คุณแม่ลองหยุดป้อนข้าวลูกสัก 1 สัปดาห์ ให้เขากินแต่นมอย่างเดียวไปก่อน เพื่อให้ลืมความรู้สึกฝังใจที่ไม่ดีเกี่ยวกับการกินข้าวแบบเดิม แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่ โดยลักษณะของอาหารควรเริ่มจากบดละเอียดและป้อนคำเล็กๆ ไม่ใหญ่เกินไป เพราะเดี๋ยวจะติดคอลูกจนเข็ดและไม่กล้ากินอีก
จัดให้ลูกนั่งกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่ ให้ลูกเห็นวิธีการกินที่ถูกต้อง ให้ถือช้อนของตัวเองด้วยหนึ่งคัน ถึงจะตักเข้าปากได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร หากลูกทำได้ ควรชื่นชมและให้กำลังใจ อาจมีเด็กๆคนอื่นมานั่งกินเป็นเพื่อนและช่วยเชียร์ ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศในการกินที่ดี ไม่เคร่งเครียด
หากลูกแสดงท่าทีเหมือนไม่อยากกินต่อหรือเริ่มตักอาหารเล่น ให้ยุติการกินได้เลยค่ะ ไม่ต้องตื๊อ คะยั้นคะยอหรือดุว่า เพราะจะทำให้เขาเรียนรู้ถึงวิธีการต่อรองกับผู้ใหญ่ หรือเกิดความเบื่อหน่ายและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกิน ให้คิดเสียว่ามื้อนี้กินได้น้อย ก็ยังมีมื้อหน้าให้ลุ้นอีก แต่ไม่ควรเพิ่มนมหรืออาหารว่างระหว่างมื้อเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นลูกจะไม่รู้สึกหิว ที่สำคัญมากและเป็นกฎเหล็กสำหรับเด็กที่มีปัญหากินข้าวยากก็คือ ห้ามกินขนมทุกชนิด ให้ลูกรู้จักกินแต่ข้าว นมและผลไม้เท่านั้น เพราะหากเขารู้จักรสชาติของขนม ไม่ว่าจะเป็นขนมถุงๆ ไอศกรีม ช็อกโกแลต น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมปังเบเกอรี่ชนิดต่างๆ (แต่ให้กินขนมปังโฮลวีทได้ค่ะ) ก็จะยิ่งกินข้าวยากเพราะข้าวไม่อร่อยเท่าขนม ซึ่งเป็นตัวการทำให้ฟันผุ เป็นโรคอ้วน แถมยังขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์
คุณแม่อาจเริ่มให้ลูกกินของพวกนี้ได้บ้าง ก็ต่อเมื่อเขาเริ่มเข้าใจคำพูดเหล่านี้แล้ว เช่น “ให้กินได้แค่ชิ้นเดียว” “ต้องกินหลังจากกินข้าวเสร็จ” และ “กินแล้วต้องแปรงฟันให้ทั่วๆ ฟันจะได้ไม่ผุ” ซึ่งก็คือเมื่อลูกอายุ 2 ขวบขึ้นไปค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง