AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จัดการปัญหาสุดฮิต ลูกดูดนิ้วไม่เลิกรา

ในชีวิตการเป็นหมอเด็ก ปัญหาดูดนิ้วเป็นคำถามสุดฮิตอันดับต้นๆ เพราะพบบ่อยมาก

 
ลูกชายคนเล็กของหมอเองก็ชอบดูดนิ้วจนอายุ2 ขวบ (ลูกสาวคนโตไม่เป็นค่ะ ทั้งที่พ่อแม่เดียวกันเลี้ยงดูแบบเดียวกัน) คุณยายยังแซวว่าเป็นเพราะหมอมัวแต่ทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูก ลูกเลยมีปมด้อยติดดูดนิ้ว เคยลองทาฟ้าทะลายโจรและบอระเพ็ดแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะลูกดูดจนจืด

 
สุดท้าย คุณยายใช้วิธีทายาหมึกม่วงที่มือทั้งสองข้าง (Gentian Violet) ซึ่งเป็นยาโบราณใช้ทาเชื้อราในปาก ไม่เป็นอันตราย เมื่อลูกเอามือเข้าปากดูด ปากและฟันก็จะเป็นสีม่วงล้างก็ไม่ออก ทาซ้ำทุกวันเป็นเวลา 3 วันต่อเนื่อง ช่วงนั้นลูกจะร้องไห้โวยวายให้พาไปล้างมือ แต่สีก็ไม่หลุดอยู่ดี จากนั้นลูกก็เลิกดูดนิ้วไปเลย เพราะกลัวสีม่วงๆ ดำๆ

 
ช่วงนี้ต้องให้ความสนใจลูกมากขึ้น พยายามหากิจกรรมที่ใช้มือทำเพื่อให้ลูกไม่เบื่อไม่เหงา ลูกจะได้ไม่หงุดหงิด งอแงที่ไม่ได้ทำสิ่งที่เคยชินเช่น โยน-รับลูกบอลระบายสี ร้อยเชือกต่อเลโก้ คุณแม่ลองใช้วิธีนี้ดูได้ค่ะ เพราะลูกกำลังอายุใกล้เคียงกับลูกของหมอตอนที่ใช้วิธีนี้ได้ผลแต่หากเป็นเด็กที่เล็กมากๆ อาจไม่รู้เรื่อง มือสีดำๆ ม่วงๆ ฉันก็ไม่แคร์ ก็อาจไม่ได้ผล คงต้องใช้วิธีล่อหลอกให้เล่นอะไรเพลินๆ เพื่อให้ดูดนิ้วน้อยลงไปเรื่อยๆ

 
เด็กที่ชอบดูดนิ้วพบได้บ่อยทั้งในเด็กปกติเด็กขาดความอบอุ่น และเด็กสมองทึบ สาเหตุที่ลูกชอบดูดนิ้วในเด็กปกติส่วนใหญ่เป็นเพราะเขาค้นพบโดยบังเอิญว่า การดูดนิ้วช่วยแก้เหงาแก้เบื่อ ช่วยกล่อมตัวเองให้หลับได้ง่าย

 
อันตรายของการดูดนิ้ว ได้แก่ การได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ปาก ทำให้ป่วยบ่อย ทำให้ฟันผิดรูปเช่น ฟันเหยิน ฟันเก ช่องปากผิดรูป ปากเจ่อเพดานปากโค้งผิดรูป นิ้วมือเป็นแผลหรือด้านทำให้พูดช้าหรือพูดไม่ชัด น้ำลายไหลยืด เสียบุคลิกภาพ ถูกล้อเลียน พัฒนาการด้านการใช้มือช้ากว่าวัย เนื่องจากไม่ได้ใช้มือทำกิจกรรมต่างๆอาจมีปัญหากินยาก น้ำหนักขึ้นน้อย เนื่องจากดูดนิ้วจนไม่อยากดูดนม ไม่อยากกินข้าว

 
กรณีเด็กปกติ หากไม่บังคับ แต่ปล่อยให้ลูกดูดนิ้วไปเรื่อยๆ โดยพยายามหากิจกรรมเสริมทักษะตามวัยให้ลูกไม่เบื่อ ลูกจะเลิกดูดนิ้วได้เองเมื่ออายุประมาณ 4 – 5 ขวบ เพราะเขาเริ่มรู้จักหากิจกรรมอื่นทำแก้เหงาหรือเบื่อเองได้ เริ่มรู้จักนอนหลับได้ด้วยตัวเอง เรื่องโครงสร้างของฟันและปากจะดีขึ้นได้เองก่อนฟันแท้จะมา ส่วนแผลที่นิ้วหรือนิ้วด้านก็จะหายได้

 
บางคนเลิกดูดนิ้วเวลากลางวันได้แล้ว แต่ยังคงดูดเวลาก่อนนอนเพื่อใช้กล่อมตัวเองให้หลับกรณีนี้อาจปล่อยให้ลูกดูดไปก่อน เนื่องจากปัญหาติดเชื้อโรคน้อยลงไปมาก เพราะลูกล้างมือสะอาดก่อนเข้านอน จะได้ไม่ต้องหักหาญน้ำใจลูก ในที่สุดเมื่อลูกโตขึ้นจะมีทักษะในการหลับได้เองโดยไม่ดูด

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด