ลูกฟันผุ …รู้หรือไม่ว่า แม้ลูกจะแปรงฟันตลอดเช้าเย็นไม่เคยขาด แต่อาการฟันผุก็อาจมาเยือนได้อย่างไม่รู้ตัว จากการส่งต่อแบคทีเรียทำให้ฟันผุ ได้โดยผ่านอาหาร เช่น น้ำจิ้ม หรือ ใช้ช้อนเดียวกัน ไปจนถึงการเป่าอาหารส่งต่อให้แก่กัน เพราะน้ำลายของคนที่มีเชื้อฟันผุจะส่งต่อให้กับอีกคนหนึ่งได้
ลูกฟันผุ ไม่ใช่โรคติดต่อ จะติดกันได้อย่างไร? …แต่รู้หรือไม่ว่าการเป่าอาหาร กัดอาหาร หรือแม้แต่จูบเด็กๆ ก็อาจจะทำให้เด็กๆ มีโอกาสฟันผุได้ เพราะได้รับแบคทีเรียจากผู้ใหญ่ที่ฟันผุ
Good to know : แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุมีชื่อว่า Streptococcus mutans ขึ้นชื่อว่าแบคทีเรียมันก็ชอบกินเศษอาหารที่ติดฟัน ไปจนถึงกินแร่ธาตุที่เคลือบฟันหรือเนื้อฟันจนทำให้เกิดเป็นรูโบว๋ ในบางครั้งถูกเรียกว่า “แมงกินฟัน” ทำให้รูปฟันไม่สวยและมีกลิ่นเหม็นทำให้เสียความมั่นใจได้
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเข้าใจถึงผลที่ได้รับจากการเป่าอาหารนี้ แต่ว่าอาจจะมีปัญหากับญาติพี่น้อง ปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงที่เลี้ยงลูกอยู่ไม่น้อย เป็นเพราะทุกคนอาจยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับผลเสียนี้ จึงจำเป็นที่ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเพราะอะไร ทำไมไม่ควรจะเป่าอาหาร หรือป้อน ชิมอาหารด้วยช้อนเดียวกับเด็กๆ
Must read : ป้อนอาหาร ด้วยการเคี้ยวให้ มีสิทธิ์ติดโรคเอดส์!!
Must read : 10 เคล็ดลับ ป้อนอาหารลูกเล็กอย่างปลอดภัย
จากเรื่องนี้ Amarin Baby & Kids จึงมีเรื่องราวจากคุณหมอกมลชนก ซึ่งเป็นทันตแพทย์ได้เคยเขียนไว้ใน blog มาแบ่งปันให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันค่ะ ว่าทำไมจึง ไม่ควรเป่าอาหาร ชิมอาหารช้อนเดียวกับลูก?
โดยคุณหมอ บอกว่า : สมัยหมอเรียนอยู่นั้น มีงานวิจัยพบว่า เชื้อแบคทีเรียในช่องปากลูกที่ทำให้เกิดฟันผุได้นั้น มีสายพันธุ์เดียวกันกับแม่ ประมาณว่าลูกใครแม่ใครจับคู่กันไปเป็นคู่ๆ ได้จากเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งติดต่อถ่ายทอดทางความใกล้ชิดในการเลี้ยงดู เช่น
การเป่าอาหารให้ลูก การใช้ช้อนเดียวกับลูกชิมหรือทานอาหาร การกัดอาหารให้ชิ้นเล็กลงให้ลูกทาน รวมทั้งการจูบปากลูก ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ควรมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมากเกินไปอีกด้วย ซึ่งคุณหมอคิดในใจว่าหากมีลูก หมอไม่มีทางเป่าอาหารให้ลูกแน่ โดยเราสามารถใช้พัดลมเป่า แล้วทดสอบว่าอุ่นหรือร้อนอยู่โดยเอาอาหารมาแตะหลังมือ ได้ก่อนป้อนอาหารให้ลูก
แต่พอมีลูกจริงๆ เมื่อลูกเริ่มอาหารเสริม ก็เข้มงวดกับทุกคนโดยเฉพาะพี่เลี้ยงลูกว่าห้ามเป่าอาหารให้น้อง หรือห้ามใช้ช้อนน้องชิมอาหาร แต่แล้วบางเวลา ตัวหมอเองกลับทำผิดกฎเอง ทั้งกัดขนมให้ชิ้นเล็กลงให้ลูก หรือกัดน้ำแข็งให้เล็กลงแม้จะเอาน้ำแข็งที่กัดแล้วนั้นไปแกว่งๆล้างน้ำอีกครั้งก่อนให้ลูกทานก็ตาม
ดังนั้น การควบคุมให้แบคทีเรียในช่องปากของคุณแม่และทุกคนที่เลี้ยงลูกไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปก็จะเป็นการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อโรคฟันผุไปให้ลูกได้ เราควบคุมปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้โดยการแปรงฟันให้สะอาดทุกวัน และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและทำความสะอาดฟันอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรือหากมีฟันผุควรอุดหรือรักษาให้เรียบร้อย
อ่านต่อ >> “การดูแลฟันและช่องปากให้กับลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกฟันผุ ได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
ฟันลูกแข็งแรงเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์ :: การจะให้ฟันลูกแข็งแรง ไม่ได้เริ่มเมื่อลูกมีฟันขึ้นในช่องปาก แต่เริ่มตั้งแต่ลูกเป็นทารกในครรภ์ เพราะหน่อฟันน้ำนมเริ่มสร้างตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ มีการศึกษาแสดงว่า ทารกในครรภ์ที่ได้รับอาหาร แร่ธาตุ จากคุณแม่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ, ซี,และดี รวมทั้งคุณแม่ที่ได้รับสารเคมีบางชนิด หรือคุณแม่ป่วยมากขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้มีการรบกวนการสร้างฟัน จนทำให้เกิดความผิดปกติของฟันได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองมากขึ้น รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนและเพียงพอแก่ความต้องการ เพื่อที่จะไปสร้างฟันที่สมบูรณ์
คำแนะนำจากทันตแพทย์ได้กล่าวว่า “ฟันผุมีโอกาสเกิดขึ้นกับฟันได้ตั้งแต่ซี่แรก” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เคี้ยวข้าวส่งต่อให้กับลูก ทำให้เด็กได้รับเชื้อแบคทีเรียฟันผุเข้าไป ประกอบกับการดูแลฟันอย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้เด็กติดโรคฟันผุได้
ฟันผุเป็นอาการยอดฮิตที่คนไข้เดินเข้าไปหาหมอฟัน และเด็กๆ ควรจะไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น และควรไปพบทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อดูแลฟันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็กว่าการพบหมอฟันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และเพื่อรักษาอาการที่อาจบ่งชี้ว่าจะรุนแรงในอนาคตได้
พ่อแม่ก็อย่าลืมดูแลฟันและช่องปาก เพื่อป้องกัน ลูกฟันผุ
นอกจากนี้แล้วผู้ดูแลเด็กจะต้องรู้จักสุขภาพอนามัยสุขภาพช่องปากของตัวเอง ตรวจสอบว่าตัวเองมีอาการฟันผุหรือไม่ ให้รีบอุดหรือรักษา อย่านิ่งนอนใจ และอาจใช้ตัวช่วยเป็นพัดลมตัวเล็กๆ หรือทิ้งอาหารไว้ให้หายร้อนก่อนค่อยป้อนให้กับลูกรักได้ค่ะ
ให้ลูกแปรงฟันเองได้เมื่อไหร่?
ในวัย 6 เดือน ถึง 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความสะอาดช่องปากให้ลูกเป็นหลัก โดยจับนอนที่เบาะที่นอนหรืออ่างอาบน้ำ สร้างบรรยากาศที่สบายตัว ร้องเพลงไปด้วย พูดคุยไปด้วย เด็กจะไม่กลัวการแปรง
วัย 3 – 8 ขวบ เริ่มให้เด็กแปรงฟันด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ก่อนนอน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องเช็คอีกรอบ ใช้แปรงกับยาสีฟันที่มีฟลูโอไรด์ บีบเท่าเมล็ดถั่วลันเตา แล้วเช็ดออก เด็ก 9 ขวบขึ้นไปจึงกล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานได้ดีขึ้น จึงไว้ใจให้แปรงได้เอง แต่ห้ามเด็กกลืนยาสีฟัน
สัญญาณฟันแท้เริ่มงอก ถ้าคุณพ่อคุณแม่แปรงฟันให้ลูกเองทุกวันจะเห็นว่าในวัย 5-6 ขวบ จะเริ่มเห็นตุ่มๆ ด้านในสุด นี่แหละฟันกรามแท้คู่แรกกำลังจะมาแล้วจ้า
- เลี่ยงการใช้ช้อนและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารชนิดอื่นๆ ร่วมกับลูกเพราะในน้ำลายของผู้ใหญ่มีแบคทีเรียมากกว่า และพ่อแม่ควรดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองให้ดีด้วย
- อย่าให้ลูกหลับคาขวดนมเพราะในน้ำนม (ทั้งนมแม่และนมผสม) มีน้ำตาลประกอบอยู่
Must read : เลิกนมมื้อดึก และฝึกหลับยาว สำหรับลูกน้อยวัยเด็กเล็ก
- ระวังลูกจะฟันผุเพราะน้ำผลไม้น้ำผลไม้หลายยี่ห้อเป็นแค่น้ำที่แต่งรสให้เหมือนน้ำผลไม้และอุดมด้วยน้ำตาล และถึงจะเป็นน้ำผลไม้ 100% สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ ก็แนะนำว่าเด็กวัย 1-6 ขวบไม่ควรดื่มเกินวันละ 4-6 ออนซ์ ถ้าอยากให้ลูกได้สารอาหาร กินผลไม้ไปเลยดีกว่า ได้กากไยด้วย
- ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์มีอาหารที่ช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาฟันผุด้วย เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ (แต่ควรบ้วนปากหลังกินเพราะมีน้ำตาล) ชีสมอสซาเรลลาและชีสชนิดอื่นๆ โยเกิร์ตและนม ฯลฯ
- ให้ลูกกินฟลูออไรด์เสริมตามคำแนะนำของทันตแพทย์เท่านั้นและต้องเก็บให้พ้นมือลูก เพราะการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปอาจทำให้เกิดพิษและทำให้ฟันตกกระ
- ทำความสะอาดฟันให้ลูกพอฟันซี่แรกขึ้น ก็เริ่มทำความสะอาดด้วยผ้านุ่มๆ หรือผ้ากอซ พอฟันขึ้นเยอะแล้วก็ทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันนิ่มๆ แต่ถ้าจะใช้ยาสีฟันเสริมฟลูออไรด์ ต้องใช้ตามคำแนะนำของทันตแพทย์เท่านั้น
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- เตือนลูกฟันผุ พัฒนาการล่าช้า-เตี้ยแคระแกร็น
- 13 สารอาหารสำคัญ เพื่อลูกรักฉลาด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- เทคนิคฝึก “แปรงฟัน” ให้ได้ผล
เรื่องโดย กองบรรณาธิการอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์
ที่มาจาก : blog คุณหมอกมลชนก