“กระดูกสันหลังคด” จะพบได้มากในช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่กระดูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากจะส่งผลต่ออวัยวะภายในหากมีอาการรุนแรงแล้ว ในเด็กที่เป็นไม่มากก็ทำให้เสียบุคลิกได้ โดยเฉพาะลูกสาวที่มีโอกาสเป็นได้มากกว่า
“กระดูกสันหลังคด” เป็นอย่างไร
กระดูกสันหลังคด(Scoliosis) คือความพิการของกระดูกสันหลัง ซึ่งคดไปทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง หากมองภาพเป็น 3 มิติ กระดูกสันหลังจะโค้งไปด้านข้างและนูนมาด้านหลังด้วย เรียกได้ว่าเป็นลักษณะหลังค่อมร่วมกับหลังคดด้วย
บริเวณที่หลังคดส่วนใหญ่มักเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนบน และสำหรับชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุมักจะโค้งไปทางด้านขวาประมาณ 70-80% หากหลังคดในตำแหน่งต่ำลงมา อัตราการคดไปทางด้านซ้ายหรือขวาจะใกล้เคียงกัน แต่หากเป็นในตำแหน่งต่ำลงมาอีกจะพบว่าคดไปทางซ้ายมากกว่า
ความรุนแรงของกระดูกสันหลังคดจะวัดได้จากมุมความคดซึ่งวัดเป็นองศา หากวัดแล้วได้มุมไม่เกิน 10 องศา ในทางการแพทย์ถือว่าปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา ความเป็นจริงแล้วมีผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังคดรุนแรงจนต้องผ่าตัดในจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาการก็จะดำเนินไปเร็วกว่าผู้ชายด้วย
สาเหตุของกระดูกสันหลังคด
- ไม่ทราบสาเหตุผู้ป่วยราวร้อยละ 80 จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม หรือฮอร์โมนเมลาโทนินแบ่งออกเป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่
1) แรกเกิด – 1 ขวบ (Infantile Scoliosis)อาจหลังคดมาก แต่กระดูกสันหลังส่วนบนมักคดไปทางด้านซ้ายและหายได้เองภายในอายุ 1-3 ปี
2) อายุ 3-10 ปี (Juvenile Scoliosis)
3)อายุ 13-18 ปี(Adolescent Scoliosis)
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด เพราะกระดูกสันหลังโตไม่เท่ากัน หรือกระดูกติดกัน ไม่แบ่งเป็นช่วงตามปกติ
- เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อ เช่น อัมพาตจากโปลิโอ แต่ปัจจุบันประเทศไทยแทบไม่มีผู้ป่วยโปลิโอแล้ว หรือเกิดจากโรคของกล้ามเนื้อโรคอื่นๆ
- เป็นผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม 30% ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการกระดูกสันหลังคดด้วย
กระดูกสันหลังคดอาจเกิดจากการชดเชยอันเนื่องมาจากโรคบางอย่าง (Compensatory Scoliosis) เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อนไปกดทับเส้นประสาท หรือขายาวสั้นไม่เท่ากันซึ่งแก้ได้ด้วยการเสริมส้นรองเท้าให้พอดีกัน แต่กรณีนี้พบได้ไม่มาก ส่วนการนั่งผิดท่าหรือการนั่งหลังค่อมนั้นยังไม่มีการพิสูจน์แน่นอนว่าจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือไม่ แต่อาจทำให้ปวดหลังได้
อ่านเรื่อง ““กระดูกสันหลังคด” ผู้ร้ายทำลายบุคลิกลูกโต” คลิกหน้า 2
ควรเริ่มสังเกตลูกเมื่อไร?
สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็ก เพราะหากเป็นมากจะเห็นชัดเจน พ่อแม่มักสังเกตอาการนี้เมื่อลูกเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะหลังคดจะเป็นมากขึ้นเมื่อกระดูกเพิ่มความยาวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 13-17 ปี
วิธีตรวจกระดูกสันหลังของลูกอย่างง่าย
ให้ลูกยืนก้มหลัง แล้วตรวจดูด้วยสายตาว่ากระดูกสันหลังของลูกเอียงหรือคดหรือไม่ ไหล่หรือสะโพกเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ หรือกระดูกสะบักบริเวณใกล้ๆ ไหล่นูนขึ้นหรือไม่ กระดูกสะบักอาจนูนขึ้นได้เพราะเมื่อกระดูกสันหลังคด กระดูกซี่โครงด้านหลังจะนูนขึ้นมา กระดูกสะบักที่วางอยู่บนกระดูกซี่โครงจึงนูนขึ้นมาให้เราเห็น
การวินิจฉัยของแพทย์ทำอย่างไร?
วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้เด็กถอดเสื้อให้เห็นแผ่นหลัง จากนั้นดูท่าทางการเดินว่าเดินกะเผลกหรือเดินตัวเอียงหรือไม่ จากนั้นจึงดูระดับไหล่ ว่าไหล่เอียงหรือไม่ และดูว่ากระดูกเชิงกรานเอียงหรือไม่ แล้วก็ให้เด็กก้มให้ดู หากแพทย์ติดใจสงสัยก็จะส่งไปเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังทั้งหมดในท่ายืน แล้วจึงประเมินว่าหลังคดมากน้อยเพียงใดด้วยการวัดมุมความคดของกระดูกสันหลัง
อ่านเรื่อง ““กระดูกสันหลังคด” ผู้ร้ายทำลายบุคลิกลูกโต” คลิกหน้า 3
การรักษา
มีสองวิธีคือ การใส่เสื้อ (Brace) เพื่อปรับหรือดันกระดูกสันหลังให้เข้าที่ บ้านเรานิยมเรียกว่าเสื้อเกราะ (แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เสื้อเกราะกันกระสุน) อีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัด
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากความรุนแรงและอายุของเด็ก เช่น หากเด็กอายุ 9-10 ขวบ และมีมุมความคดประมาณ 35 องศา อาจรักษาด้วยการใส่เสื้อ หรือหากอายุ 13-15 ปี มีมุมความคด 30-40 องศา อาจให้ใส่เสื้อไปก่อน หากใส่เสื้อจนอายุ 16-17 ปีแล้วยังคงหลังคดอยู่และคดเพิ่มขึ้นมากก็ต้องรักษาด้วยผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่มีมุมความคด 60 องศาขึ้นไป จะต้องผ่าตัดโดยด่วนมิฉะนั้นจะเกิดการผิดรูปของกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครง ทำให้มีปัญหาระบบหายใจ จะหายใจไม่สะดวก เพราะปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้ศักยภาพในการทำงานของปอดไม่ดี
แต่เด็กบางคนที่หลังคดมาก เช่น เด็กอายุ 10 ปี กระดูกสันหลังมีมุมความคด 50 องศาขึ้นไป แพทย์อาจให้ลองใส่เสื้อนาน 1 ปี หากไม่ดีขึ้นก็ต้องผ่าตัดเช่นกัน มิเช่นนั้นจะหลังคดมากขึ้น
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกสันหลังคดได้แก่ 1) มุมความคดของกระดูกสันหลัง มีค่า 45 องศาขึ้นไป 2) มีความคดที่กระดูกสันหลังส่วนล่างในช่วงวัยรุ่นขึ้นไป
การรักษาด้วยการผ่าตัดในปัจจุบัน จะใช้สกรูยึดที่กระดูกสันหลัง และใช้แกนโลหะ 2 เส้นใส่เข้าไปเพื่อดามให้กระดูกสันหลังตรงขึ้น ในการดัดเส้นโลหะแพทย์ต้องดัดให้หลังมีความโค้งเหมือนกับคนปกติด้วยเพื่อความสวยงาม มิฉะนั้นจะกลายเป็นหลังแบน การเย็บแผลผ่าตัดจะเย็บแบบศัลยกรรมตกแต่งเพื่อให้แผลสวย จะเห็นแผลเป็นเพียงเส้นเดียวตรงกลางหลังเมื่อเด็กโตขึ้นแผลก็จะจางไปเรื่อยๆ เมื่อผ่าตัดรักษาแล้วก็ใช้สามารถใช้ชีวิตและมีครอบครัวได้ตามปกติ
ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
เด็กจะมีความพิการผิดรูป หลังจะคดมากขึ้น ตัวเตี้ยลง ถ้าเป็นมากเข้าระบบหายใจจะทำงานได้ไม่ดี หอบเหนื่อยง่าย เพราะปอดถูกกดทับไม่ให้ขยายตัวได้เต็มที่ หากจุดที่หลังคดเป็นกระดูกสันหลังส่วนล่างจะทำให้เป็นโรคปวดหลัง
เด็กที่ชอบนั่งผิดท่าหรือนั่งหลังค่อม ควรแก้ปัญหาอย่างไร
ควรให้เด็กออกกำลังกาย เช่น ทำกายบริหารเป็นประจำ เพราะหากปล่อยไว้เด็กจะติดนิสัยนั่งหลังค่อมไปตลอด และทำให้ปวดหลัง คนที่วิตกเรื่องนี้มักจะเป็นพ่อแม่ ส่วนตัวเด็กจะรู้สึกตัวเมื่อเป็นหนุ่มสาว บุคลิกท่าทางของเด็กจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง การทำกายภาพบำบัดนั้นไม่ได้ช่วยแก้หลังค่อมหรือแม้กระทั่งหลังคด แต่จะช่วยลดอาการปวดได้
เรื่องโดย : ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ภาพ : ShutterStock