AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกเล็กออกอาการ “เด็กดื้อ” รับมืออย่างไรดี

Q: ลูกวัย 2 ขวบ 8 เดือน ดื้อมากค่ะ ชอบปาของเล่น ร้องกรี๊ดๆ ตลอดเวลา บางทีแม่ห้ามก็ปาใส่…พยายามหาทางแก้ไขด้วยการเตือนดีๆ แต่ไม่ได้ผลเลย คุณหมอมีคำแนะนำไหมคะ

เด็กวัย 1 – 4 ขวบเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดความรู้สึก เพื่อพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง อยากทดลองทำอะไรด้วยตัวเองอยากทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม แต่กลับปฏิเสธในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติสำหรับพัฒนาการทางสมองของเด็กวัยนี้ และยังมีพัฒนาการด้านภาษาไม่สมบูรณ์แบบ ยังพูดได้ไม่ดี จึงเกิดความคับข้องใจ แสดงออกโดยภาษากายแทนที่จะใช้ภาษาพูด เวลาหงุดหงิดหรือโกรธจึงใช้วิธีอาละวาด ร้องไห้ หรือกรี๊ดๆ แต่เด็กก็จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงขอบเขตและความคาดหวังของผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีการกระทบกระทั่งกันบ้างในบางเวลา

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เด็กดื้อ” ในเด็กช่วงวัยนี้ ซึ่งมักดีขึ้นได้หากผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ แก้ไข

• การชมเชยพฤติกรรมที่ดีๆ

เช่น กอด หอม ลูบหัวลูก แสดงสีหน้ายอมรับให้สติ๊กเกอร์หรือดาวเด็กดี เช่น หากลูกเล่นของเล่นแล้วไม่ปา นั่งเล่นดีๆ ให้ชมเชยว่าน่ารักจังที่ไม่ปาของเล่น

• เบี่ยงเบนความสนใจ

เช่น รีบหาของเล่นมาแลกเปลี่ยนกับโทรศัพท์มือถือของพ่อที่อยู่ในมือลูก ก่อนที่ลูกจะปาทิ้ง

• ต้องระวังการแสดงออกของตัวเอง

ไม่หัวเราะ ไม่ขำ หรือปล่อยให้ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่สมควรโดยไม่ว่าอะไร เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย

• หากต้องการให้ลูกทำอะไร ให้ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย

เลือกคำให้เหมาะสมกับวัยของลูก อย่าสั่งหรือคาดหวังสิ่งที่เกินความสามารถของลูก เพราะถ้าลูกทำไม่ได้หรือไม่เข้าใจ ไม่ได้แปลว่าลูกดื้อ

• การแยกเด็กเข้ามุมสงบสติอารมณ์ (Time out)

หากลูกกรี๊ดๆ เวลาไม่ได้ดังใจ โดยบอกให้ลูกรับรู้ว่า แม่รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เช่น “แม่รู้ว่าหนูรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิด” การบอกเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นว่าผู้ใหญ่เริ่มเข้าใจความรู้สึกของเขา และให้บอกลูกด้วยว่า การที่แม่ไม่ตามใจลูกเป็นเพราะอะไร ด้วยคำพูดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

• การตัดสิทธิพิเศษ

เช่น ไม่ได้กินขนมหวาน ไม่ได้ไปเที่ยวนอกบ้าน ไม่ได้อยู่ดึก ไม่ได้ดูทีวี ไม่ใช้การตี เพราะจะทำให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรม

• ให้ลูกเรียนรู้ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง

เช่น หากทำลายข้าวของ จะไม่ได้เล่นของเล่นชิ้นนั้นอีกโดยการเก็บของเล่นนั้นไม่ให้เล่นอีก

• พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง

เป็นข้อที่สำคัญที่สุด ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองได้ ใจเย็นพอที่จะรับมือกับความเกรี้ยวกราดของลูก และมีความเสมอต้นเสมอปลายในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดีทุกๆ ครั้ง

 

บางครั้งการแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวก็อาจไม่ได้ผล ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบหลายปัจจัย เช่นพื้นนิสัยอารมณ์ของเด็ก เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก ร้องไห้เก่ง ปรับตัวยาก ความเข้ากันได้ดีหรือไม่โดยพื้นนิสัยระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู เช่น ผู้เลี้ยงดูเป็นคนชอบทำอะไรว่องไว แต่เด็กเป็นคนอืดอาด จะมีโอกาสขัดแย้งกันได้ ความตึงเครียดในครอบครัว เช่น ฐานะการเงินของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา กฎเกณฑ์ของครอบครัว เช่น การดุ การตี การทำไทม์เอ๊าต์ เวลาที่ผู้ใหญ่โมโหหรือโกรธมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างไร เช่น เกรี้ยวกราด ด่าทอ ทุบตี ทำลายข้าวของ มีการใช้แอลกอฮอล์ สารเสพติด ให้เด็กเห็นหรือไม่ กรณีดังกล่าวอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็ก หรือจิตแพทย์เด็ก เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทางครอบครัวร่วมด้วย

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด