AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกพัฒนาการช้า ควรไปหาหมอเมื่อไหร่ดี?

ลูกพัฒนาการช้า ควรไปหาหมอเมื่อไหร่ดี?

ลูกพัฒนาการช้า หรือพูดช้า เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กวัย 2 ขวบที่ยังไม่สามารถเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย หรือเด็กวัย 18 เดือนที่ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ พัฒนาการช้าพบได้กับเด็ก 5% – 8% ในเด็กอายุ 2 – 5 ขวบ ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2 – 3 เท่า

ลูกพัฒนาการช้า ควรไปหาหมอเมื่อไหร่ดี?

พัฒนาการปกติตามวัยของเด็กโดยทั่วไปที่สังเกตได้แบ่งเป็น 4 ด้านคือ

1.กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กสามารถชันคอ พลิกคว่ำ นั่งเอง เดินเองได้ วิ่งได้ ขี่จักรยานได้

2.กล้ามเนื้อมัดเล็ก สามารถใช้มือหยิบจับสิ่งของทั้งชิ้นใหญ่หรือเล็ก จับปากกา สังเกตจากการวาดรูป

3.การช่วยเหลือตัวเองและเข้าสังคม เช่น ถอดหรือใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน ช่วยเตรียมอาหาร มองหน้าสบตา

4.ความเข้าใจภาษา และการสื่อสาร ลูกได้ยินหรือไม่ เข้าใจคำถามและตอบโต้สื่อสารได้เหมาะสมตามวัย

พัฒนาการทั้ง 4 ด้านของแต่ละวัย

สาเหตุที่ทำให้พัฒนาการช้า

1.ตัวเด็กเองผิดปกติ เช่น โครโมโซมผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย สมองผิดปกติ

2.คุณแม่ได้รับสารบางอย่างขณะตั้งครรภ์ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้ยาบางอย่างที่มีผลต่อเด็ก

3.สติปัญญาบกพร่อง หรือปัญญาอ่อน เป็นออทิสติก บกพร่องด้านสังคม การเล่นของเล่น ชอบทำอะไรซ้ำๆ

4.การให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเลต ทำให้ไม่มีคนเล่น หรือพูดคุยด้วย

5.ขาดการกระตุ้นพัฒนาที่เหมาะสม เพราะถูกละเลย หรือไม่ได้รับการส่งเสริมด้านพัฒนาการ การเลี้ยงดู

อ่านต่อ “พัฒนาการช้าเมื่อไหร่ควรจะไปหาหมอ?” คลิกหน้า 2

พัฒนาการช้าเมื่อไรควรจะไปหาหมอ?

2 เดือน ไม่จ้องหน้าสบตา

4 เดือน ไม่ชันคอ ไม่มองตาม

6 เดือน ไม่พลิกคว่ำหงาย นั่งโดยช่วยพยุงไม่ได้ หยิบของโดยใช้นิ้วหัวแม่มือไม่ได้ ไม่หันหาเสียงหรือส่งเสียง

9 เดือน นั่งเองไม่ได้ ไม่เป่าปาก ไม่เล่นน้ำลาย

12 เดือน เกาะยืนไม่ได้ เรียกชื่อแล้วไม่หันหา ไม่แสดงอาการโต้ตอบ

18 เดือน เดินเองไม่ได้ ไม่ชี้บอกสิ่งที่ต้องการหรือสนใจ เล่นสมมุติไม่ได้ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่ได้ ยังไม่พูด

2 ปี เตะลูกบอลไม่ได้ พูด 2 คำติดกันไม่ได้

2 ปีครึ่ง กระโดด 2 เท้าไม่ได้ พูดเป็นวลีไม่ได้

3 ปี ขึ้นบันไดสลับเท้าไม่ได้ พูดเป็นประโยคสั้นๆ ไม่ได้

4 ปี ลงบันไดสลับเท้าไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เล่าเรื่องให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้

การดูแลรักษาพัฒนาการช้า

1.เลี้ยงดูพัฒนาการทุกด้าน เช่น การเล่น การเล่านิทาน การพูดคุย ไม่ให้ดูโทรทัศน์มากเกินไป และสังเกต

2.ตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะพูดช้าและรักษาตรงกับสาเหตุ ใช้อุปกรณ์ช่วยฟังถ้ามีความบกพร่อง

3.ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา และด้านอื่นๆ ที่บกพร่องอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาการในชีวิตประจำวัน

4.การใช้ยา อาจจำเป็นเพื่อบรรเทาปัญหาพฤติกรรมบางอย่างเช่น ซน ไม่อยู่นิ่ง ต่อต้าน อาละวาด ก้าวร้าว

5.ตรวจหาและรักษาความผิดปกติที่พบร่วม เช่น ซน สมาธิสั้น การใช้กล้ามเนื้อมือและสายตา และสังคม

6.ด้านการศึกษา ควรเรียนในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กปกติ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสาร

7.สื่อสารกับเด็กมากขึ้น โดยใช้คำที่ง่ายและสั้น ออกเสียงพูดให้ชัดเจน พูดในสิ่งที่เด็กสนใจและเกี่ยวข้อง

8.สร้างโอกาสให้เด็กเรียนรู้ทางภาษาเพิ่มเติมจากการเล่านิทาน ดูรูปภาพ พูดคุย งดการเล่นคนเดียว

9.ฝึกพูดให้ลูกผ่านการพูดคุย ฟังลูกพูดอย่างตั้งใจ ตั้งคำถามที่เหมาะกับพัฒนาการ ขยายความคำตอบลูก

ชมคลิป “เมื่อลูกมีพัฒนาการช้า” โดย พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก

คลิกอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


เครดิต: แพทย์หญิง จอมสุรางค์ โพธิสัตย์ วว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น, พญ.วชิราภรณ์ พรมจิตติพงศ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก, Child Care Consultants, ชญานี วัชรเกษมสินธุ์ นักจิตวิทยา