AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หนาวนี้ต้อง ระวังโรค “มือเท้าปาก” อาจเกิดขึ้นได้!

โรค มือเท้าปาก มีการระบาดในประเทศไทยมานานแล้ว แต่อาจเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากผู้คนใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้น เมื่อมีผู้มีอาการรุนแรงจึงเป็นข่าวใหญ่ ประกอบกับโรคนี้มักเป็นในเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี จึงเป็นที่หวั่นใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง Amarin Baby & Kids จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักโรคนี้กับ ผศ.นพ. ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ค่ะ

สาเหตุของโรค มือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มใหญ่ชื่อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยมากมาย เช่น ค็อกซากี เอ (coxsackie A) หรือ ค็อกซากี บี (coxsackie B) ซึ่งจะมีสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อต่อท้ายด้วยตัวเลขต่างๆ ในประเทศไทยเชื้อที่เป็นต้นเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ ค็อกซากี เอ 16 นอกจากนี้ยังมีตัวที่พบบ่อยมากขึ้นคือ ค็อกซากี เอ 6 รวมถึงเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 (EV71) โดยเชื้อที่ระบาดมากในแต่ละช่วงของทุกๆ ปีจะแตกต่างกัน

มือเท้าปาก โรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไร?

โรค มือ เท้า ปาก ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น เชื้อไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานนัก ระบาดปีละ 2-3 ครั้ง เริ่มจากช่วงฤดูฝน มาถึงฤดูหนาว และระบาดเป็นช่วงๆ จนหยุดไปในช่วงฤดูร้อน เชื้อจะอาศัยอยู่ในสิ่งคัดหลั่งของเรา โดยเฉพาะ น้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระ จึงติดต่อได้ด้วยการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งหรือเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้ออยู่

อาการของโรค มือเท้าปาก

อาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ประมาณ 2-4 วัน มีแผลในปาก มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า บางคนอาจมีผื่นลามถึงแขนและขา หรือก้น ผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ส่วนมากหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์หากไม่มีอาการแทรกซ้อน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ “EV 71 น่ากลัวเพราะอะไร? + วิธีดูแลลูกหากอาการไม่รุนแรง” คลิกหน้า 2

EV 71 : น่ากลัวเพราะ “ภาวะแทรกซ้อน”

เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ EV 71 ที่เคยเป็นข่าวใหญ่เพราะเด็กที่ติดเชื้อนี้เสียชีวิตนั้น หากเด็กที่ติดเชื้อมีเพียงอาการของโรคมือเท้าปากจะไม่อันตรายมาก แต่ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งมีอาการแทรกซ้อน คือ ภาวะก้านสมองอักเสบ ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมือเท้าปากไม่มาก เฉลี่ยราวปีละ 1-5 คน

สาเหตุที่เสียชีวิตคือการดำเนินอาการของก้านสมองอักเสบนั้นมีความรุนแรงอยู่แล้ว แต่บางคนอาจมีอาการไม่มากนัก แพทย์จึงให้การรักษาแบบประคับประคองและสามารถหายได้ เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ฉะนั้นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมากจึงเสียชีวิตได้ อาการก้านสมองอักเสบมักเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของการเจ็บป่วย เมื่อลูกมีไข้ อาการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว บางรายมีอาการสั่นๆ เดินเซ ยืนเซ หากอาการรุนแรงมากอาจจะมีอาการซึม ชัก หายใจหอบ หรือหมดสติ ในกรณีนี้ให้รีบพาไปโรงพยาบาล

ภาพ: Shutterstock

การวินิจฉัยและรักษาโรค มือเท้าปาก

เด็กบางคนมีอาการไม่ชัดเจนมาก เช่น มีแค่แผลในปาก แทบไม่มีผื่นที่มือและเท้า หรือมีผื่นที่ตามตัวด้วย หรือมีแผลลามจากในปากมาถึงรอบปาก แต่แพทย์จะอาศัยการสังเกตลักษณะและการกระจายของผื่น ก็จะให้การวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม แต่บางกรณีที่มีผื่นมาก คล้ายกับอีสุกอีใส เชื้อเริม หรือเชื้อไวรัสอื่น อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส แต่การตรวจเหล่านี้ต้องใช้เวลาและมีราคาแพง

การรักษาจะเป็นการประคับประคอง ไม่มียาใดได้รับการพิสูจน์ว่ารักษาโรคมือเท้าปากได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปจะให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ถ้าเด็กมีอาการทางระบบประสาทก็จะต้องมานอนโรงพยาบาล แพทย์อาจจะให้ยา IVIG ซึ่งอาจช่วยทำให้อาการของคนไข้ดีขึ้น

หากอาการไม่รุนแรง “ดูแล” ลูกน้อยอยู่บ้านได้

หากลูกยังพอรับประทานอาหารได้บ้าง ก็สามารถรักษาตามอาการที่บ้านได้ ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้ พยายามให้เขากินเท่าที่กินได้ แต่เขามักกินยากขึ้นเพราะเจ็บปาก ทำให้ร่างกายขาดทั้งน้ำและพลังงานจากอาหาร แต่ร่างกายคนเราทนต่อการขาดอาหารได้มากกว่าน้ำ จึงควรระวังอาการขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้เด็กมีอาการรุนแรงขึ้นและเร็วขึ้น กุมารแพทย์มักแนะนำให้กินอาหารที่เป็นน้ำๆ เย็นๆ เพราะเขาจะกินได้ดีขึ้น เช่น น้ำ น้ำหวาน ไอศกรีม อนุโลมให้เด็กกินมากๆ ได้ในช่วงนี้ เพราะเด็กจะไม่ค่อยยอมกินอาหารที่ต้องเคี้ยว เพราะแข็งและกลืนได้ลำบาก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ “อาการที่ควรพาลูกไปพบแพทย์ และการป้องกันโรคมือเท้าปาก” คลิกหน้า 3

อาการไหน ควรพาไปลูกไปพบแพทย์?

นอกจากอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นก้านสมองอักเสบแล้ว ถ้าลูกดูเพลียมาก ไข้สูง กินไม่ได้ ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย อาการเหมือนขาดน้ำ ซึ่งเป็นความรุนแรงของอาการโรคมือเท้าปากเอง ไม่ถึงขั้นก้านสมองอักเสบ ก็ควรพามาโรงพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนน้ำ

ทำไมเมื่อโรคมือเท้าปากระบาด จึงต้องปิดโรงเรียน?

โรคนี้พบมากที่สุดในเด็กเล็กที่อยู่ที่เนิร์สเซอรี่ เดย์แคร์ หรือโรงเรียนอนุบาล มีข่าวการระบาดโรคมือเท้าปากในที่เหล่านี้ทุกปี เมื่อมีเด็กป่วยหลายคนในห้องหรือโรงเรียนเดียวกัน ก็อาจต้องปิดห้องเรียนหรือปิดโรงเรียน แล้วแต่การพิจารณาของทางโรงเรียน ส่วนใหญ่จะปิดประมาณ 5-7 วัน ซึ่งจะครอบคลุมช่วงระยะฟักตัวของเด็กที่ได้รับเชื้อ เมื่อโรงเรียนเปิด เด็กที่ได้รับเชื้อก็จะมีอาการแล้ว ก็ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียนได้ ในช่วงที่ปิดก็ควรทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ และเครื่องใช้ของเด็กเพื่อฆ่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่

ภาพ: Shutterstock

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

“สุขอนามัยที่ดี” คือคำตอบ ควรปลูกฝังสุขอนามัยที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ทำจนชินเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่คนในครอบครัวป่วยเท่านั้น เช่น ให้พี่โตล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนจะมาเล่นกับน้องวัยทารก เมื่อเล่นเสร็จก็ล้างมืออีกครั้ง แยกภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม เครื่องใช้ส่วนตัวออกจากกัน ทำความสะอาดของเล่นที่พี่น้องชอบแบ่งกันเล่นบ่อยๆ หากทุกบ้านทำได้แบบนี้ก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ให้คนในครอบครัวเดียวกันไปได้มาก

หากมีลูกหลายคน พี่โตวัยเรียนป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก แนะนำให้แยกออกจากน้อง หากกำชับไม่ให้พี่สัมผัสน้องได้ยิ่งดี แม้ทำได้ยากเพราะพี่อาจแพร่เชื้อให้น้องแม้อาการป่วยหายแล้ว แต่ก็ช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อได้

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ก็ติดลูกน้อยได้

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อรับมือกับ ‘โรคมือเท้าปาก’


เรื่อง : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids