ลูกไม่กินข้าว รับมืออย่างไร?
- ถ้าอยากให้ลูกกินข้าวเพิ่มขึ้น ต้องทำให้ลูกหิว
- อย่าปล่อยให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จำกัดปริมาณนมไม่ให้เกินวันละ2 – 3 กล่อง
- ถ้าลูกกินจากขวดอยู่ควรเลิกได้แล้ว ถ้าลูกกินนมตอนกลางคืน นมรสหวาน นมเปรี้ยว ให้เลิกเช่นกัน แน่นอนว่าลูกต้องร้องไห้ ประท้วงและอาจงอนไม่ยอมกินข้าวเพิ่มขึ้น แต่เขาจะเป็นอยู่ไม่นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ น้ำหนักตัวลดลงก็ไม่ต้องกังวลค่ะ
- ควรฝึกให้ลูกกินข้าวเอง โดยเอามานั่งกินพร้อมหน้าพร้อมตากับเด็กหลาย ๆ คน อาจช่วยให้กินได้ดีขึ้น
- ถ้าลูกไม่กินหรือกินได้น้อย แต่ถึงเวลาที่กำหนดคือ 30 นาที ให้เก็บจานได้เลย ไม่ต้องต่อว่า ให้ทำเฉย ๆ ไม่ต้องกลัวลูกไม่อิ่ม จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ผลของการกระทำว่า ถ้าไม่กินก็ไม่มีใครเดือดร้อนนอกจากตัวลูกเองที่จะรู้สึกหิว โดยไม่ได้รับนมเพิ่มขึ้น ระหว่างมื้อ ลูกร้องไห้งอแง ตื๊อ ขอกินนมเพิ่มขึ้นก็ต้องใจแข็งค่ะมื้อต่อ ๆ มาลูกจะค่อย ๆ กินได้มากขึ้น
ในระหว่างที่ ลูกไม่กินข้าว หรือยังกินได้น้อย ให้คุณแม่เสริมวิตามินรวมและธาตุเหล็กไปก่อน เพื่อไม่ให้ขาดวิตามินและสารสำคัญต่อร่างกาย
นอกเหนือจากนี้ในเด็กเล็ก ที่อาจจะเพิ่งรับประทานอาหารเสริม ก็อาจจะยังไม่ถูกปากหรือรู้สึกไม่คุ้นเคยเสียเท่าไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่คอยเลือกสรรเมนูให้เหมาะสมกับวัยของลูกแล้วละค่ะ สำหรับหลักเกณ์ที่ว่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- เลือกให้เหมาะสมกับวัย ควรให้ลูกเริ่มทานอาหารเสริมเมื่อลูกมีอายุครบ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบการย่อยอาหาร และระบบไตนั้นเริ่มมีความพร้อมมากขึ้น สำหรับมื้อแรก ๆ นั้น ควรเลือกให้ลูกทานอาหารเหลวก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับให้มีระดับความข้นมากขึ้น จนไปถึงการเคี้ยว เป็นต้น
- ปล่อยให้ลูกหยิบจับอาหารเอง ลูกจะได้ตื่นตาตื่นใจกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้อนส้อม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ลูกจะได้ก็คือ พัฒนาการด้านประสาทสัมพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้ หรือสัมผัส หรือแม้แต่รสชาติมีการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น
- จัดจำนวนมื้ออาหารให้เหมาะสมกับวัยของลูก ยกตัวอย่างเช่น ทารก 6 เดือนควรเริ่มอาหารเสริมเป็นจำนวน 1 มื้อก่อนค่ะ พอ 7 – 8 เดือนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนมื้อออกเป็น 1-2 มื้อ เป็นต้น
- ปรับลดมื้อนมเมื่อเพิ่มมื้ออาหาร เช่น อาหาร 1 มื้อ นม 5 มื้อ, อาหาร 2 มื้อ นม 4 มื้อ, อาหาร 3 มื้อ นม 3 มื้อ
- ทานอาหารเป็นมื้อ ๆ ให้ครบตามเวลา จะได้เป็นการฝึกวินัยให้กับลูกไปในตัว
- หากลูกอิ่มก็อย่าไปฝืนบังคับให้ลูกทานให้หมด เป็นต้น