AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก

Credit Photo : Shutterstock

 

เวลาลูกเล็กๆ ป่วยทำเอาคนเป็นพ่อแม่ห่วงใจแทบขาด ในเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ยังไม่แข็งแรงเหมือนกับในผู้ใหญ่จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย อย่างไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก ก็เป็นอีกโรคที่เด็กเป็นกันมาก  ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีอาการและสาเหตุการป่วยจากไวรัสลงกระเพาะ มาให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ เพื่อจะได้ป้องกันให้กับลูกๆ ที่บ้านได้มาฝากค่ะ

 

ไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก เกิดจากสาเหตุใด?

โรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ (Viral Gastroenteritis) เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันมาก คือ เชื้อไวรัสโรต้า

การติดต่อ : เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ การคลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วเอามือเข้าปาก

ระยะฟักตัว : หลังการสัมผัสโรคจนแสดงอาการอาจใช้เวลาสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 วัน เริ่มจากอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนซึ่งเป็นนานประมาณ 1 – 5 วัน ต่อมาอาจมีถ่ายเหลว ซึ่งอาจเป็นอยู่ 2 – 3 วันหรือนานเป็นสัปดาห์ มักถ่ายเป็นน้ำ ในอุจจาระอาจมีมูกเลือด มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงก็ได้

การนำอุจจาระมาให้หมอดูหรือส่งตรวจ ช่วยในการวินิจฉัยได้ โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีวิธีตรวจที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสโรต้าทำให้ทราบข้อมูลละเอียดขึ้น ในรายที่มีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวรุนแรง มีอาการปวดท้องมาก หมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อดูว่าอาจเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันหรือไม่ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคลำไส้อุดตัน  โรคลำไส้กลืนกัน โรคแพ้นมวัว เป็นต้น

อ่านต่อ >> ดูแลอย่างไรเมื่อลูกไวรัสลงกระเพาะ หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก ดูแลอย่างไรเมื่อลูกป่วย?

การดูแลเบื้องต้น คือ ให้ยาระงับอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาขับลม

– ยาแก้อาเจียน คือ Domperidone หรือ Motilium ขนาดยาคือ ช้อนชา (2.5 ซีซี) ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง วันละ 3 – 4 ครั้ง ไม่ควรกินยาแล้วกินอาหารทันทีเพราะอาจอาเจียนได้อีก เนื่องจากยายังไม่ได้ดูดซึมเข้าร่างกาย

– ยาแก้ปวดท้อง คือ Berclomine ให้ในรายที่มีอาการปวดเกร็ง ปวดบิด ขนาดยาเหมือนยาแก้อาเจียน แต่กินหลังอาหาร

– ยาขับลม คือ Simethicone แก้ท้องอืด ลดแก๊ส กินครั้งละ0.5 – 1 ซีซี ทุก 2 – 4 ชั่วโมง

ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่ายครั้งละน้อยๆ เช่น ข้าวต้มครั้งละ 5 – 6 คำแต่ให้บ่อยๆ ไม่เลี่ยนมัน ชงนมจางกว่าปกติ ให้ดื่มครั้งละไม่เกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ เพื่อไม่ให้ลำไส้ทำงานหนัก

ให้จิบน้ำเกลือแร่ ORS จะได้ไม่มีอาการอ่อนเพลียจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ไม่ให้น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือน้ำเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬา เพราะน้ำตาลที่เข้มข้นมากเกินไปจะทำให้ท้องเสียมากขึ้น  เนื่องจากน้ำตาลที่ระดับความเข้มข้นไม่เหมาะสมจะดึงน้ำออกจากเซลล์เยื่อบุลำไส้มากขึ้น

งดของแสลงเวลาที่ท้องเสีย จนกว่าอาการจะดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว แล้วเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองหรือนมวัวสูตรพิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส หากลูกไม่ยอมเปลี่ยนนม อาจลองชงนมเดิมที่กินอยู่ แต่ให้เจือจางกว่าปกติเท่าตัว (มักหายช้ากว่าเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส)

สำหรับเด็กที่กินอาหารเสริมแล้ว  หากชงนมผสมเจือจางแล้วยังมีอาการถ่ายเหลวไม่หยุด แต่ไม่ยอมกินนมถั่ว ให้เน้นกินข้าวต้มหรือโจ๊กใส่เนื้อสัตว์เล็กน้อย  และน้ำข้าวต้มใส่เกลือเล็กน้อย แล้วงดนมวัวไปได้เลย

เมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆ กลับไปกินอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนเปลี่ยนกลับทันที เพราะอาจกลับไปท้องเสียใหม่ได้ ในกรณีที่ลูกดูดนมแม่  สามารถให้ได้ตามปกติ ไม่ต้องงด

คอยระวังก้นแดงจากการถ่ายบ่อย  ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีอย่าแช่นาน และควรพาไปล้างก้นด้วยน้ำธรรมดา ไม่ต้องอุ่นและไม่ต้องใช้สบู่ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งเป็นผื่นง่าย  อาจทาวาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลเคลือบผิวบริเวณก้น เพื่อช่วยบรรเทาการระคาย-เคืองจากเศษอุจจาระ จะช่วยป้องกันไม่ให้ก้นแดงได้

ห้ามให้ยาหยุดถ่ายในเด็ก เพราะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างในร่างกายจนเป็นอันตรายหรือมีอาการปวดมวนท้องมากขึ้น

อ่านต่อ >> อาการน่าห่วงที่ต้องพาลูกไปพบหมอ หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ลูกมีอาการจากไวรัสลงกระเพาะแบบไหนที่ต้องพาลูกไปพบคุณหมอ 

  1. ลูกยังอาเจียนอยู่ทั้งที่กินยาแก้อาเจียนแล้ว
  2. ไม่อาเจียนแล้ว แต่ก็กินอะไรไม่ได้เลย ซึมลง อ่อนเพลียมาก มีอาการของการขาดน้ำ และปัสสาวะออกน้อย
  3. ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด กลิ่นแรง เหม็นคาว หรือถ่ายรุนแรงมากเป็นน้ำตลอดเวลา ควรนำอุจจาระไปโรงพยาบาลด้วย เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเพาะเชื้อ

การรักษาไวรัสลงกระเพาะในเด็กเล็ก

หมอจะฉีดยาแก้อาเจียนเข้ากล้ามเนื้อต้นขาหรือสะโพก  สังเกตอาการประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วให้ลองจิบน้ำ ถ้าไม่มีอาเจียนอีกให้กลับไปดูอาการต่อที่บ้านได้ ยาฉีดจะออกฤทธิ์นาน 6 ชั่วโมง เมื่อใกล้หมดฤทธิ์ยาฉีด ให้ยาแก้อาเจียนกินต่อเนื่องอีกประมาณ 1 – 2 วันแต่ถ้าฉีดยาแล้วยังมีอาเจียนอีก  หรือไม่อาเจียนแล้วแต่ไม่ยอมกินอะไรเลย หมอจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลแล้วให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและพลังงาน

หมอจะตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินภาวะขาดน้ำและพลังงาน หากพบว่ามีภาวะขาดน้ำและพลังงานขั้นรุนแรงจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล

หมออาจสั่งยา Infloran ซึ่งเป็นเชื้อ lactobacilli ช่วยปรับสภาพลำไส้ในกรณีที่มีภาวะท้องเสียเรื้อรังเนื่องจากการดูดซึมบกพร่อง

อ่านต่อ >> วิธีป้องกันลูกป่วยจากไวรัสลงกระเพาะ หน้า 4

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

จะป้องกันไม่ให้ลูกป่วยจากโรคไวรัสลงกระเพราะ ได้อย่างไรบ้าง?

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก
  2. กินแต่อาหารที่ปรุงสุก ไม่มีแมลงวันตอม
  3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้เป็นโรค  และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสโรค
  4. ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคนี้ในเด็กเล็ก เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน
  5. ให้ลูกดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัส  และแบคทีเรีย รวมถึงลดโอกาสการปนเปื้อนจากภาชนะที่ไม่สะอาด

 

การเจ็บป่วยของเด็กๆ อาจไม่ใช่เรื่องเล็กที่พ่อแม่จะมองข้ามกันไป เพราะทุกครั้งที่ป่วยไข้ ไม่สบาย อาจแฝงไว้ด้วยโรคแทรกซ้อนที่อาจอันตรายถึงชีวิต  ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือการให้ลูกได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค  แบคทีเรีย ที่สำคัญสุดในการสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพให้กับลูกนั่นคือ ให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด  เพราะน้ำนมแม่คือวัคซีนธรรมชาติที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันลูกไม่ให้เจ็บป่วยได้ง่ายๆ ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ฉีดวัคซีนป้องกันไอกรน ให้ครบ ป้องกันลูกป่วย
ลูกป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเพราะว่ายน้ำ
กรดไหลย้อน ทารกป่วยง่าย อันตรายกว่าที่คิด