AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“ตรวจสุขภาพลูก” รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันโรค

ตรวจสุขภาพลูก ตรวจพัฒนาการ สุขภาพเด็ก

การตรวจสุขภาพเด็ก มีความจำเป็นต่อเด็กไม่แพ้ผู้ใหญ่ “เด็กมักจะมีสมุดสุขภาพประจำตัว  และหมอจะนัดมาพบเพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว  นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากและเด็กทุกคนทั่วโลกต้องมี” คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวเปิดประเด็น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพลูกน้อย

เด็กตรวจสุขภาพบ่อยแค่ไหน?

ลูกวัยทารกเป็นช่วงที่ยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเอง  กระทั่งเด็กวัยเตาะแตะหรือเข้าเรียนแล้ว  การอธิบายว่ารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายที่ใดบ้างก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี  และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องเช่นกัน คุณหมอจึงแนะนำให้พาเด็กมาพบคุณหมอทุกครั้งที่คุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ  และถึงแม้จะยังไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจน  ก็ควรพามาตรวจสุขภาพเป็นประจำ  เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ  โดยพาลูกน้อยมาตรวจตามนัดหรือพาไปตรวจเมื่อลูกมีอายุครบตามกำหนดเวลา  ดังนี้

1 เดือน > 2 เดือน > 4 เดือน > 6 เดือน > 9 เดือน > 12 เดือน > 15 เดือน > 18 เดือน > 2 ขวบ

หลังจาก 2 ขวบขึ้นไป คุณหมอแนะนำให้ตรวจสุขภาพปีละครั้ง  เพื่อความมั่นใจ  และหากลูกน้อยเจ็บป่วย  จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

พาลูกไปตรวจสุขภาพ

Checklist 9 ข้อควรตรวจ : เมื่อตรวจสุขภาพลูก ไม่ควรพลาด!

1.  ตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปและการเจริญเติบโต

เช่น สัญญาณชีพ  อุณหภูมิร่างกาย  ความดันโลหิต  ชีพจร  การหายใจ น้ำหนัก  ส่วนสูง  และรอบศีรษะของทารกในช่วง 2 ปีแรก  เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2.  ประเมินภาวะโภชนาการ

สามารถตรวจได้ทั้งจากการเจริญเติบโต สัดส่วนร่างกาย  การประเมินผลจากอวัยวะส่วนต่างๆ  และการเจะเลือด  เพื่อพิจารณาว่าลูกน้อยได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอหรือไม่

ตรวจสุขภาพลูก

3.  ประเมินพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์

เนื่องจากพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย  คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับการประเมินจากคุณหมอ  หากลูกน้อยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า  หรือมีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง  การได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเตาะแตะ (ก่อนเลยช่วงอายุ 3 ขวบ)  ซึ่งสมองกำลังพัฒนาเต็มที่  จะสามารถทำการรักษาและช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงเด็กปกติได้ดีกว่า

อ่านต่อเรื่อง “9 ข้อควรตรวจ : เมื่อตรวจสุขภาพลูก ข้อ 4-9” คลิกหน้า 2

4.  ตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน

ลูก เบบี๋เพียง 1 ขวบคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาไปหาทันตแพทย์สำหรับเด็กได้แล้ว  เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีฟันหลายซี่และสามารถเคี้ยวอาหารด้วยตัวเองได้  การพาไปพบทันตแพทย์  คุณแม่จะได้รับคำแนะนำดีๆ ในการดูแลสุขภาพปากและฟันของลูกน้อย  เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุของลูกน้อยได้ด้วย

5.  ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน

การตรวจคัดกรองทั้งสองภาวะนี้ควรตรวจตั้งแต่แรกเกิด (ในช่วง 1-2 เดือนแรก)  เนื่องจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และภาวะพร่องเอนไซม์  หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกเกิด  จะทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าตลอดชีวิต  ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเสียดายมาก

6.  ตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือภาวะการขาดธาตุเหล็ก

เป็นการตรวจเช็กความสมบูรณ์ของเลือด  ในช่วงวัย 6-9 เดือน  ซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างการรับสารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียวและความต้องการของร่างกายที่ต้องการสารอาหารมากกว่านมแม่  เด็กในวัยนี้หากกินนมแม่เพียงอย่างเดียว  หรือได้รับอาหารเสริมไม่เพียงพอเหมาะสม  อาจขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะซีดได้

ตรวจสุขภาพลูก

7.  ตรวจการได้ยิน

เด็กควรได้ตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากการได้ยินสัมพันธ์กับการพูด  หากเด็กบกพร่องในการได้ยิน  จะส่งผลให้มีปัญหาไม่พูดหรือพูดช้าตามไปด้วย  หากหมอตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ  เด็กจะได้ใส่เครื่องช่วยฟังหรือมีการแก้ไขด้วยวิธีการอื่นๆ  ให้เขาสามารถพูดได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ

8.  ตรวจสายตา

เด็กควรได้รับการตรวจสายตาก่อนเข้าโรงเรียนหรือประมาณ 4-5 ขวบ  เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กเริ่มให้ความร่วมมือในการตรวจแล้ว  และเพื่อให้เด็กมีสายตาที่ดี  พร้อมสำหรับการเรียนรู้ให้ทันเพื่อนๆ ที่โรงเรียน  หากเด็กมีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียง โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขก่อนช่วงนี้ อาจเกิดปัญหา ตาขี้เกียจ ส่งผลให้สายตาพิการตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้โรคทางสายตาอย่าง “มะเร็งจอประสาทตา” ก็เป็นโรคที่สามารถตรวจพบและอาจรักษาไม่ให้โรคลุกลามได้ในช่วงวัยทารก

9.  ตรวจปัสสาวะ

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยตรวจปัสสาวะสักครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ  เพื่อคัดกรองโรคไตตั้งแต่กำเนิด  ซึ่งไม่แสดงอาการป่วยในวัยเด็ก  แต่ส่งผลระยะยาวกับลูก

อ่านต่อเรื่อง “Skin test จำเป็นไหม?” และ “วิธีตรวจสุขภาพลูกเบื้องต้นที่บ้าน” คลิกหน้า 3

Skin Test จำเป็นแค่ไหน

วิทยาการทางการแพทย์สมัยนี้  เพียงตรวจกับคุณหมอก็สามารถบอกได้แล้วว่า  ลูกน้อยของเรามีโอกาสแพ้อะไรได้บ้าง  เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นโรคภูมิแพ้ให้ลูกน้อย  คุณประโยชน์ของการตรวจ Skin Test ฟังดูน่าสนใจ  แต่หากลูกน้อยไม่มีประวัติการป่วยเป็นภูมิแพ้  ไม่มีความเสี่ยง  และไม่มีอาการใดๆ ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจได้ว่าลูกเป็นภูมิแพ้  คุณหมอก็ไม่แนะนำให้ตรวจทุกคน  ควรพาลูกมาตรวจเฉพาะเมื่อมีอาการแสดงผิดปกติ  เช่น  มีความผิดปกติเรื่องการหายใจและผิวหนัง  เพราะนอกจากลูกจะเจ็บตัว  ยังเป็นการเสียเงินโดยไม่จำเป็นด้วยค่ะ

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ไขปัญหาภูมิแพ้ โรคใกล้ตัว ที่น่ากลัวอนาคตลูกน้อย

การตรวจเช็กสุขภาพลูกเบื้องต้น ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน

1. สังเกตการเจริญเติบโตของลูก

วิธีสังเกตการเจริญเติบโตของลูกอย่างง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่อาจเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน  ว่าลูกของเรามีสัดส่วนแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน  หรือคำนวณแบบคร่าวๆ ด้วยตัวเอง  เช่น

ส่วนสูงก็เช่นเดียวกัน  เด็กในช่วงอายุ 2-5 ขวบ ควรจะสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 6-8 ซม.ต่อปี  และควรจะสูงขึ้นเรื่อยๆ  หากน้ำหนักและส่วนสูงของลูกค่อนข้างนิ่ง  หรือแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันมาก  ควรพาไปตรวจกับคุณหมอสักครั้งนะคะ

การตรวจเช็กสุขภาพลูกเบื้องต้น

2.  สังเกตพัฒนาการลูกน้อย

เรื่องพัฒนาการคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เช่น วัยขวบครึ่งแล้ว หากยังไม่เดิน  หรือวัยสองขวบแต่ยังไม่พูด หรือพูดไม่ได้ แม้แต่คำที่ความหมายง่ายๆ สั้นๆ  นี่คือเกณฑ์ในระดับที่เรียกว่าพัฒนาการล่าช้าอย่างมาก  คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลังเลในการพาไปพบคุณหมอ  หรือหากมีสิ่งที่ลูกเคยทำได้  แต่มาวันนี้กลับทำไม่ได้  ลูกอาจมีพัฒนาการถดถอย  เช่น  เคยพูดได้แต่ไม่พูด  เคยเดินได้แล้ว  แต่ไม่ยอมเดิน  คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระวัง  เพราะอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคออทิสติก  โรคทางสมองบางอย่าง  ความเจ็บป่วยที่แอบซ่อนอยู่ หรือเด็กอาจมีปัญหาด้านการปรับตัว  อารมณ์  หรือจิตใจ  ซึ่งต้องให้คุณหมอวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง

3. สังเกตการได้ยิน

หากลูกอายุหกเดือนแล้วยังไม่ค่อยเล่นน้ำลาย หรือเรียกแล้วดูไม่ค่อยสนใจ  อาจเป็นสัญญาณบอกว่าลูกมีปัญหาด้านการได้ยิน

4. สังเกตการมองเห็น

หากลูกหยีตาเวลามอง  หรือเอียงหน้าเอียงคอมอง  ควรระวังเรื่องของสายตาสั้น  และควรพาไปตรวจสายตากับคุณหมอด้วยนะคะ

อ่านต่อเรื่อง “ตรวจสุขภาพลูก เด็กยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องตรวจ เพราะอะไร?” คลิกหน้า 4

ตรวจสุขภาพลูก : เด็กยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องตรวจ

อีกกรณีที่คุณหมอแนะนำให้ตรวจเป็นพิเศษ  คือ กลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง  เช่น  ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง  เบาหวาน  หรือความดัน  ควรตรวจเลือดและร่างกายอย่างละเอียดเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพของผู้ใหญ่  ช่วงอายุที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเช่นนี้คือ  อายุ 2-4 ขวบ  และไม่ควรพลาดการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อลูกเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

เด็กกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งคือ  เด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์  เช่น  เด็กผู้หญิงมีเต้านมตั้งแต่ 8 ขวบ  หรือเด็กผู้ชายอายุประมาณ 13-14 ปี  แต่เสียงยังไม่แตก  ยังไม่ฝันเปียก  หรือยังไม่มีขนบริเวณหัวหน่าวและรักแร้  หากลูกมีลักษณะอาการเช่นนี้ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาและตรวจอายุกระดูกด้วยการเอ็กซเรย์

ตรวจสุขภาพลูก : เด็กยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องตรวจ

อย่างที่คุณหมอบอกว่าลูกน้อยของเราแตกต่างจากผู้ใหญ่  การตรวจสุขภาพของเด็กนอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังแล้ว  พ่อแม่ก็จะได้รับคำแนะนำไปด้วยว่า  ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร  พ่อแม่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร  หรือเรื่องของการเลี้ยงดูลูกว่า  พัฒนาการแบบนี้  พฤติกรรมและพื้นอารมณ์แบบนี้ปกติหรือเปล่า  หากละเลยไม่พาลูกไปตรวจอาจทำให้ลูกได้รับการช่วยเหลือล่าช้า  จากโรคที่รักษาหรือช่วยบรรเทาเบาบางได้  อาจกลายเป็นโรคที่หมดโอกาสรักษาและกลายเป็นปัญหาของลูกน้อยไปตลอดชีวิตได้ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock