คุณพ่อ คุณแม่เคยสงสัยบ้างไหม ว่าควรพาลูกไปทำฟันเมื่อไหร่ดี แล้วสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันฟันผุให้ลูกน้อย แล้วเรื่องค่าใช้จ่ายล่ะ จะแพงหรือเปล่า? แล้วบริการ ทำฟันฟรี มีอยู่จริงหรือไม่? Amarin Baby and Kids รวบรวมคำตอบเอาไว้ในนี้ค่ะ
คุณแม่หลายท่าน ที่เป็นสมาชิกใน สมาคมแชร์ประสบการณ์การเป็นคุณแม่ และคุณแม่ตั้งครรภ์ ออกมาแชร์ประสบการณ์การพาลูกน้อยไปทำฟันฟรีดังนี้
จากประสบการณ์ของคุณแม่หลายๆ ท่าน บางคนลูกๆ อาจได้รับบริการฟรี แต่บางคนก็ต้องเสียเงิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสิทธิในบัตรของเด็กแต่ละคน และสถานทันตกรรมที่ไปใช้บริการ
ควรพาลูกมาทำฟันตอนกี่ขวบ
คุณพ่อ คุณแม่ควรสร้างความเคยชินกับการทำฟันให้ลูก ตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น และเมื่อครบประมาณ 2 ขวบ หรือบางครอบครัว คุณหมอจะเป็นคนนัดตามเวลาที่กำหนด ถึงแม้จะยังไม่มีฟันผุ ก็ควรที่จะพาไปพบทันตแพทย์ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการทำฟัน การทำฟันครั้งแรกสำหรับเด็ก จะเป็นการทำฟันง่ายๆ เช่น การขัดฟัน เคลือบหลุมร่องฟันซี่ที่ยังไม่ผุ เคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ คุณหมออาจมีเทคนิคพูดคุยกับลูกให้รู้สึกสนุกสนาน ไม่ทำให้ลูกเจ็บหรือกลัว แต่เมื่อลูกฟันผุแล้วควรรีบพามาหาคุณหมอ เพราะฟันผุน้อยๆ จะรักษาได้ง่ายกว่า ถ้าปล่อยไว้จนปวดฟัน ทานข้าวไม่ได้ หรือแก้มบวม การรักษาจะยุ่งยากมาก
อ่านต่อ “ค่าใช้จ่ายในการทำฟัน” คลิกหน้า 2 และ “ตัวอย่างสิทธิการรักษา” คลิกหน้า 3
ค่าใช้จ่ายในการทำฟัน
โดยส่วนใหญ่ค่าบริการรักษาฟันเด็กโดยประมาณ เริ่มต้นที่ 300 – 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับการรักษา
ตัวอย่างค่ารักษาฟันคลินิกแห่งหนึ่ง
- ถอนฟันน้ำนมซี่ละ 300-500 บาท
- ขัดฟันเคลือบฟลูออไรด์ 500 บาท
- เคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุซี่ละ 300-500 บาท
- อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัมสีเงิน 300-600 บาท
- อุดฟันด้วยวัสดุคอมโพสิทสีขาวเหมือนฟันซี่ละ 400-800 บาท
- อุดฟันด้วยคอมโพสิทสีขาวและเคลือบหลุมร่องฟัน ป้องกันฟันผุ (PRR)ซี่ละ 500-600 บาท
- รักษารากฟันเด็ก (1-2 ครั้งเสร็จ)ซี่ละ 1,000-1,500 บาท
- ครอบฟันเด็กซี่ละ 1,500-2,500 บาท
- เครื่องมือกันฟันล้ม สำหรับด้านเดียวของขากรรไกร 1,500-2,500 บาท
- เครื่องมือกันฟันล้ม สำหรับ 2 ด้านของขากรรไกร 2,500-3,000 บาท
- การปรับพฤติกรรมเด็ก ครั้งละ 300 บาท
ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ ที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของทันตแพทย์หญิงปวีณา คุณนาเมือง ไม่สามารถนำมาอ้างอิงเป็นมาตรฐานค่าใช้จ่ายในการทำฟันได้
1.โรงพยาบาลรัฐบาล
- สิทธิข้าราชการ ทำฟันในเวลาราชการ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เบิกค่าฟันได้ทุกกรณี ยกเว้น ครอบฟันเหล็ก เบิกได้ซี่เดียว ซี่อื่นคิดซี่ละ 600 บาท เป็นต้น ส่วนการเคลือบฟลูออไรด์บางแห่งใช้สิทธิเบิกตรงไม่ได้ ต้องจ่ายเอง ราคาอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท
- สิทธิบัตรทอง และประกันสังคม ทำฟันในเวลาราชการ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้กับโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิ์ ข้อยกเว้นคล้ายกับข้าราชการ
2.โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน
- ถ่าย x-ray ฟิล์มเล็ก ฟิล์มละ 100-160 บาท
- เคลือบฟลูออไรด์ครั้งละ 500-1,200 บาท
- เคลือบหลุมร่องฟันซี่ละ 400-600 บาท
- อุดฟันซี่ละ 500-1,600 บาท
- รักษารากฟันหรือรักษาโพรงประสาทฟันซี่ละ 1,500-3,000 บาท
- ครอบฟันซี่ละ 2,000-3,500 บาท
- ถอนฟันซี่ละ 300-500 บาท
- เครื่องมือกันที่ฟัน, เครื่องมือจัดฟันเบื้องต้นแบบถอดได้ชิ้นละ 2,500-5,000 บาท
- ปรับเครื่องมือครั้งละ 400-500 บาท
อ่านต่อ “ตัวอย่างสิทธิการรักษา” คลิกหน้า 3
ตัวอย่างสิทธิการรักษา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1.ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ผู้มีบัตรทอง สามารถขอรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทำฟันเทียมฐานพลาสติก รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ โดยต้องรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือก ถ้ารักษาต่างโรงพยาบาลต้องมีหนังสือส่งตัวระบุโรงพยาบาลที่ส่งต่อชัดเจน
2.ประกันสังคม
การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 600 บาทต่อปี
กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ผู้ประกันตนมีสิทธิรับค่าบริการและค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ผู้ประกันตนมีสิทธิรับค่าบริการและค่าฟันเทียมเท่าที่จ่าย ในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
หลักฐานที่ใช้ในการยื่นขอรับประโยชน์
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา (กรณีเบิกฟันปลอมฐานอะคริลิก)
- ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคม พื้นที่ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
3.ข้าราชการ
ข้าราชการมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง บิดามารดา คู่สมรส และบุตร กรณีบุตรให้ไม่เกิน 3 คน
หมายเหตุ: ค่าบริการทำฟันของแต่ละโรงพยาบาลมากหรือน้อยแตกต่างกัน ควรตรวจสอบสิทธิบัตร และโทรสอบถามกับทางโรงพยาบาลหรือคลินิกที่จะใช้บริการทุกครั้งก่อนใช้บริการ
เครดิต: สมาคมแชร์ประสบการณ์การเป็นคุณแม่ และคุณแม่ตั้งครรภ์, pattayadental, ทันตแพทย์หญิงปวีณา คุณนาเมือง, คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย