ทำอย่างไรกันดีเมื่อ ลูกไม่กินข้าว ไม่กินอะไร นอกเสียไปจากนม … คุณหมอสุธีรา มีคำแนะนำจากประสบการณ์ตรงมาฝากกันค่ะ
ปัญหาโลกแตกของทุกครอบครัว เมื่อลูกน้อยออกอาการ ไม่อยากกินข้าว ไม่อยากผลไม้ นอกจากนม! ซึ่งวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะขอหยิบยกเรื่องราวของคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดมาฝากกันค่ะ โดยคุณหมอเล่าว่า
ลูกชายหมออายุ 6 ขวบ มีนิสัยไม่ชอบกินผักผลไม้โดยสมัครใจที่ผ่านมาต้องใช้วิธีต่อรองบ้าง ติดสินบนบ้าง ก็พอกินได้บ้าง แต่พอเข้า ป.1 อาจเพราะเรียนหนักขึ้น เลิกเรียนลูกจะหิวโซ ตอนไปรับกลับบ้าน อยู่บนรถเจ้าลูกชายหยิบผลไม้กินเอง เคี้ยวตุ้ย ๆ เพราะความหิวค่ะ ไม่ต้องคะยั้นคะยอเลย ส่วนลูกสาวเธอกินได้ทุกอย่าง แต่ช้ามาก ถ้าวันไหนออกกำลังกายจะกินได้เร็วมากเป็นพิเศษ สำหรับวิธีการรับมือนั้น คุณหมอแนะนำดังนี้ค่ะ
ลูกไม่กินข้าว รับมืออย่างไร?
- ถ้าอยากให้ลูกกินข้าวเพิ่มขึ้น ต้องทำให้ลูกหิว
- อย่าปล่อยให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จำกัดปริมาณนมไม่ให้เกินวันละ2 – 3 กล่อง
- ถ้าลูกกินจากขวดอยู่ควรเลิกได้แล้ว ถ้าลูกกินนมตอนกลางคืน นมรสหวาน นมเปรี้ยว ให้เลิกเช่นกัน แน่นอนว่าลูกต้องร้องไห้ ประท้วงและอาจงอนไม่ยอมกินข้าวเพิ่มขึ้น แต่เขาจะเป็นอยู่ไม่นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ น้ำหนักตัวลดลงก็ไม่ต้องกังวลค่ะ
- ควรฝึกให้ลูกกินข้าวเอง โดยเอามานั่งกินพร้อมหน้าพร้อมตากับเด็กหลาย ๆ คน อาจช่วยให้กินได้ดีขึ้น
- ถ้าลูกไม่กินหรือกินได้น้อย แต่ถึงเวลาที่กำหนดคือ 30 นาที ให้เก็บจานได้เลย ไม่ต้องต่อว่า ให้ทำเฉย ๆ ไม่ต้องกลัวลูกไม่อิ่ม จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ผลของการกระทำว่า ถ้าไม่กินก็ไม่มีใครเดือดร้อนนอกจากตัวลูกเองที่จะรู้สึกหิว โดยไม่ได้รับนมเพิ่มขึ้น ระหว่างมื้อ ลูกร้องไห้งอแง ตื๊อ ขอกินนมเพิ่มขึ้นก็ต้องใจแข็งค่ะมื้อต่อ ๆ มาลูกจะค่อย ๆ กินได้มากขึ้น
ในระหว่างที่ ลูกไม่กินข้าว หรือยังกินได้น้อย ให้คุณแม่เสริมวิตามินรวมและธาตุเหล็กไปก่อน เพื่อไม่ให้ขาดวิตามินและสารสำคัญต่อร่างกาย
นอกเหนือจากนี้ในเด็กเล็ก ที่อาจจะเพิ่งรับประทานอาหารเสริม ก็อาจจะยังไม่ถูกปากหรือรู้สึกไม่คุ้นเคยเสียเท่าไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่คอยเลือกสรรเมนูให้เหมาะสมกับวัยของลูกแล้วละค่ะ สำหรับหลักเกณ์ที่ว่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- เลือกให้เหมาะสมกับวัย ควรให้ลูกเริ่มทานอาหารเสริมเมื่อลูกมีอายุครบ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบการย่อยอาหาร และระบบไตนั้นเริ่มมีความพร้อมมากขึ้น สำหรับมื้อแรก ๆ นั้น ควรเลือกให้ลูกทานอาหารเหลวก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับให้มีระดับความข้นมากขึ้น จนไปถึงการเคี้ยว เป็นต้น
- ปล่อยให้ลูกหยิบจับอาหารเอง ลูกจะได้ตื่นตาตื่นใจกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้อนส้อม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ลูกจะได้ก็คือ พัฒนาการด้านประสาทสัมพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้ หรือสัมผัส หรือแม้แต่รสชาติมีการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น
- จัดจำนวนมื้ออาหารให้เหมาะสมกับวัยของลูก ยกตัวอย่างเช่น ทารก 6 เดือนควรเริ่มอาหารเสริมเป็นจำนวน 1 มื้อก่อนค่ะ พอ 7 – 8 เดือนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนมื้อออกเป็น 1-2 มื้อ เป็นต้น
- ปรับลดมื้อนมเมื่อเพิ่มมื้ออาหาร เช่น อาหาร 1 มื้อ นม 5 มื้อ, อาหาร 2 มื้อ นม 4 มื้อ, อาหาร 3 มื้อ นม 3 มื้อ
- ทานอาหารเป็นมื้อ ๆ ให้ครบตามเวลา จะได้เป็นการฝึกวินัยให้กับลูกไปในตัว
- หากลูกอิ่มก็อย่าไปฝืนบังคับให้ลูกทานให้หมด เป็นต้น
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ลูกไม่กินข้าว?
สาเหตุที่ ลูกไม่กินข้าว นั้นอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ค่ะ
- การเลือกกิน ลูกอาจจะไม่ชอบอาหาร กลิ่นหรือรสชาติที่คุณแม่หรือคนครอบครัวทำไว้
- ไม่อยากกินของใหม่ ๆ อยากจะกินแต่ของเดิม ด้วยรสชาติที่คุ้นเคยมากกว่าต้องลิ้มลองของใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จัก
- แพ้อาหาร ทราบไหมคะว่า โอกาสที่เด็กเล็ก ๆ จะแพ้อาหารนั้นมีมากถึงร้อยละ 8 ที่สามารถเกิดได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่ ข้าวสาลี ถั่วชนิดต่าง ๆ และอาหารทะเลเป็นต้น
- โรคกลัวอาหาร ด้วยความวิตกกังวลที่มีอยู่ในใจ อาจจะส่งผลทำให้ลูกรู้สึกลัวอาหาร หรือบางที กลัวว่าตัวเองจะทานไม่ได้ หรือติดคอ เป็นต้น
- ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการกิน ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลให้เด็กรับประทานลำบาก โดยอาจดูด เคี้ยว หรือกัดอาหารไม่ถนัด สำลักหรือรู้สึกพะอืดพะอมเมื่อรับประทานอาหาร รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการท้องผูก หากพ่อแม่สังเกตว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามอาการ
- สาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ดังนี้
- ไม่ชอบรสสัมผัสของช้อนหรือส้อมเมื่อนำเข้าปากและแตะลิ้น
- ไม่ชอบอาหารที่บดจนละเอียด
- รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหารในปริมาณมากที่มากจนเกินไป
- สิ่งเร้ารอบข้างดึงความสนใจการรับประทานอาหารของเด็ก เช่น เสียงโทรทัศน์ หรือเด็กเล่นกันในบ้าน
- ไม่ชอบกลิ่นบางอย่างของอาหารบางชนิด
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มาถึงตอนนี้ทีมงานเชื่อว่า ข้อมูลที่เรานำมาฝากในวันนี้ จะช่วยลดปัญหา ลูกไม่กินข้าว ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ
ขอบคุณที่มา: คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ และ พบแพทย์
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
- 10 วิธีรับมือ ลูกดื้อ ตามแบบฉบับคุณแม่ยุคใหม่!
- ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง ให้ทำไรก็ไม่ทำ พบ 9 วิธีสยบความดื้อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่