AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กติกาการให้ลูกกินขนมและน้ำอัดลม และทางสายกลางในการเลี้ยงลูก

ไม่ให้ลูกกินขนม หรือน้ำอัดลม ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพฟันของลูกก็จริงอยู่ แต่ “จิตใจ” ลูกล่ะ จะยังดีอยู่หรือเปล่า มาดูมุมมองจากจิตแพทย์กันดีกว่าค่ะ

Q: เราไม่อนุญาตให้ลูกกินน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ แต่ปู่ย่า ตายาย อากง อาม่า ฯลฯ ให้มาจะทำอย่างไร ปฏิเสธทุกครั้งก็คงไม่ดี แต่ปล่อยไปคงตบะแตกแน่ ตอนนี้ก็แทบจะฉุดกันไม่อยู่แล้วค่ะ

เรื่องทุกเรื่องให้พยายามหาทางสายกลางให้พบ

เอาเรื่องลูกก่อน เด็กๆ ชอบ 2 อย่าง เล่น และ กินขนม ชีวิตที่ได้เล่นและได้กินขนมเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก   ผมจึงไม่เห็นด้วยที่เด็กเล็กเอาแต่เรียนและคัดหนังสือโดยได้เล่นน้อยเกินไป และไม่เห็นด้วยที่เราจะเข้มงวดกับเรื่องขนมเสียจนเด็กไม่ได้รับความสุขสมวัยที่เขาควรจะได้

(อ่านเพิ่มเติม ลูกแทบไม่กินลูกอม ทำไมถึงยังฟันผุ?)

อย่าฟูมฟายเกินเหตุหากเด็กๆ จะได้รับขนมหวาน ไอศกรีม น้ำอัดลม หรืออาหารไม่มีประโยชน์บ้าง   แต่ยังคงมีกติกาว่าเราให้ได้เท่านี้ไม่มากไปกว่านี้   หรือจะให้ขนมหวานกับไอศกรีมต่อเมื่อเป็นเวลาหลังอาหารมื้อหลักเท่านั้น เป็นต้น ก็แล้วแต่จะกำหนดกัน แต่ที่จะห้ามขาดกันเลยนั้นดูเหมือนจะทำลายจิตวิญญาณเด็กเล็กมากไปหน่อย

ข้อเสียของขนมหวานและน้ำอัดลมคือทำให้ฟันผุและอ้วน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ชีวิตของผมพบเด็กฟันดีและไม่อ้วน เป็นโรคประสาทเพราะความเคร่งครัดเข้มงวดเหล่านี้มามาก จึงออกจะลำเอียงว่าบางครั้งข้อกำหนดทางสุขอนามัยก็ออกจะขวาจัดเกินไป ยกตัวอย่างสุดโต่งซึ่งเป็นเรื่องจริง ลองนึกภาพเด็กที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้กินไอศกรีมเลยจะเป็นเด็กที่มีความทุกข์มากเพียงใด

อ่านต่อ “ทะเลาะกับปู่ย่าตายายเรื่องเลี้ยงลูกประจำ ทำอย่างไร?” คลิกหน้า 2

ถัดจากทางสายกลางเรื่องการเลี้ยงลูกก็มาถึงทางสายกลางเรื่องการเลี้ยงบุพการี

เรื่องนี้ผมได้พูดในคอลัมน์นี้มากกว่าหนึ่งครั้งแล้วว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้กำหนดกติกา เรามีหน้าที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราใหญ่ที่สุดในบ้านดังนั้นเขาต้องฟังเรา นั่นแปลว่าปู่ย่าตายายต้องฟังเราด้วย

(อ่านเพิ่มเติม ตายายตามใจหลานสุดๆ กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ พ่อแม่ควรทำอย่างไร)

ทางสายกลางที่เราต้องเดินและรักษาสมดุลให้ได้คือทำอย่างไรปู่ย่าตายายจะไม่เสียใจ เรื่องนี้ไม่ยากหากคุณพ่อคุณแม่หมั่นถามตนเองเป็นนิจว่ากติกาที่เราใช้เลี้ยงลูกนั้นเป็นกติกาที่ดีหรือไม่ หากเป็นกติกาที่ดีก็ตามนั้น ลูกเป็นคนที่ต้องอยู่บนโลกนี้อีกนาน 60-70 ปี เขาต้องมีบุคลิกและนิสัยที่ดีอีกนานจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ส่วนปู่ย่าตายายจะอยู่ได้อีกไม่นานนัก ท่านควรได้รับความสุขในบั้นปลายมากที่สุดเท่าที่เรามอบให้ได้ แต่หากมากที่สุดแล้วยังไม่พอนั่นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องทำใจ

หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่ากติกาที่เราใช้เลี้ยงลูกเป็นกติกาที่ดีก็ไม่ควรต้องหวั่นไหวอะไร

อ่านต่อ “ทะเลาะกับปู่ย่าตายายเรื่องเลี้ยงลูกประจำ ทำอย่างไร?” คลิกหน้า 3

เรื่องผู้สูงอายุนี้สมควรนำมาสนทนากันอย่างจริงจังบ้างก็ดีเหมือนกัน ด้วยเหตุที่จำนวนผู้สูงอายุทวีจำนวนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาที่ไม่ควรเกิดในบ้านเรือนต่างๆ มากมาย แต่กลับไม่กล้านำมาสนทนากันเพียงเพราะวาทกรรมกตัญญูกดเอาไว้ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นโรคประสาทกันทั้งสามช่วงอายุ คือปู่ย่าตายายก็รู้สึกว่าลูกตัวเองไม่เคารพไม่เชื่อฟัง (ในเรื่องการเลี้ยงหลาน) พ่อแม่ก็รู้สึกว่าตนเองเป็นลูกอกตัญญูต่อท่านที่ไปขัดใจท่าน (ในเรื่องการเลี้ยงหลาน) และเจ้าลูกตัวดี (คือหลานของปู่ย่าตายาย) ก็สับสนในบุคลิกภาพเพราะไม่รู้จะฟังใครดี ก็เล่นใหญ่กันหมดทุกคนนี่นา

อย่าลืมนะครับ ถามผมซึ่งใส่ใจสุขภาพจิตมากกว่ามิติอื่นๆ ก็จะได้คำตอบประมาณนี้ หากไปถามนักโภชนาการหรือทันตแพทย์จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง นี่แหละครับคือประเด็น คุณเป็นผู้ตัดสินใจวันยังค่ำ

 

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ภาพ: Shutterstock