มีคุณแม่จากทางบ้านเล่าให้ฟังว่าลูกอายุได้ 3 ขวบ จู่ๆ ติดดูดนิ้วมือขึ้นมาทั้งที่ตอนเล็กๆ ก็ไม่เป็น แต่ตอนนี้ ลูกดูดนิ้วมือ ดูดได้ดูดดีไม่ยอมเลิก คุณแม่เริ่มกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อฟันซี่ของเขาหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้เขาลด ละ เลิกได้ เพราะหากไม่เลิกดูดนิ้วก่อนฟันแท้ขึ้นมา อาจจะส่งผลต่อฟันถาวร
ทำไม? ลูกดูดนิ้วมือ
เด็กทารกในวัย 0-1 ปี อยู่ในระยะ oral stage เด็กจะมีความสุขกับการดูด และการอิ่มท้อง การที่เด็กในวัยนี้เอานิ้วมือเข้าปากเกิดจากเหตุผลหลายประการ ทั้งเป็นการสำรวจนิ้วมือของตัวเอง หรือคันเหงือกจากฟันที่กำลังจะขึ้น รวมทั้งใช้แทนการสื่อสารว่า “หนูหิวแล้ว” อาการดูดนิ้วของเด็กในช่วงขวบปีแรกจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะลดลงไปเองในช่วง 2-4 ปี แต่ถ้า ลูกดูดนิ้วมือ ไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี อาจส่งผลเสียกับเด็กได้ ดังนี้
1.โรคติดเชื้อ เพราะดูดเชื้อโรคที่อยู่ที่มือ เช่น หวัด คออักเสบ ลำไส้อักเสบ โรคมือเท้าปาก โรคพยาธิ โดยเฉพาะโรคมือเท้าปากที่เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
2.ผิวหนังที่นิ้วอักเสบ เป็นแผลเรื้อรัง ยิ่งถ้าลูกน้อยชอบกัดนิ้วอาจทำให้เกิดแผลหนองขึ้น หากไม่รีบรักษาแล้วไปสัมผัสสิ่งสกปรกก็จะยิ่งติดเชื้อมากขึ้นไปอีก
3.เสียบุคลิกภาพ พัฒนาการไม่สมวัย เช่น พูดน้อยลง กินน้อยลง เพราะใช้ปากดูดนิ้วอยู่ จึงไม่อยากกิน ไม่อยากพูด ยื่งถ้าเข้าอนุบาลอาจถูกล้อเลียนเรื่องดูดนิ้วได้
4.ฟันผิดปกติ หาก ลูกดูดนิ้วมือ บ่อย อาจส่งผลต่อเหงือกและฟัน ทำให้ฟันยื่นเหยิน การสบฟันผิดปกติ เคลือบฟันสึกกร่อน และอาจทำให้ฟันผุง่ายขึ้นจากการดูดนิ้ว
อ่าน “วิธีทำให้ลูกเลิกดูดนิ้วฉบับพ่อแม่” คลิกหน้า 2
วิธีทำให้ลูกเลิกดูดนิ้วฉบับพ่อแม่
• งดการว่ากล่าว ดุ ขู่ สิ่งที่ควรทำคือ ไม่พูดถึง เพราะการพูดถึงเท่ากับเป็นการเตือนให้ทำบ่อยขึ้น ยิ่งเพิ่มความเครียดให้ลูก เมื่อเครียดเขาจะยิ่งดูดนิ้วมากขึ้น เพื่อระบายความเครียด
• สังเกตเพื่อนในห้องว่ามีใครดูดนิ้วอีกบ้าง เพราะอาจเลียนแบบกัน ถ้ามีควรบอกให้คุณครูจัดให้อยู่ห่างจากกัน
• หากิจกรรมให้ทำ เล่นกับลูกบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ลูกเหงา เพราะการดูดนิ้วเป็นวิธีกระตุ้นตัวเองที่เด็กๆชอบทำเวลาเบื่อๆ ไม่มีอะไรจะทำ หาทางเบี่ยงเบนความสนใจจากการดูดนิ้ว ด้วยกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำ เช่น วาดภาพ ระบายสี ต่อเลโก้ ต่อจิ๊กซอว์ กิจกรรมกลางแจ้ง เช่น วิ่งเล่น เตะบอล ขี่รถสามล้อ ว่ายน้ำ เล่นน้ำ เป็นต้น และลดหรืองดกิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกดูดนิ้ว เช่น การดูทีวี
• หาวิธีให้ลูกรู้จักเตือนตัวเองให้หยุด ถ้ากำลังจะเผลอทำอีก เช่น การทาเล็บด้วยสีที่ไม่เป็น อันตรายสำหรับเด็กหญิง การใส่สายที่ข้อมือ (เลือกแบบที่ไม่เป็นอันตรายติดคอ) พอยกมือขึ้นจะดูดนิ้วเห็นสายที่ข้อมือเป็นเครื่องเตือนไม่ให้ดูดนิ้ว เป็นต้น
• ชมเชย และให้รางวัล เมื่อลูกสามารถลดพฤติกรรมได้บ้าง เพื่อเป็นกำลังใจนำไปสู่การเลิกได้ในที่สุด
อ่าน “เคล็ดลับจัดการนิสัยดูดนิ้วจากคุณหมอ” คลิกหน้า 3
เคล็ดลับจัดการนิสัย ลูกดูดนิ้วมือ จากคุณหมอ
หนังสือ “การจัดการนิสัยดูดนิ้วสำหรับทันตแพทย์” เขียนโดย รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการนิสัยดูดนิ้ว เอาไว้ดังนี้
1.การดูดนิ้วในเด็กอายุ 1 ปี เป็นพฤติกรรมที่ปกติ
2.นิสัยดูดนิ้วมือ สามารถเลิกได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี
3.ถ้าเด็กหยุดการดูดนิ้วได้ก่อนอายุ 4 ปี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดูดนิ้ว (ที่อาจทำให้ฟันหน้าบนเริ่มยื่นนั้น) จะเป็นเพียงชั่วคราว
4.ถ้าอายุเกิน 4 ปีแล้วยังคงดูดนิ้ว จะพบความผิดปกติของการสบฟันรุนแรงขึ้น เช่น ฟันหน้าบนยื่น และสบเปิด (ฟันหน้าบนยกขึ้นจนกัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้)
5.การรักษาโดยทันตแพทย์จะเริ่มในช่วงเด็กอายุ 4-6 ปีไปแล้ว
6.เด็กเล็กวัยก่อน 4 ปี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกลดการดูดนิ้ว
- หากลูกดูดนิ้วในช่วงที่เหงาหรือกังวล ผู้ปกครองควรแสดงความรักโดยการโอบกอดเด็ก ให้ความมั่นใจ และเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากการดูดนิ้ว หากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือปากให้เด็กทำ
- หากลูกดูดนิ้วก่อนนอน เพราะเด็กพยายามกล่อมให้ตัวเองหลับ ผู้ปกครองควรเป็นผู้กล่อมให้ลูกหลับเองโดยเล่านิทาน ร้องเพลง กอดกันนอนและจับมือลูกไว้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือ ให้ลูกทำกิจกรรมในช่วงบ่ายจนเหนื่อย พอถึงเวลานอนก็พาเข้านอนตอนง่วงพอสมควรแล้ว จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น
7.การลงโทษ/ตำหนิ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งทำให้เด็กกังวลและดูดนิ้วมากขึ้น
8.เด็กบางรายเลิกดูดนิ้วได้เองจากการที่ผู้ปกครองเลิกสนใจกับการดูดนิ้วของเขา
9.การใส่ถุงมือผ้า การใช้ผ้าหรือเทปพันที่นิ้ว การดัดแปลงชุดนอนให้แขนเสื้อยาวมากเกินปกติ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการเลิกนิสัยดูดนิ้วและต้องการตัวช่วยให้เค้าไม่เผลอเอานิ้วเข้าปาก โดยเฉพาะตอนนอน
10.การให้รางวัล เป็นแรงเสริมสนับสนุนให้เด็กอยากเลิกดูดนิ้วได้ผลดีกว่าคำตำหนิหรือลงโทษ วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กวัยอนุบาลขึ้นไป อาจทำเป็นปฏิทินแล้วให้ดาวเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว หรือแม้แต่กำลังจะดูดแล้วแม่เตือนเบาๆลูกก็ไม่ดูด ก็ควรได้ดาว เมื่อสะสมดาวได้ครบ 10 ดวง 15 ดวง แล้วแต่จะตกลงกัน ก็จะได้รางวัลชิ้นหนึ่ง ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แต่เป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ ก็จะมีแรงจูงใจให้เด็กพยายาม
ข้อมูลอ้างอิง: ทพญ. กมลชนก เดียวสุรินทร์ ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
ลูกชอบดูดนิ้ว จนเป็นพยาธิ คันก้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
ลูกดูดนิ้ว ยันโต ส่งผลต่อโครงสร้างฟันและการพูด ..มาดูวิธีป้องกัน!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่