ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง ถ้าคุณพ่อ คุณแม่พาลูกน้อยไปรักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น ถั่วต่างๆ อาหารทะเล ปลา กุ้ง ไข่ หรืออาจจะรวมไปถึงเหล็กในของสัตว์เล็กๆ เช่น ผึ้ง ต่อ และมดแดง ในครั้งแรกร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
ภูมิแพ้ คืออะไร?
ปัจจุบัน โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เช่น โรคแพ้นมวัว โรคผื่นแพ้ผิวหนัง สำหรับในวัยเด็กโต และผู้ใหญ่ จะมีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้เยื่อบุตาขาว โรคหืด โรคแพ้อาหารทะเล
โรคแพ้อากาศ เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุด ในเด็กพบได้ประมาณ 50% รองลงมาคือโรคหืด และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง 15%
โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาผิดปกติกับสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร สิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่
1.สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า เชื้อรา เป็นต้น
2.สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี เป็นต้น
ภูมิแพ้ แพ้อะไรบ้าง?
1.แพ้ยา เช่น penicillin sulfonamide ยาสลบ insulin
2.แพ้วัคซีน โดยเฉพาะคนที่แพ้ไข่ขาว หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
3.แพ้ยาง
4.แพ้เลือด และส่วนประกอบของเลือด
5.แพ้แมลงกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ มดแดง
6.แพ้สารอาหารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น นม ไข่ ถั่ว แป้งสาลี ถั่วเหลือง ปลา
7.แพ้สารถนอมอาหาร เช่น sulfite ที่มีในอาหารหมักดอง หรือมันฝรั่ง
8.แพ้การออกกำลังกาย หรือแพ้เหงื่อตัวเอง
อ่านต่อ “สาเหตุภูมิแพ้ และอาการของภูมิแพ้ชนิดรุนแรง” คลิกหน้า 2
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
1.พันธุกรรม คุณพ่อ คุณแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ อาจไม่ใช่ภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน คุณพ่อ คุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 20 – 40%
2.สิ่งแวดล้อม มลพิษในอากาศ เช่น ควันรถยนต์ ควันจากโรงงาน ควันบุหรี่ รวมถึงวิถีชีวิตของคนเมือง คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้เมื่อแรกคลอด ชีวิตประจำวันที่เร่งด่วน การรับประทานอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป รับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยแป้ง และไขมัน ทำให้เกิดความเสี่ยงให้เกิดภูมิแพ้ ลูกน้อยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 15%
ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง มีอาการอย่างไร?
โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง จะทำให้เกิดอาการในทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียน และหลอดเลือด ตา โดยอาการจะเริ่มต้น ดังนี้
1.บวม และคัน บริเวณที่ได้รับสารภูมิแพ้ เช่น ถ้ารับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป จะมีอาการบวม คันที่ปาก และลำคอ ปวดท้อง และท้องเสีย ถ้าถูกแมลงกัดต่อย จะมีอาการบวม และคันบริเวณที่ถูกกัด
2.มีผื่นลมพิษลามทั่วตัว เริ่มจากฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ มีอาการคัน หนังตา รอบปากบวม ผิวหนังแดง
3.รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ เสียงแหบ เพราะกล่องเสียง และเส้นเสียงบวม
4.หลอดลมตีบ ทำให้หายใจลำบาก มีอาการกระสับกระส่าย
5.ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืดเป็นลม หมดสติ อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว
อาการภูมิแพ้ แบ่งตามระบบของร่างกายได้ ดังนี้
- อาการทางระบบหัวใจ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามือ เป็นลม
- อาการทางระบบอาหาร ทำให้เกิดโรคแพ้อาหาร มีอาการอุจจาระร่วง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำหนักตัวลด ร่วมกับผื่นเรื้อรัง และภาวะซีด
- อาการระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบ โรคแพ้อากาศ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง จาม หายใจเสียงดัง พูดลำบาก กลืนลำบาก
- อาการทางปอด ทำให้เป็นโรคหืด มีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจเสียงหวีด หอบ หายใจไม่สะดวก
- อาการทางผิวหนัง ทำให้เกิดโรคผื่นแพ้ผิวหนัง ผื่นคันเรื้อรัง บริเวณใบหน้า ข้อพับแขนขา ลำตัว เป็นลมพิษ และปากบวม
- อาการทางเยื่อบุตาขาว ทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาขาว คัน หรือเคืองตาเรื้อรัง แสบตา น้ำตาไหลบ่อยๆ หนังตาบวม
อ่านต่อ “การรักษาโดยทั่วไป และชนิดรุนแรงรักษายังไงดี?” คลิกหน้า 3
การรักษาโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป
1.หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ลดปริมาณการสร้างสารแพ้ ทำให้อาการภูมิแพ้น้อยลง เพื่อควบคุมอาการโรคได้
2.ใช้ยาสม่ำเสมอตามคำแนะนำของคุณหมอ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ พ่นยาผ่านทางจมูก และปาก รับประทานยา มีความรู้ ความเข้าใจในการรักษา และการใช้ยาที่ถูกต้อง จะได้รับยาตามขนาดที่จำเป็น
3.ดูแลให้มีสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงแป้ง และไขมันที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
4.หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ ควันจากการประกอบอาหาร เป็นต้น
ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง รักษายังไงดี?
เด็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิต การรักษาโดยเบื้องต้นจะใช้ adrenaline ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ หรืออาจใช้ยาแก้แพ้ หรือเตรียมาฉีดเอาไว้ตามแพทย์สั่ง
1.การปฐมพยาบาลภูมิแพ้โดยทั่วไป
- ถ้าหายใจลำบาก แต่ยังรู้สึกตัว ให้นั่ง แต่ถ้าความดันต่ำ ให้นอนราบ ยกเท้าสูง
- ถ้าไม่รู้สึกตัว ต้องระวังเรื่องทางเดินหายใจ อย่าให้มีเศษอาหาร หรือเสมหะอุดตัน ควรนอนตะแคง
- ห้าม ให้น้ำ และอาหารขณะเกิดอาการ
- ถ้ารู้ตัวว่าได้รับสารที่ทำให้แพ้อย่างแน่นอน ถ้ามี adrenaline ต้องรีบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
2.การปฐมพยาบาลภูมิแพ้ชนิดรุนแรง
- หยุดสารที่ทำให้แพ้ทันที แล้ววัดชีพจรเป็นระยะ ให้ adrenalin เข้ากล้ามเนื้อ ทุก 10 – 15 นาที
- ถ้าถูกแมลงกัดต่อย ให้ฉีด adrenalin ครึ่งหนึ่งรอบบริเวณที่ถูกกัด และอีกครึ่งหนึ่งเข้ากล้ามเนื้อ
- ตรวจทางเดินหายใจให้โล่ง ถ้ามีของในปากให้เอาออกให้หมด ให้ออกซิเจน หรือยาแก้แพ้
- ถ้ามีความดันต่ำก็ให้น้ำเกลือ ถ้ามีอาการเกร็งของหลอดลมก็ให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น
อ่านต่อ “สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภูมิแพ้รุนแรง และการป้องกัน” คลิกหน้า 4
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เกี่ยวกับภูมิแพ้ชนิดรุนแรง
1.คนที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรง ครอบครัวจะต้องมีแผนการรักษาเบื้องต้นไว้ และฝึกซ้อมบ่อยๆ
2.ครอบครัวจะต้องรู้อาการเบื้องต้นของโรค รู้วิธีปฐมพยาบาล รวมถึงการฉีดยา adrenalin
3.ครอบครัวต้องรู้ว่าถ้าลูกน้อยมีอาการแพ้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ควรจะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการ
การป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้ชนิดรุนแรงกำเริบ
1.ถ้าแพ้บ่อย และรุนแรง ให้เตรียม adrenalin เอาไว้ หลีกเลี่ยงการฉีดยา ใช้วิธีรับประทานจะดีกว่า
2.ถ้าจำเป็นต้องใช้วิธีฉีด หลังจากฉีดให้ดูอาการสัก 20 – 30 นาที พกยาไว้ติดตัวตลอดเวลา
3.บอกให้คนใกล้ชิดทราบว่าแพ้อะไรบ้าง จะได้ป้องกัน เก็บยาไว้ในที่ที่หาได้ง่าย ตรวจวันหมดอายุบ่อยๆ
4.ติดคำแนะนำ และวิธีช่วยเหลือไว้ที่สร้อยห้อยคอหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ถ้าแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้ง
5.ถ้าแพ้แมลงกัดต่อย ไม่ควรเดินเท้าเปล่า หรือใส่เสื้อแขนยาวเอาไว้
6.ถ้าแพ้สารอาหาร อาจจะต้องแพ้ไปตลอดชีวิต อย่าทดลองรับประทาน เพราะอาจจะเสียชีวิตได้
7.ตรวจส่วนผสมของอาหารทุกครั้ง เพราะอาจจะมีส่วนประกอบที่ทำให้แพ้ ระวังชื่อเรียกอาหารคล้ายๆ กัน
อ่านต่อ “ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง รักษาให้หายขาดด้วยวัคซีน” คลิกหน้า 5
ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง รักษาให้หายขาดด้วยวัคซีน
ปัจจุบัน ลูกน้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้ สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดวัคซีน วัคซีนรักษาภูมิแพ้ เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกเดือน เพื่อลดปฏิกิริยาของภูมิแพ้ โดยค่อยๆ ปรับภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3 – 5 ปี แต่อย่างไรก็ตามภูมิแพ้ก็อาจจะกลับมาอีก เช่น ฉีดวัคซีน 5 ปี หายขาด 10 ปี แล้วกลับมาเป็นอีก การฉีดวัคซีนสามารถรักษาภูมิแพ้ได้ 2 โรค คือ โรคแพ้อากาศ และโรคหืด
ผู้ที่ได้รับการรักษา คือ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ชนิดรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้โดยทั่วไป ดังนี้
- ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้
- เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงต้องฉีดวัคซีนควบคู่กันไป
- ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในชีวิตประจำวันได้
- ไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา หรือกลัวผลข้างเคียงของการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์
โดยเริ่มแรก คุณพ่อ คุณแม่ จะต้องพาลูกน้อยมาตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ก่อน เพื่อให้คุณหมอนำข้อมูลไปทำวัคซีนเฉพาะสำหรับแต่ละคน หลังจากนั้นก็มาฉีดวัคซีนตามที่คุณหมอนัดอย่างต่อเนื่อง
หลักการฉีดวัคซีน คือ คุณหมอจะทำการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไป และเพิ่มสารก่อภูมิแพ้ทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้อาการแพ้ลดลง แต่ถ้ารักษาไปได้ 1 ปี แล้วโรคภูมิแพ้ยังไม่ดีขึ้น คุณหมอจะหยุดทำการรักษา และถ้ามาฉีดวัคซีนไม่ตรงนัด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในครั้งต่อไป ทำให้ระยะเวลาในการรักษาช้าลง คุณหมออาจมีความจำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่
ผลข้างเคียงของวัคซีน มีดังนี้
- ผลข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น มีอาการปวด บวม แดง คัน ร้อน บริเวณที่ฉีด แต่น้อยมาก และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นทั้งตัว เช่น ผื่นลมพิษ มีเพียง 1% ให้ใช้ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ประคบด้วยความเย็น บรรเทาอาการ
- ผลข้างเคียงชนิดรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 20 – 30 นาที หลังจากฉีด ได้แก่ หน้ามืด ใจสั่น เวียนศีรษะ เพราะความดันโลหิตลดลง จุกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก กล้ามเนื้อหดเกร็งในระบบทางเดินหายใจ ผื่นพิษขึ้นทั่วตัว เปลือกตาบวม ต้องรีบรักษาในโรงพยาบาลโดยด่วน
การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ ถือเป็นทางเลือกในการรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก ถ้าคุณพ่อ คุณแม่มีลูกเป็นโรคภูมิแพ้ ลองหลายวิธีแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้ใช้วิธีนี้ดูนะคะ
เครดิต: www.siamhealth.net, โรงพยาบาลพญาไท, http://kidsnews.bectero.com
อ่านเพิ่มเติม คลิก!