AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รู้ได้อย่างไร ลูกพร้อมไปโรงเรียน

ไม่ได้จองโรงเรียนหรืออะไรให้ลูกทั้งนั้น ลูกจำเป็นต้องไปอะไรแบบนี้มั๊ย และคุณแม่ควรรีบไปจองโรงเรียนอนุบาลหรือยังคะ ฝ่ายคุณสามีก็ท้วงว่าไม่ต้องรีบร้อน เพราะหลายประเทศเขาให้เด็กไปโรงเรียนตอนอายุ 5 ขวบด้วยซ้ำไป คุณหมอมีคำแนะนำหรือความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรคะ

 
เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องเกี่ยวกับการส่งลูกเข้าศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลว่าควรไปอนุบาลตั้งแต่อายุเท่าไหร่ แถมถ้าเป็นคุณแม่ในเขตเมือง ก็ยังมี Play group ที่ผุดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพ เหตุผลที่ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะต้องให้พิจารณาโดยอาศัยเงื่อนไขของเด็กและครอบครัว ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ดังต่อไปนี้ค่ะ

· รูปแบบของครอบครัว เป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย ใครเป็นคนหลักในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น คุณแม่ คุณพ่อ ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่เลี้ยงเด็ก หากเป็นช่วงที่พ่อแม่ไปทำงาน ใครเป็นคนช่วยเลี้ยง เพราะบางครอบครัวไม่สามารถหาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้มาช่วยเลี้ยงลูกเล็ก จึงอาจต้องพาไปศูนย์เด็กเล็กเร็วกว่าครอบครัวอื่น

· ทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก หมอพบว่ามีหลายครอบครัวมีทักษะในการดูแลเด็ก ทั้งเรื่องพื้นฐานทั่วไป เช่น การกิน การนอน เป็นต้น หรือเรื่องที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก คือ ทักษะในการเล่น และส่งเสริมพัฒนาการให้เด็ก ในขณะที่มีคุณแม่คุณพ่อหลายคนมาสารภาพว่าเล่นกับเด็ก หรืออยู่ร่วมกับเด็กไม่เป็น ทำให้หลายครอบครัวหันไปฝากเด็กไว้กับแท็บเล็ต สมาร์ตโฟนเลี้ยงเด็ก โทรทัศน์ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก การไปศูนย์เด็กเล็ก หรือ Play group ที่มีคุณภาพก็อาจเป็นทางออกหนึ่งที่นอกจากจะดึงเด็กให้ห่างจากหน้าจอแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน

· สิ่งแวดล้อม ที่เด็กอาศัยอยู่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (พื้นที่สำหรับให้เด็กได้เล่น) และสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น กลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน กลุ่มผู้ใหญ่ที่ช่วยสนับสนุน เป็นต้น หมอเคยเห็นจากคุณแม่ที่อยู่ในคอนโดที่มีการรวมกลุ่มแม่และลูกเล็กกัน ทำให้เด็กมีสังคม ได้เล่นหรือแค่ได้อยู่ใกล้ๆ กันก็เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมให้เด็กได้ดี

อย่างไรก็ตาม หากลูกจำเป็นต้องไปศูนย์เด็กเล็ก หรือคุณแม่วางแผนจะพาไปโรงเรียนอนุบาลในอนาคต ควรคำนึงถึงปัจจัย ดังต่อไปนี้ค่ะ

· โรงเรียนใกล้บ้าน เป็นปัจจัยแรกๆ ที่ต้องคำนึงถึง เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางค่ะ

· รูปแบบการดูแลเด็ก และรูปแบบการพัฒนาเด็ก (ในกรณีโรงเรียนอนุบาล) คุณแม่ควรหาโอกาส ไปสำรวจว่าศูนย์ฯ หรือโรงเรียนนั้นมีรูปแบบการพัฒนาเด็กอย่างไร (เร่งเนื้อหาวิชาการ หรือเตรียมความพร้อม) หากโรงเรียนอนุญาต อาจขอเข้าสังเกตช่วงที่มีเด็กมาเรียน

· บุคลากรในโรงเรียน คนสำคัญที่สุด คือ คุณครู และครูพี่เลี้ยงว่ามีบุคลิกลักษณะอย่างไร เข้าใจเด็ก และพูดกับเด็กอย่างไร รวมถึงเทคนิคในการจูงใจและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

· การสื่อสารระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพราะเด็กเล็กยังต้องการการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ดังนั้น จึงควรมีการสื่อสารระหว่างกัน เช่น บันทึกประจำวัน การประชุมผู้ปกครอง นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณพ่อคุณแม่ควรติดต่อใคร (อาจเป็นผู้จัดการโรงเรียนหรือครูใหญ่)

· นโยบายของโรงเรียน เช่น นโยบายในการดูแลความปลอดภัย นโยบายในการควบคุมความสะอาดนโยบายเกี่ยวกับจำนวนครูต่อนักเรียน การป้องกันการลักพาตัวเด็ก เป็นต้น

· สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์เครื่องเล่นและของเล่นเด็ก ควรมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับเด็ก อุปกรณ์เครื่องเล่นได้รับการดูแลให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อเด็ก และของเล่นภายในศูนย์หรือโรงเรียนมีความหลากหลายและปริมาณเพียงพอ

ตอบคำถามคุณแม่โดยเฉพาะ

กรณีของคุณแม่ที่มีลูกอายุ 1 ขวบ 10 เดือน และลูกยังมีความสุขในการเล่นและเรียนรู้อยู่กับผู้ใหญ่ที่บ้านอาจยังไม่รีบไปโรงเรียน เพียงแต่คุณแม่ต้องคอยจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของลูก ทั้งนี้ กิจกรรมควรมีความหลากหลาย เช่น กิจกรรมนอกบ้าน กิจกรรมนั่งโต๊ะ กิจกรรมเคลื่อนไหว การเล่นกับของเล่น เป็นต้น รวมทั้งอาจต้องมีกิจกรรมแบบเดี่ยว กิจกรรมแบบกลุ่ม (โดยนัดรวมพล (คนมีเด็ก) พาเด็กๆ มารวมกลุ่มกัน หรือพาเขาไปเล่นร่วมกับเด็กหลากหลายวัย โดยเขาอาจแค่เล่นใกล้ๆ กันแต่ยังไม่ได้เล่นด้วยกัน)

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง