AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ปัญหาคาใจ “ฟันขึ้นช้า” และ “ฟันเก”

ลูกอายุ 1 ขวบ 2 เดือนครึ่ง ฟันบนกับฟันล่างเพิ่งขึ้นพร้อมกัน แต่ขึ้นอย่างละ 1 ซี่เท่านั้น มีฟันล่างที่เพิ่งขึ้นตามมาอีก 1 ซี่ เท่าที่รู้มาเด็กคนอื่นจะขึ้นพร้อมกันอย่างละ2 ซี่ อยากถามว่าฟันลูกขึ้นช้าไปไหม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดจากการที่เขานอนน้อยลงในช่วงนี้ที่กำลังหย่านม อีกข้อที่สงสัยคือ ฟันน้ำนมเขาเก ถ้าฟันแท้ขึ้นจะเกด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ จะเริ่มจัดฟันได้ตั้งแต่เมื่อไรคะ

เด็กแต่ละคนมีฟันขึ้นเร็วช้าแตกต่างกัน โดยทั่วไปฟันซี่แรกจะเริ่มขึ้นในช่วงอายุ 6 – 12 เดือน ส่วนใหญ่จะเริ่มขึ้นที่ฟันกลางล่างก่อน แต่บางคนอาจขึ้นข้างบนหรือด้านข้างก่อนก็ได้ อาจมาทีละซี่หรือมาพร้อมกันหลายซี่ก็ได้ หากลูกเป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวพัฒนาการปกติ ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด (โรคบางโรค ยาบางอย่าง การได้รับรังสีรักษามะเร็งทำให้ฟันไม่ขึ้นหรือขึ้นช้าผิดปกติ แต่เด็กต้องมีอาการผิดปกติด้านอื่นด้วย ส่วนการนอนน้อยหรือได้รับแคลเซียมไม่พอ ไม่ได้เป็นสาเหตุของฟันขึ้นช้า) สำหรับเด็กที่มีฟันขึ้นแล้วต้องได้รับการดูแลทำความสะอาดฟันและรับฟลูออไรด์เคลือบฟัน รวมถึงพาไปตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำจากทันตแพทย์ เพื่อให้มีสุขภาพฟันที่แข็งแรงตลอดไป

ฟันน้ำนมเกไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าฟันแท้จะเกด้วย บางคนฟันน้ำนมเกเพราะดูดขวดติดจุกหลอก หรือดูดนิ้ว แต่เมื่อฟันแท้ขึ้นเลิกนิสัยติดขวดหรือจุกหลอกได้แล้วจึงไม่มีปัญหา บางคนฟันน้ำนมไม่เกแต่ฟันแท้เกเพราะฟันแท้ซี่ใหญ่กว่าฟันน้ำนม แต่เด็กมีพื้นที่ของกรามไม่พอให้ฟันแท้อยู่ จึงอยู่กันเบียดเสียด (อาจเป็นลักษณะทางพันธุกรรม) หรือบางคนฟันแท้เกเพราะอาจมีปัญหาฟันน้ำนมผุ หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้ฟันน้ำนมหลุดไปก่อนเวลา ทำให้ฟันแท้ขึ้นมาโดยไร้แนวทาง

หากลูกมีปัญหาฟันแท้เก แก้ไขโดยการจัดฟัน โดยพาลูกไปพบทันตกรรมจัดฟันเฉพาะทาง (ควรเลือกคุณหมอที่จบเฉพาะทางด้านนี้โดยตรง ไม่ใช่ทันตกรรมทั่วไป) โดยพาไปปรึกษาได้ตั้งแต่ฟันแท้ซี่แรกขึ้น (อายุประมาณ 7 ขวบ) หากรู้ว่าลูกมีปัญหาฟันเกแน่นอน เช่น เป็นเด็กกรามเล็ก เคยเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ พ่อแม่ฟันเกทั้งคู่ เพื่อคุณหมอจะได้วางแผนการรักษาเบื้องต้นและระยะต่อไปได้อย่างเหมาะสม ส่วนในรายที่เป็นไม่มากอาจรอจนอายุ 12 ปี หรือฟันแท้ขึ้นครบก่อนก็ได้ บางคนมาจัดตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังทำได้ค่ะ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: shutterstock