลอดภัย หรือไม่ปลอดภัยกับตัวเอง
แต่ถึงอย่างไรก็ยังแนะนำว่าควรต้องมีครูสอนว่ายน้ำ หรือผู้เชี่ยวชาญดูแลเด็กในการว่ายน้ำโดยเฉพาะด้วย ถึงจะมั่นใจได้ว่าลูกจะปลอดภัยเมื่อต้องลงสระว่ายน้ำ
การว่ายน้ำถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ให้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน กับลูกและครอบครัว นั่นคือ
- เป็นการช่วยปูพื้นฐานการเอาตัวรอดจากการจมน้ำให้กับลูกในอนาคตได้อย่างดี
- เป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้กับลูก
- เป็นการช่วยเพื่อภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายลูกให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
- เป็นการช่วยฝึกลูกให้มีสมาธิ และมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดี
ทุกกิจกรรมเสริมที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการทุกด้านเป็นอย่างสมบูรณ์ เป็นเรื่องดีที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกได้ทำ อย่างการว่ายน้ำก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดีกับลูกในการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ดังนั้นก่อนการพาลูกไปว่ายน้ำ ควรศึกษาหาข้อมูล และดูความพร้อมของลูกเป็นหลักกันด้วย เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ นั่นเองค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
กิจกรรมการเล่นสร้างความสัมพันธ์กับลูกตอนอยู่ในรถ
มาทำ กิจกรรมร่วมกับครอบครัว กันเถอะ
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่ออนาคตที่ดีของลูกน้อย