มีหลายคนพูดกันไปว่าแสงแฟลชทำให้ตาของเด็กเสียหรือเกิดโรคของจอตา แต่จริงๆ แล้วยังไม่เคยมีเด็กที่เป็นโรคตาเพราะแสงแฟลช และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนด้วย เพราะเด็กมีกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงต่างๆ รวมถึงแสงแฟลชอยู่แล้วค่ะ เพราะว่า
- เด็กมีรูม่านตาเล็กกว่าผู้ใหญ่มาก รูเล็กนิดเดียว แสงก็จะผ่านได้น้อย อันตรายจากแสงก็จะลดน้อยลง
- เมื่อมีแสงส่องม่านตาจะหด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกายม่านตาจะหดเมื่อมีแสงส่องเข้ามา ก็ยิ่งทำให้แสงที่จะผ่านเข้าไปลดลงอีก
- สัญชาตญาณการหลบหลีกแสง มนุษย์มีปฏิกิริยาตามสัญชาตญาณในการหลบหลีกจากแสงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเบือนหนี หลับตา หรือหยีตา ปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นกลไกซึ่งช่วยปกป้องอันตรายจากแสงจ้าได้เช่นกัน
“นอกจากนี้การใช้แสงแฟลชยังเป็นการยิงแสงให้กระจายออก แสงไม่ได้รวมเป็นจุดเดียว ความเข้มข้นของแสงจึงถูกกระจายออกไป และการถ่ายรูปในแต่ละครั้งยังใช้เวลาไม่นาน ไม่ได้ถ่ายทั้งวัน แสงแฟลชจึงไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาของลูกได้ แม้จะเป็นลูกเบบี๋แรกคลอดก็ถ่ายรูปได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ”
Q : ทำอย่างไรเมื่อหลังจากถ่ายรูปแล้วลูกมีอาการระคายเคืองหรือมีน้ำตาซึม
A : ถ้าเป็นเพียงระยะสั้นๆ และหายได้เอง สัญนิฐานลูกอาจเป็นภูมิแพ้บางชนิดซึ่งทำให้สายตาไวต่อแสงไปด้วย กรณีนี้ไม่เป็นอันตรายค่ะ แต่ในกรณีที่ดวงตาของลูกเกิดอาการแพ้มากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณบอกถึงโรคตาอื่นๆ ที่ลูกเป็นอยู่ก่อนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป”
อ่านเรื่อง ““แสงแฟลช” ทำลายดวงตาเด็กจริงหรือ?” คลิกหน้า 2
ถึงคุณหมอจะยืนยันว่าแสงแฟลชไม่เป็นอันตราย แต่ป้องกันไว้บ้างย่อมไม่เสียหาย และเพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ คุณกัญชนิกา เมืองวงษ์ หัวหน้าช่างภาพนิตยสาร Amarin Baby & Kids จะมาบอกเล่าวิธีการหลีกเลี่ยงแสงแฟลชและแสงไฟ ในการถ่ายภาพแฟชั่นตามแบบฉบับมืออาชีพ รวมถึงเทคนิคที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ถ่ายรูปลูกน้อยได้ด้วยค่ะ
เทคนิคการถ่ายภาพแบบมืออาชีพ ปลอดภัย 100%
- ใช้แสงธรรมชาติช่วย ถ้าเป็นการถ่ายในห้อง นอกจากจะเปิดไฟเพื่อช่วยให้ห้องสว่างแล้ว การเลือกมุมที่มีแสงธรรมชาติเข้ามาก็จะช่วยให้การถ่ายภาพได้บรรยากาศธรรมชาติมากขึ้น ภาพไม่ดูแข็งจนเกินไป ส่วนการเช็ตถ่ายในสดูดิโอก็เช่นกัน ถ้าต้องมีการจัดไฟถ่ายการใช้แสงไฟผสมกับแสงธรรมชาติ ก็จะช่วยลดความเข้มของแสงได้
- มีตัวกรองแสง เพราะตราบใดที่ไฟไม่ได้ยิงตรงเข้าหน้า ก็ไม่มีอันตรายต่อเด็กแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่พวกเราใส่ใจมากที่สุดในการถ่ายแบบทุกครั้ง เราจึงต้องมีตัวกรองแสงเพื่อช่วยในการถ่ายภาพ อย่างเช่น ผ้าขาว หรือ Softbox เป็นต้น
- ระยะตำแหน่งการตั้งไฟ ไม่ตั้งใกล้เด็กมากเกินไป วิธีที่ลดความเข้มของแสง ก็คือการตั้งไฟให้ห่างจากตัวเด็ก 1-2 เมตรหรือตั้งอยู่นอกหน้าต่างแล้วให้แสงสะท้อนผ่านผ้าม่านเข้ามา ซึ่งเทคนิคนี้เราใช้กันในคอลัมน์ “Welcome New born”
- ทิศทางการตั้งไฟ นอกจากระยะตำแหน่งการตั้งไฟแล้ว ทิศทางการตั้งไฟก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราจะต้องถ่ายเด็กในระยะใกล้ ซึ่งปกติแล้วการถ่ายภาพเด็กในสตูดิโอเราจะไม่ตั้งไฟตรงหน้าเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้แสงลงที่เด็กโดยตรงแต่ใช้วิธีเอียง 45 องศา หรือตั้งให้สะท้อนกับวัตถุ เช่น แผ่นโฟม เพื่อลดความเข้มของแสงเช่นกัน
เทคนิคการถ่ายภาพในที่แสงสว่างน้อย
- ถ้าจำเป็นต้องใช้แฟลช แนะนำให้ใช้แฟลชหัวฆ้อนเพราะสามารถปรับทิศทางได้
- สำหรับกล้องคอมแพคธรรมดา สามารถตั้งค่า ISO ช่วยได้
- เปิดแสงไฟในบ้านช่วย แล้วอาจจะใช้ผ้าขาว หรือหมอนสีขาวช่วยสะท้อนแสง เช่น เด็กอยู่ใต้แสงไฟในบ้าน ถ้าลูกก้มหน้าใต้คางก็จะเป็นเงามืด ให้ใช้ผ้าขาววางในทิศทางตรงข้ามกับแสง เพื่อให้เกิดการสะท้อนแสง
เรื่อง : รศ.พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา (โรคตาเด็ก) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพ : Shutterstock