AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แก้ปัญหาโลกแตก ลูกกินข้าวยาก ลูกกินข้าวน้อย กันดีกว่า!

“ลูกไม่ยอมกินข้าว” “ลูกกินข้าวน้อย” ปัญหาโลกแตก เมื่อหวยมาออกที่ลูกเรา! ทำไมลูกถึงไม่ค่อยยอมกินข้าว แถมดูผอมลงๆ วันๆ เอาแต่เล่น จะทำอย่างไรดี…

วัยกำลังวิ่ง ห่วงเล่น ไม่ห่วงกิน

ปกติแล้ว เด็กบางคนช่วงอายุ 1-4 ขวบ น้ำหนักตัวจะขึ้นช้าลง เป็นเรื่องปกติเพราะช่วงนี้ลูกจะไม่ค่อยสนใจการกิน ห่วงแต่เล่นจนพลังงานหมด หากลูกมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย มีพัฒนาการสมวัย น้ำหนักส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์ และเป็นเด็กทื่กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ก็ไม่น่าเป็นห่วงค่ะ

แก้ปัญหา ลูกกินข้าวยาก หรือเลือกกิน ต้องอดทน!

คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนต่อเสียงเรียกร้องจะกินแต่ของชอบของลูกให้ได้ ปล่อยให้ลูกหิวจนถึงข้าวมื้อต่อไป จะได้กินข้าวเพิ่มขึ้น แต่อย่าคาดหวังว่าจะเห็นว่ากินได้มากขึ้นใน 2 วัน เพราะอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน น้ำหนักอาจจะลดลงบ้างในช่วงแรกก็ไม่ต้องตกใจค่ะ

อ่านต่อ “3 ข้อควรเลี่ยงถ้าลูกไม่กินข้าว” หน้า 2

 3 ข้อควรหลีกเลี่ยงถ้าลูกไม่ยอมกินข้าว

  1. น้ำหวานหรือนมระหว่างมื้อ เพราะทำให้ท้องน้อยๆ ของลูกเต็มอย่างรวดเร็ว (อ่านเพิ่มเติม “นม” ดื่มแค่ไหนถึงจะเหมาะ)
  2. ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน ของว่างต่างๆ ทำให้ลูกกินอย่างเพลิดเพลินจนไม่รู้สึกว่ามื้อหลักน่ากิน
  3. ถูกเบนความสนใจระหว่างกินข้าว เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับเด็กวัยนี้ที่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถรบกวนสมาธิและทำให้ไม่สนใจอาหารตรงหน้า เช่น ให้ดูทีวี มือถือ แท็บเล็ต

อ่านต่อ “12 เทคนิค ฝึกลูกรักการกิน” หน้า 3

12 เทคนิค ฝึกลูกให้รักการกิน+กินได้มากขึ้น

  1. เสิร์ฟอาหารทีละน้อยๆ ถ้ากลัวลูกไม่อิ่มค่อยเติมให้อีกทีหลัง
  2. ไม่เสิร์ฟของว่างระหว่างมื้อ
  3. จำกัดเครื่องดื่มระหว่างมื้อและในมื้ออาหาร ของเหลวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ นม หรือแม้แต่น้ำเปล่าก็กินพื้นที่ในกระเพาะทั้งนั้น
  1. ลอง Finger Food หรือของทานเล่นสำหรับเด็กที่ทำไว้เป็นชิ้นๆ ให้เด็กหยิบกินได้ด้วยตัวเอง เพราะการกินอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องความมั่นใจในตัวเอง เด็กๆ จะกินได้มากขึ้นถ้าเขาสามารถควบคุมจังหวะหรือปริมาณของอาหารที่จะเอาเข้าปากได้
  2. ทำให้น่าสนใจขึ้น เช่น เพิ่มสีสัน รูปร่าง หรือพื้นผิวของอาหารให้หลากหลาย (อ่านเพิ่มเติม เมนูอาหารน่ารัก 360 เมนู แก้ปัญหาลูกน้อยกินยาก)
  3. ลองให้ลูกกินอาหารแบบเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะลูกอาจจะเบื่ออาหารเด็กๆ ก็ได้นะคะ

อ่านต่อ “12 เทคนิค ฝึกลูกรักการกิน” หน้า 4

  1. รับประทานด้วยกัน ถ้าลูกต้องนั่งกินอาหารคนเดียว เขาอาจคิดว่าถูกกักขังและบังคับ เพราะฉะนั้น ชวนทุกคนในบ้านมากินข้าวพร้อมกันดีกว่า และควรทำบรรยากาศขณะกินให้ผ่อนคลาย เมื่อลูกกินได้ก็ชมเชยเป็นกำลังใจ
  2. ปิดทีวี มือถือ แท็บเล็ต
  3. ชวนเพื่อนๆ ของลูกมากินข้าวหรือขนมด้วยกัน (บางมื้อ) เด็กๆ จะรู้สึกสนุกกับการกินอาหารมากขึ้น
  1. รอดูท่าที เสิร์ฟอาหาร และรออยู่เงียบๆ สัก 20 นาที หากว่าลูกยังไม่ยอมแตะช้อนจึงค่อยออกปากเตือน ถ้าลูกยังไม่ยอมฟัง และเวลาผ่านไป 45 นาทีแล้วก็เก็บโต๊ะไปได้เลย อย่าติดสินบน ตื๊อลูกต่อ หรือแสดงอาการหงุดหงิด
  2. เลิกบังคับให้ลูกกินข้าว ความจริงแล้วเด็กไม่ว่าจะกินเก่ง กินไม่เก่ง หรือบางวันเก่งบางวันไม่เก่งแล้วแต่อารมณ์หรือเมนูอาหาร แต่เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับความอยากอาหารในระดับที่ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หรือทำให้ขาดสารอาหารแน่นอนค่ะ
  3. ให้ลูกออกกำลัง เล่นนอกบ้าน เมื่อได้ใช้พลังงานจะได้อยากอาหารมากขึ้น

อ่านต่อ “วิธีแก้ปัญหาลูกเลือกกิน” หน้า 5

ถ้า “ลูกเลือกกิน” กินแต่ของที่ชอบล่ะ??

นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ไม่แนะนำให้ใช้วิธีบังคับลูกให้กินอาหารมีประโยชน์ แต่คุณหมอมีเคล็ดลับ “ห่วงโซ่อาหาร” พัฒนาการกินอาหารของลูกให้หลากหลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากสิ่งที่ลูกชอบ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำดู มีขั้นตอนดังนี้ค่ะ

1. สังเกตลูก ว่าลูกชอบกินอะไร เช่น ลูกชอบกินหมูทอด

2. แยกองค์ประกอบ ของสิ่งที่ลูกชอบ ในที่นี้แยกได้ 2 อย่างคือ หมูและของทอด

3. ใช้ความสร้างสรรค์พลิกแพลง ผสมผสานสิ่งที่ลูกชอบ กับสิ่งที่อยากให้ลูกกิน เช่น แม่อยากให้ลูกกินผัก ก็ลองนำผักไปทอด จะลองให้กินไก่ทอด ปลาทอดด้วยก็ทำได้ง่าย หรือไม่อยากให้ลูกกินของทอด ก็ลองนำหมูไปตุ๋น ไปต้ม ไปผัด หรือไปทำอาหารด้วยกรรมวิธีอื่นที่ไม่ใช่การทอด แค่นี้ลูกก็จะกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้นแล้วค่ะ

4. ขยายวงจรอาหารให้หลากหลาย เมื่อลูกกินอาหารที่เกิดจากการผสมผสานกับสิ่งที่ลูกชอบได้ง่ายแล้ว ค่อยขยายไปสู่อาหารที่เขาไม่ค่อยกิน จากที่เคยกินหมูทอด มากินผักทอด แล้วค่อยไปกินผักต้ม หรือจากหมูทอด มาเป็นหมูต้ม แล้วก็เปลี่ยนมาลองให้กินไก่ต้ม

คุณหมอพงษ์ศักดิ์ทิ้งท้ายว่า “อย่าไปยัดเยียดให้ลูกกินสิ่งที่มีประโยชน์ แต่เขาไม่ชอบโดยทันที นอกจากจะเป็นการฝืนบังคับซึ่งอาจทำให้ลูกงอแงแล้ว ยังอาจทำให้เขามีทัศนคติไม่ดีกับการกิน คือไม่กล้าลองกินสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ทำให้ไม่ชอบอาหารชนิดนั้นไปจนโตครับ” (อ่านเพิ่มเติม ฝึกลูกกินดี-กินง่าย เริ่มได้ตั้งแต่ทารก)

 

เรื่อง: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ: Shutterstock