เด็กอ้วนจ้ำม่ำ พ่อแม่และคนเลี้ยงลูกย่ายาย มักมองว่าลูกหลานน่ารัก อ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่รู้อะไรไหมคะ ภายใต้ความอ้วนจ้ำม่ำของเด็ก อาจซ่อนไว้ด้วยโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ ลูกวัยเตาะแตะ น้ำหนักเกิน แม่ๆ กังวลใจกันไหมคะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบในเรื่องลูกวัยเตาะแตะ น้ำหนักเกิน มาให้ได้ทราบกันค่ะ
ลูกวัยเตาะแตะ น้ำหนักเกิน แก้ไขอย่างไรดี?
ทางทีมงานได้รับข้อความจากคุณแม่ที่มีความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวของลูก ที่ถามเข้ามาดังนี้ค่ะ
ลูกชายอายุ 3 ขวบ 6 เดือนเดินล้มบ่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้สะดุดอะไร เขาบอกว่า “แค่เข่าอ่อนเฉยๆ” เวลาไปเดินเล่นกันเขาเดินได้ไม่นานก็ขอให้แม่อุ้ม ตอนนี้เขาสูง 102 เซนติเมตร หนัก 22 กิโลกรัม คุณหมอประจำเคยบอกว่าน้องเริ่มมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน คุณแม่จึงสงสัยว่าปัญหาการเดินของลูกเกิดจากสาเหตุนี้หรือเปล่า ที่สำคัญลูกไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ กินแต่นม น้ำเต้าหู้ ไข่ต้ม ข้าวเปล่า และโจ๊ก ฟักทองเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นเนื้อสัตว์เมื่อไรก็ทำท่าเหมือนจะอาเจียนทันที จึงนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับครอบครัวไม่ได้เลย รบกวนคุณหมอช่วยให้คำแนะนำด้วยนะคะ
และเพื่อให้คุณแม่คลายกังวลใจในเรื่อง แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด จะตอบในเรื่องนี้ให้ค่ะ
จากคำถาม หมอประมวลปัญหาได้ดังนี้ค่ะ
1. น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
ลูกสูง 102 เซนติเมตร เทียบเท่ากับเด็กอายุ 4 – 4.5 ขวบ ควรมีน้ำหนักประมาณ 16 – 17 กิโลกรัม จึงจะมีรูปร่างสมส่วน แต่ เขาหนักอยู่ที่ 22 กิโลกรัม จึงเข้าข่ายเป็นเด็กอ้วน เพราะน้ำหนักตัวเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักที่ควรจะเป็น
หมอขอชื่นชมคุณแม่ที่ใส่ใจเรื่องน้ำหนักตัวเกินของลูก เพราะโรคอ้วนเป็นอันตรายส่งผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น เพิ่ม ความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคกระดูกและข้อเสื่อม
เมื่ออ้วนแล้วจะเป็นเด็กไม่คล่องแคล่วเคลื่อนไหวได้ช้า เสียการทรงตัวได้ง่าย ด้านจิตใจอาจเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เนื่องจาก ถูกล้อเลียน เพื่อนๆ ไม่อยากให้เข้ากลุ่มในการแข่งขันกีฬา เป็นต้น
2. การแก้ไขปัญหาโรคอ้วน ทำได้โดย
ควบคุมปริมาณอาหาร ไม่กินแป้ง น้ำตาลไขมันมากเกินไป ให้กินผักผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด งดอาหารขยะ น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมถุงขบเคี้ยว อาหารทอด ปริมาณนมที่มากเกินไป ก็ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นนมรสหวาน นมเปรี้ยว ส่วนเครื่องดื่มรสช็อกโกแลต โกโก้ นมสำหรับเด็กที่มีปัญหาเบื่ออาหาร หมอไม่แน่ใจว่าคุณแม่อาจกำลังให้ลูกกินนมชนิดนี้อยู่หรือไม่ เพราะนมพวกนี้อาจทำให้เด็กกินข้าวยากมากขึ้นเนื่องจากอิ่มนม นอกจากนี้ยังทำให้เด็กติดหวานและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่คุณแม่บางท่านต้องการแต่ลูกของคุณแม่ท่านนี้มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินอยู่แล้ว
การออกกำลัง อาจเป็นการเล่นกีฬาหรือการหากิจกรรมให้ลูกได้เคลื่อนไหวมากๆ ลดกิจกรรมที่อยู่เฉยๆ เช่น การดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์
อ่านต่อ >> ลูกมีปัญหาเลือกกิน และ ล้มบ่อย หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3. ปัญหาเลือกกิน
ส่วนใหญ่ลูกกินแต่แป้ง นม ไข่ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ และขาดกลุ่มผักและผลไม้ หมอคิดว่าปริมาณสารอาหารโปรตีนน่าจะเพียงพอ แต่ขาดความหลากหลาย อาจทำให้ขาดวิตามินซึ่งควรได้จากผัก ผลไม้ และขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีมากในเนื้อหมูเนื้อวัว ตับ ผักใบเขียว จึงควรเสริมธาตุเหล็กและวิตามินให้เพียงพอ ในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยการกินของลูกได้อาจต้องเสริมวิตามินและธาตุเหล็กไปก่อน
การพยายามเปลี่ยนนิสัยการกินของลูกต้องอาศัยความอดทน คอยสอนการกินให้ดูเป็นตัวอย่าง มีเทคนิคการทำอาหารที่มีการดัดแปลง สอดไส้ แต่ถ้าลูกอาเจียนทุกกรณีไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ว่ามีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนอยู่อาจเป็นอาการแพ้อาหารรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากการปฏิเสธอาหารที่มาจากจิตใจ ซึ่งอาจเกิดจากการกินครั้งแรกเคยมีปัญหาอาเจียน ก็เลยฝังใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถ้าลูกแพ้อาหารประเภทเนื้อสัตว์จริงๆ คุณแม่ก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะคนบนโลกนี้ที่เป็นมังสวิรัติไม่กินเนื้อสัตว์มีอยู่มากมายก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพ หากกินสารอาหารโปรตีนได้ครบถ้วนจากอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช (grains) เมล็ดถั่วต่างๆ (beans, nuts) เมล็ดพืช (seed) ที่หลากหลาย
4. ปัญหาล้มบ่อยๆ
อาจเกิดจากการมีน้ำหนักตัวเกินทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวเกิน ทำให้เสียหลักได้ง่าย ซึ่งหากควบคุมไม่ให้อ้วนได้แล้วอาการนี้หายไปก็จบ แต่ในระหว่างนี้หมอแนะนำว่า คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอด้านโรคกระดูกเด็กโดยตรง เพื่อให้คุณหมอได้ประเมินว่าลูกไม่ได้มีปัญหาโรคกระดูกหรือโครงสร้างที่ผิดปกติ ไม่ได้เป็นโรคของกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ข้อมูลเนื้อหาโดย แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
อ่านต่อ >> ลูกน้ำหนักเกินตั้งแต่เด็กๆ เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกวัยเตาะแตะ น้ำหนักเกิน เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง?
เด็กตั้งแต่แรกเกิดพ่อแม่จะทราบว่าลูกของตัวหนักเท่าไหร่ น้ำหนักได้มาตรฐาน หรือน้ำหนักเกิน จากนั้นเมื่อกลับบบ้านก็จะ รับสมุดคู่มือพัฒนาการเด็ก ที่จะตารางการฉีดวัคซีน รวมทั้งข้อมูลบอกน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กในแต่ละช่วงวัยให้พ่อแม่ได้ทราบในเบื้องต้น
แต่ในช่วงที่เด็กกำลังเติบโต อาจมีเด็กบางคนที่น้ำหนักและส่วนสูงไม่สมดุลกัน ที่บางคนอาจผอมไป หรือ้วนมากไป ซึ่งก็ ต้องมาดูว่าเกิดจากพันธุกรรม, เด็กมีการเจ็บป่วย หรือเด็กได้กินอาหารไม่เหมาะสมตามวัย เป็นต้น
เด็กอ้วน (Obesity) คือภาวะที่ร่างกายของเด็กมีไขมันสะสมมากเกินกว่าปกติ ที่จะเห็นได้จากเด็กเล็กบางคนที่อายุน้อยๆ แต่ ตัวอ้วนมาก แขน ขามีเนื้อแน่นเป็นปล้องๆ ช่วงลำตัวก็อ้วนตันมาก ซึ่งหากพ่อแม่ปล่อยให้ลูกมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ไปจากช่วงอายุของลูก สามารถส่งให้เกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวได้ในอนาคต
ในเด็กวัยเตาะแตะที่มีปัญหาน้ำหนักตัวมาก อาจกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้ ไม่ว่าเป็น การเดิน การยืน การใช้ร่างกายอวัยวะแขน ขาในการเคลื่อนไหว อาจทำได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันที่มีน้ำหนักและส่วนสูงที่สัมพันธ์กัน ทีนี้มาดูกันค่ะว่าลูกในวัยเตาะแตะ หากน้ำหนักเกิน จะสามารถมีปัญหาทางสุขภาพอะไรได้บ้าง
Must Read >> รู้หรือไม่? เด็กทารกก็เป็นโรคเบาหวานได้!
- ลูกจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ลูกจะมีพัฒนาการทางร่างกายที่ช้า ไม่ว่าจะเดิน จะวิ่ง หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ก็ไม่สามารถทำได้ทันคนอื่น
- ลูกมีปัญหาในการหายใจ เพราะมีไขมันสะสมตามผนังช่องอกมากจนไม่สามารถหายใจได้สะดวก เวลานอนจะมีปัญหาการนอนกรน
- ลูกจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคความดันสูง และโรคหอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากมีไขมันสะสมอยู่มาก
ปัญหาสุขภาพในเด็กวัยเตาะแตะเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งโดยเฉพาะกับเรื่องน้ำหนักตัวของลูก หากลูกมีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน และสาเหตุเกิดจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ต้องปรับพฤติกรรมในเรื่องการกินให้ลูก พ่อแม่ต้องไม่ตามใจลูก เพราะการตามใจเท่ากับเป็นการหยิบยื่นสุขภาพที่ไม่ดีให้กับลูกได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โรคปอดบวมในเด็ก รู้ทันอาการ ป้องกันลูกเสียชีวิตได้ !!
โรคเด็กขนแปลง ใช้หมากแล้วจะหายจริงหรือ?
เตือนพ่อแม่ระวัง 4 โรคติดต่อ 2 ภัยสุขภาพ ปี 60