“ลูกอารมณ์รุนแรง” เดาใจลำบาก โดยเฉพาะในวัยเตาะแตะ ช่วงก่อน 3 ขวบ เป็นช่วงที่อาจทำให้พ่อแม่หลายท่านถึงกับงงว่าลูกที่อารมณ์ดี น่ารัก ว่าง่ายคนนั้นหายตัวไปไหน? แล้วจะต้องรับมือกับการเหวี่ยงของลูกอย่างไรดี?
Q. ลูกอายุ 2 ขวบครึ่ง อารมณ์เขาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วมาก ดีใจก็สุดๆ ไม่พอใจก็ร้องเสียงดัง ตี หรือกัดได้เลย บางทีอยู่กับแม่ไม่มีเหตุอะไรให้ไม่พอใจ ก็ร้องโวยวายหงุดหงิดได้เลย อยากรู้ว่าแบบนี้เป็นปกติของเด็กวัยนี้หรือไม่ หรือลูกมีอะไรที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษหรือเปล่า พ่อแม่ควรทำอย่างไรครับ
ดังที่เคยเรียนให้ทราบหลายครั้ง ทารกจะพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าตัวตน (self) ของตัวเองตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุประมาณ 3 ขวบแล้วแยกตัวออกจากคุณแม่เป็นบุคคลอิสระ
อ่านต่อ “กระบวนการแยกตัวของลูก จะเริ่มขึ้นอย่างไร” คลิกหน้า 2
กล่าวคือก่อน 3 ขวบ ไม่มากก็น้อยทารกยังคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของคุณแม่ เพราะเขายังไม่มีตัวตนที่ชัดเจน แม่ลูกยังเป็นตัวตนเดียวกัน
อย่างไรก็ตามกระบวนการแยกตัวจะเริ่มตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่งคือประมาณเมื่อเดือนที่ 30 การเริ่มต้นของกระบวนการแยกตัวนี้ทารกทุกคนต้องการภาพคุณแม่ที่ชัดเจน ทำนองว่า แม่ชัดก่อนตัวเองถึงจะรู้ว่าต้องแยกตัวเองออกจากอะไรกันแน่ หากแม่ไม่ชัดก็ออกจะสับสนว่าตัวเองต้องแยกตัวออกจากอะไรกันแน่
ดังนั้นหากจะถามว่าเขาร้องโวยวายไม่มีเหตุผล เพราะอะไร คำตอบคือเขาเรียกร้องให้แม่อยู่ใกล้ๆ จะได้เห็นชัดๆ ก่อนแยกตัว โดยที่ในขณะเดียวกันเขาก็สองจิตสองใจที่จะแยกตัวอีกด้วย หากคุณแม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาร้องไห้เป็นเยี่ยม งอแงเป็นยอดมาเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเกิด คำตอบคือเขาเป็นเด็กเลี้ยงยากตั้งแต่แรกเกิด ทารกเกิดมามี 2 พวกอยู่แล้วพวกแรกเลี้ยงง่าย กินนมก็หลับ พวกที่สองเลี้ยงยาก กินนมยากหลับยากร้องไห้เก่ง
อ่านต่อ “ถ้าลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก แม่ควรทำอย่างไร?” คลิกหน้า 3
หากเป็นเด็กเลี้ยงยากที่คุณแม่ควรทำคืออดทน ไม่อารมณ์เสียตามเขา แสดงให้เขาเห็นว่าเรามั่นคงและไว้ใจได้ เขาจะร้องไห้โยเยอย่างไรเราก็เดินเหินสวยเช้งเป็นเจ้าหญิงเสมอต้นเสมอปลาย เช่นนี้เด็กเลี้ยงยากก็จะปรับตัวตามคุณแม่ได้สรุปว่าไม่มีอะไรผิดปกติครับ อย่าคิดมาก
หากทำไม่ได้ ตอน 12 ขวบหรือ 22 ขวบจะยากกว่านี้หลายเท่า
เรื่อง : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
ภาพ : Shutterstock