บ้านไหนมีปัญหา ลูกถ่ายยาก ลูกอึแข็ง หรือ ลูกท้องผูกบ่อยๆ เชิญทางนี้ Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำจากคุณหมอ กับ 10 วิธีแก้ลูกท้องผูก รับรองช่วยได้ทุกปัญหาที่ทำให้ ลูกท้องผูกบ่อย แน่นอน
อาการท้องผูก ถือเป็นอาการยอดฮิตที่เด็กทุกคนต้องผ่านด่านกันมาไม่มากก็น้อย แล้วจะรู้ได้ไงละ ว่าลูกท้องผูกจริงไหม? มีสาเหตุมาจากอะไร และจะช่วยแก้อาการท้องผูกของลูกน้อยได้อย่างไร ตามมาดู วิธีแก้อาการลูกท้องผูก จาก แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด กันเลยค่ะ
ข้อควรรู้! ก่อนดู วิธีแก้ลูกท้องผูก
เพราะการขับถ่าย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการและสภาพร่างกายของลูกน้อย จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องระบบขับถ่ายที่มีความผิดปกติ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า อาการท้องผูกของลูกน้อย ที่บางวันถ่ายบ้าง ไม่ถ่ายบ้าง หรือมีอาการท้องผูกนานเป็นอาทิตย์
และหากคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ตอนนี้กำลังหนักใจกับปัญหา ลูกท้องผูก อยู่ละก็ Amarin Baby & Kids ขอพาไปหาคำตอบของอาการท้องผูก ซึ่งไล่ตั้งแต่ที่มาของสาเหตุ รวมถึงหนทางแก้ไขอาการท้องผูกด้วยวิธีที่ถูกต้องมาฝากกันค่ะ
ท้องผูก คือ ปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเป็นก้อนที่ค่อนข้างแข็งมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายเม็ดกระสุน ซึ่งทำให้เด็กต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติและมีอาการเจ็บปวดตามมา สำหรับเด็กบางคนที่มีอาการท้องผูกมากอาจมีแผลที่ก้นหรือมีเลือดไหลปนมากับอุจจาระอีกด้วย
โดยสาเหตุหลัก ของอาการท้องผูกในเด็กเล็กนั้นเกิดได้หลากหลายปัจจัย แม้กระทั่งการเปลี่ยนนม ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากนมแม่มาเป็นนมผสม และการเปลี่ยนยี่ห้อนมที่ลูกกินอยู่ทุกวันก็มีส่วนทำให้ระบบขับถ่ายของลูกเปลี่ยนไปได้เช่นกัน เนื่องจากส่วนผสมในนมบางชนิดอาจมีการดัดแปลง มีอาหารเสริมบางอย่าง หรือมีอัตราส่วนของคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนในนมผสมที่สูงกว่าปกติ จึงส่งผลให้ลูกท้องผูกนั่นเอง
นอกจากนี้อาการท้องผูกยังเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วนหรือไม่มีเส้นใยมากพอ โดยเฉพาะการรับประทานเนื้อสัตว์ ขนม แป้งมากเกินไป
แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “ลูกท้องผูก”…⇓
ทำไมลูกจึงท้องผูก
ลูกท้องผูก หมายถึง การที่ลูกอุจจาระเป็นก้อนแข็ง และรวมไปถึงมีความยากลำบากในการขับถ่าย ซึ่งมีมากกว่าเน้นจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระ คือ ถ้าลูกน้อยถ่ายอุจจาระทุกวัน แต่ถ่ายเป็นก้อนเล็กๆ แข็งๆ ก็นับว่า ท้องผูก ในขณะที่ถ้าถ่ายนิ่ม ๆ และจำนวนมากพอสมควร แต่ถ่ายแค่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็ถือว่าไม่ใช่ท้องผูก
ซึ่งปกติแล้วเด็กๆ จะถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 4 ครั้ง ในช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรก ไปจนถึงวันละ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 ปี ช่วงนี้ปริมาณอุจจาระจะเพิ่มเป็น 10 เท่า และมีน้ำประมาณร้อยละ 75
เด็กที่ท้องผูก จะถ่ายออกมาเป็นก้อนเล็กๆ แข็งๆ หรือที่เราเรียกว่า ลูกกะสุน ต้องเบ่งด้วยความยากลำบาก ทำให้มีอาการปวดท้อง จุกเสียด เนื่องจากอุจจาระตกค้างอยู่ในร่างกาย พบเด็กท้องผูกได้ทุกช่วงวัย ที่พบมากที่สุดคืออายุประมาณ 6 เดือน- 4 ปี ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน
ซึ่งปกติเด็กมักถ่ายอุจจาระทุกวัน โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดที่กินนมแม่ อาจถ่ายวันละ 5-6 ครั้ง แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ความถี่ของการถ่ายอุจจาระจะลดลง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกังวลว่านี่คือ สัญญาณท้องผูกหรือไม่?
แค่ไหนถึงเรียกว่า “ลูกท้องผูก”
เริ่มแรกเลย ต้องดูก่อนว่าท้องผูกนี้เป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง คือ ถ้าเคยถ่ายปกติมาตลอดแล้วจู่ๆ ก็เกิดท้องผูกฉับพลันและมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีประวัติอาเจียนเป็นน้ำดี และมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ต้องนึกถึงภาวะอุดตันของทางเดินอาหาร โดยเฉพาะทารกแรกเกิด ถ้าไม่ถ่ายขี้เทาใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อาจจะมีภาวะอุดกั้นของขี้เทาตั้งแต่แรกเกิด และมีภาวะลำไส้อุดตันอื่นๆ ซึ่งถ้าสงสัย หมอก็จะตรวจเพิ่มเติมต่อไป เช่น เอ็กซเรย์ธรรมดาและการสวนแป้ง หรือกลืนแป้ง แล้วแต่สงสัยว่าจะมีการอุดกั้นในระดับใด
สัญญาณความถี่ของการอุจจาระที่บ่งบอกว่า ลูกท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ หรืออาจถ่ายทุกวันแต่ต้องเบ่งมากและอุจจาระแข็งอาจจะเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายลูกกระสุนปืนอัดลมหรือก้อนใหญ่ๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากเวลาเบ่งถ่าย หรือบางครั้งอาจมีเลือดติดออกมาด้วยเพราะรูทวารฉีกขาด ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ลูกจะรู้สึกกลัวการถ่ายอุจจาระจึงพยายามกลั้นเอาไว้ จนทำให้อุจจาระยิ่งมีขนาดใหญ่และแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มความเจ็บปวดในการขับถ่ายในแต่ละครั้ง
ทั้งนี้ อาการท้องผูก นี้ไม่ค่อยพบใน เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ เพราะการกินนมแม่นั้น ย่อยได้ง่ายกว่า เด็กทารกปกติช่วงอายุ 1-3 เดือน ที่กินนมแม่ ถึงบางคนอาจถ่ายอุจจาระห่างทุก 3-7 วันโดยที่ยังกินนมดี ร่าเริง น้ำหนักขึ้นตามปกติ ไม่อาเจียน เด็กกลุ่มนี้ไม่นับว่ามีอาการท้องผูกถึงแม้ว่าจะถ่ายน้อยกว่า สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.sabuykid.com
อย่างไรก็ดี…ดังนั้นแล้ววิธีแก้ไขและลดอาการท้องผูกของลูก จึงควรเริ่มต้นสังเกตอาการของลูกดูว่า มีสาเหตุมาจากจุดไหน แล้วมาเริ่มแก้อาการท้องผูกให้กับลูกด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้…⇓
สาเหตุของอาการท้องผูก และ 10 วิธีแก้ลูกท้องผูก
- กินอาหารที่มีเส้นใยอาหารไม่เพียงพอ เช่น ผัก ผลไม้ แก้ไขโดย การพยายามให้กินเพิ่มขึ้น ผลไม้ที่ช่วยระบายได้แก่ ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี ส้มมะละกอ ลูกพรุน แก้วมังกรองุ่น เชอร์รี่ ไม่แนะนำให้กินโยเกิร์ต เนื่องจากโปรตีนนมวัวอาจทำให้เป็นโรคภูมิแพ้
- กินน้ำน้อย แก้ไขโดย การพยายามให้กินน้ำเพิ่มขึ้น เด็กบางคนชอบกินน้ำเย็น น้ำแข็ง ก็อนุโลมได้ค่ะ แต่ควรเป็นน้ำแข็งทำเองจะได้ไม่เสี่ยงกับภาวะท้องเสีย แต่ไม่ควรให้กินน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ติดรสหวาน ฟันผุ เป็นโรคอ้วน
- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวเท่าที่ควร เช่น คนอุ้มเยอะ นั่งดูทีวีทั้งวัน วิธีแก้คือ พยายามกระตุ้นให้ลูกได้ออกกำลังกาย
- ห่วงเล่น ไม่อยากขับถ่ายในที่ไม่คุ้นเคย กลัวห้องน้ำสกปรกจึงอั้นไว้ก่อน พอเก็บไว้นานก็ทำให้อุจจาระแข็งวิธีแก้คือ ฝึกให้ลูกถ่ายเป็นเวลาทุกวันเช่น ตอนเช้า หรือตอนเย็นเวลาออกนอกบ้านจะได้ไม่ต้องอั้น
- ต่อต้านการขับถ่าย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถ่ายแข็งจนบาดรูทวาร เป็นแผลเจ็บมาก แก้ไขโดยทายารักษาแผลจนหายดี ทำให้อุจจาระนิ่มโดยใช้ยาช่วยระบาย จนกว่าลูกจะมั่นใจว่าอุจจาระที่ออกมาไม่ทำให้เจ็บ จึงหยุดยาระบายได้ และพยายามอย่าให้มีปัญหาอุจจาระแข็งอีก
- เคยถูกบังคับให้ฝึกนั่งกระโถน ทำให้มีความฝังใจไม่อยากขับถ่าย วิธีแก้คือ ปล่อยให้ลูกอุจจาระในรูปแบบที่ลูกชอบไปก่อน ขณะเดียวกัน พยายามแสดงให้ลูกดูว่าทุกคนเขาทำกันอย่างไร บางคนก็ไม่ยอมทำ จนกว่าจะเข้าโรงเรียนแล้วไปเห็นเพื่อนๆทำได้ หรือเห็นที่นั่งขับถ่ายที่โรงเรียนมีขนาดเล็กเหมาะสมกับตัวเอง จึงยอมทำได้ในที่สุด
- ไม่ถูกกับอาหารหรือนมที่กินอยู่ เช่น แพ้โปรตีนนมวัว หรือเป็นผลข้างเคียงของธาตุเหล็กที่ผสมอยู่ในนมผง วิธีแก้คือ เปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองหรือนมสำหรับเด็กแพ้นมวัว หากเป็นเด็กที่อายุเกิน 1 ขวบไม่จำเป็นต้องกินนมผงอีกต่อไป ให้เปลี่ยนมาเป็นนมกล่องที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก
- เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ โรคเบาจืด เด็กต้องมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย วิธีแก้คือ รักษาโรคที่เป็นอยู่
- เพราะยาบางอย่าง เช่น ธาตุเหล็ก ยาลดไข้สูง ยาลดกรด ยากดการไอที่มีโคเดอีน วิธีแก้คือ ลองหยุดยาแล้วดูว่าดีขึ้นหรือไม่
- เป็นโรคขาดเนื้อเยื่อประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ (Congenital Megacolon หรือ Hirschsprung’sDisease) วินิจฉัยโรคได้จากการสวนแป้งทางทวารและการผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ลำไส้ไปตรวจ วิธีแก้คือ หากเป็นไม่มาก แก้ไขโดยการใช้ยาช่วยระบาย ถ้าเป็นมากแก้ไขโดยการผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ทำตาม วิธีแก้ลูกท้องผูก แต่ลูกก็ยังมีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำ หรือ ไม่ถ่ายเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป ลองพาไปพบกุมารแพทย์ดูนะคะ คุณหมอจะสามารถวินิจฉัยได้อย่างลึกซึ้งว่า ควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป และถ้าถึงคราวจำเป็นต้องใช้ยาระบายจริงๆ คุณหมอจะมียาที่ทำให้อุจจาระนิ่มลงได้ค่ะ เพื่อลูกจะถ่ายได้ง่ายขึ้นนัน่เองค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ :
- แม่แชร์เตือน! ลูกกินนมผสม สังเกตอึให้ดี เสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบ
- สีอุจจาระบอกโรค อุจจาระลูกเปลี่ยนสีเพราะอะไร
- อึบอกสุขภาพ ลูกน้อยแรกเกิดมากกว่าที่คิด
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด