AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ค้นสาเหตุ-แก้ปัญหา: ลูกไม่ยอมพูดเสียที

ลูกไม่ยอมพูด ลูกพูดช้า พัฒนาการช้า

Q: ลูกไม่ยอมพูด ทั้งที่อายุ 1 ขวบ 8 เดือนแล้ว เอาแต่พยักหน้า ส่ายหน้าและชี้ อย่างนี้ถือว่าพูดช้าแล้วใช่หรือไม่ ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีคะ ต้องปรึกษาแพทย์หรือพาเขาไปตรวจอะไรดี

เด็กปกติจำนวนหนึ่งยังไม่พูดจนอายุ 2 – 3 ขวบ ก็มีค่ะ (ลูกและหลานของหมอเอง) แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเข้าใจคำสั่งหรือคำถาม สบตาผู้อื่นได้ดี เวลาอยากได้อะไรจะใช้ภาษากาย เช่น ชี้หรือจูงมือพาไป และมีพฤติกรรมที่เลียนแบบการกระทำของผู้อื่นได้ เช่น เล่นสมมุติคุยโทรศัพท์ ถ้าทำได้ แสดงว่าลูกไม่ผิดปกติอะไร เป็นแค่ความหลากหลายแตกต่างของพัฒนาการแต่ละด้านในเด็กแต่ละคนเท่านั้น เช่น บางคนที่พูดได้เร็ว อาจเดินช้า แต่บางคนที่เดินเร็ว อาจพูดได้ช้ากว่าคนอื่น เป็นต้น

ลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูด

6 สาเหตุ ลูกไม่ยอมพูด หรือพูดช้า

1. หูตึงหรือหูหนวก

อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดจากการติดเชื้อที่หูชั้นกลางบ่อยๆ หากสงสัยว่าลูกไม่ได้ยินให้พาไปตรวจที่แผนกหู เพื่อการวินิจฉัยและใส่เครื่องช่วยฟัง

2. สมองพิการ

ลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูด

เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โครโมโซมผิดปกติแต่กำเนิด ภาวะขาดออกซิเจน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะตัวเหลืองมากผิดปกติ การติดเชื้อหรือการได้รับอุบัติเหตุที่สมอง การได้รับสารพิษ เช่น สารปรอท สารตะกั่ว ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าทุกๆ ด้าน ส่วนใหญ่แก้ไขให้กลับมาเป็นปกติไม่ได้ แต่ช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ด้วยนักกายภาพบำบัด นักฝึกพูด และนักกระตุ้นพัฒนาการ

อ่านต่อ “สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า ข้อ 3-6” คลิกหน้า 2

3. ขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้องตามวัย

เช่น รู้ใจเด็กมากเกินไป ไม่มีคนคอยพูดคุยด้วย อยู่กับพี่เลี้ยงต่างด้าว ดูทีวีหรือติดมือถือ-แท็บเล็ต วิธีแก้ไข คือ งดดูทีวี-มือถือ-แท็บเล็ต ให้พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กให้มากขึ้น ฝึกอ่านหนังสือนิทานด้วยกันทุกวัน (อ่านต่อ เรากำลังเลี้ยงลูกให้เป็น “ออทิสติกเทียม” ด้วย ทีวี แท็บเล็ต และเร่งเรียน หรือเปล่า?)

4. เป็นบ้านที่มีการพูดหลายภาษา

อาจทำให้เด็กบางคนไม่แน่ใจ เกิดความลังเลในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังก็สามารถพูดได้ทั้งหมดทุกภาษา

ลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูด

5. เป็นพันธุกรรม

อาจมีพ่อหรือแม่มีประวัติพูดช้าเช่นเดียวกัน เป็นประเภทม้าตีนปลาย เดี๋ยวพูดได้จะพูดไม่หยุด

6. ภาวะออทิสติก

นอกจากลูกไม่ยอมพูด ก็มักมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ขาดการสบตา ไม่ชอบเล่นกับคนชอบอยู่ในโลกส่วนตัว ชอบทำอะไรซ้ำซากและเป็นการเล่นที่ขาดจินตนาการ แก้ไขโดยการฝึกพูดและฝึกพัฒนาการด้านการสื่อสารกับผู้อื่น

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: Shutterstock