Q: ลูกสาวเวลานอนตอนกลางคืนจะตื่นบ่อยมาก ตื่นมากินนมบ้าง บางครั้งก็ร้องไห้งอแง ไม่ยอมกินนม แม่ก็จะต้องคอยดูค่ะว่าลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า บางทีต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมระหว่างคืน อยากขอปรึกษาค่ะ ว่าทำอย่างไร ที่จะให้ลูกนอนหลับสบายได้ตลอดคืน ไม่ตื่นมากลางดึก
คาดว่าคุณแม่คงจะกังวลว่าถ้าเจ้าตัวเล็กตื่นกลางดึกบ่อยๆ จะพักผ่อนไม่เพียงพอใช่ไหมคะ ก่อนอื่นเรามีข้อมูลเรื่องการนอนของลูกน้อยมาให้คุณแม่ได้ทำความเข้าใจกันก่อน ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยจำนวนชั่วโมงการนอนสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบค่ะ
ชั่วโมงการนอนสำหรับลูกน้อย
แรกเกิด : 16 ชั่วโมง (+-) 4 ชั่วโมง ตอนนี้ทารกจะยังไม่มีรูปแบบการนอนที่แน่นอน ยังนอนกลางวันพอๆ กับกลางคืน
3 เดือน : 13 ชั่วโมง (+-) 3-4 ชั่วโมง นอนกลางคืน 8 ชั่วโมง กลางวัน 4 ชั่วโมง
6 เดือน : 12 ชั่วโมง (+-) 3 ชั่วโมง นอนกลางคืน 9 ชั่วโมง กลางวัน 3 ชั่วโมง
1 ขวบ : 11 ชั่วโมง (+-) 2 ชั่วโมง นอนกลางคืน 9 ชั่วโมง กลางวัน 2 ชั่วโมง
ถ้าเจ้าตัวเล็กของคุณนอนหลับอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจค่ะ ยืนยันด้วยคำพูดของ ดร.จูดี้ มินเดล รองผู้อำนวยการศูนย์คุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย และผู้เขียนหนังสือ Sleeping Through the Night ที่กล่าวว่า “แม้ว่าเบบี๋นอนเป็นช่วงสั้น ๆ แต่ถ้าเขาตื่นมาอารมณ์ดี ร่าเริงแสดงว่าเขาพักผ่อนเต็มที่แล้ว”
แต่สำหรับเด็กที่ตื่นกลางดึกบ่อยๆ ดร.จูดี้อธิบายไว้ว่า “ส่วนใหญ่เด็กในกลุ่มนี้จะหลับยาวช่วงเช้าและมางีบอีกทีตอนบ่าย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมตอนกลางคืนเขาถึงได้ตื่นอยู่บ่อยๆ” ถ้าในกรณีที่ตื่นขึ้นมาแล้วร้องไห้หรืองอแง คุณแม่ต้องหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกทางค่ะ เช่น ก่อนนอนลูกถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมอะไรที่ทำให้เหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ลูกหิวเพราะกินนมน้อย รู้สึกไม่สบายตัว หรืออื่นๆ เราจึงมีคำแนะนำในการช่วยลูกได้มาฝากคุณแม่ดังนี้ค่ะ
อ่านต่อ “สาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นกลางดึก” คลิกหน้า 2
อะไรนะที่ทำให้ลูกตื่นงอแงกลางดึก…
- รู้สึกไม่สบายตัว ในห้องนอนของลูกอุณหภูมิห้องต้องไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ใส่เสื้อผ้าที่เบาสบายตัว คุณแม่ควรสังเกตว่าลูกชอบห้องที่มืดสนิทหรือมีแสงไฟสลัว ก่อนนอนลองนวดสัมผัสด้วยโลชั่นกลิ่นลาเวนเดอร์จะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับฝันดี
- ฝันร้าย เพราะเล่นหนักมากในช่วงเย็นหรือก่อนนอน วิธีแก้ไขคือไม่ให้ลูกเล่นจนเหนื่อยเกินไป ควรจัดเวลานอนกลางวันให้เหมาะสม และให้ลูกทำกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมให้ลูกรู้สึกสงบก่อนเข้านอน เช่น การอ่านหนังสือนิทานในบรรยากาศผ่อนคลาย เป็นต้น
- เจ็บป่วย เช่น รู้สึกเจ็บเหงือกเพราะฟันกำลังจะขึ้น สามารถแก้ไขได้โดยการให้ยาแก้ปวดหรือทาเจลแก้ปวด ส่วนเจ้าตัวเล็กที่ไม่สบายหรือเป็นไข้ คุณแม่ควรเช็กอุณหภูมิร่างกายลูกถ้าไข้ไม่สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเล็กน้อยเพื่อลดไข้
- ไม่ได้ถูกฝึกให้นอนเป็นเวลา การพาลูกเข้านอนตรงเวลาและเป็นแบบแผนแน่นอน คุณแม่ควรทำให้เป็นกิจวัตร เช่น อาบน้ำเสร็จ ใส่ผ้าอ้อม สวมชุดนอน ดื่มนม แปรงฟัน ฟังนิทาน หอมแก้ม บอกราตรีสวัสดิ์แล้วปิดไฟนอน ทำทุกอย่างให้เป็นแบบแผนตั้งแต่ลูกยังเล็ก
- กินนมไม่พอ ให้คุณแม่สังเกตการปัสสาวะของลูก ถ้าลูกปัสสาวะ 6 ครั้งต่อวัน แปลว่าได้นมพอ และถ้าเขาตื่นขึ้นมากลางดึก แต่ดูดนมแป๊บเดียวก็หลับต่อได้แสดงว่าไม่ได้หิว แต่ใช้การดูดนมกล่อมให้ตัวเองหลับต่อได้ ดังนั้นควรหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ลูกตื่นต่อไป
- ผ้าอ้อมเฉอะแฉะ เปียกชื้น คุณแม่จึงต้องเช็กดูผ้าอ้อมลูกว่าเฉอะแฉะมากไปหรือไม่ พร้อมกับแก้ไขโดยการเลือกผ้าอ้อมที่ซึมซับได้ดีเยี่ยม และมีประสิทธิภาพในการดูดซับปัสสาวะได้รวดเร็ว แห้งสบายไม่รั่วซึม ซึ่งหากเป็นผ้าอ้อมสำหรับกลางคืนโดยเฉพาะยิ่งดี เพราะถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกใส่ได้แผ่นเดียวตลอดคืน ให้ลูกน้อยใส่นอนหลับได้สบายยาวนานตลอดกลางคืน ไม่ต้องตื่นมาเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือทำให้ลูกตื่นเพราะไม่สบายตัวกลางดึก
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการนอนของลูก
- ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่นอนหลับวันละ 18-20 ชั่วโมง
- ทารกส่วนใหญ่เริ่มนอนเป็นเวลาตอนอายุราว 6 เดือน
- ทารกบางคนนอนยาวถึงเช้าตั้งแต่อายุแค่ 4 เดือน แต่บางคนก็เพิ่งจะเริ่มนอนยาวถึงเช้าตอนอายุ 1 ขวบ
- หากไม่มีความจำเป็นในเรื่องของสารอาหาร คุณแม่ก็ไม่ควรจะปลุกลูกมากินนมตอนกลางดึก
- ไม่ควรทิ้งขวดนมไว้ในเตียงคอกเพื่อให้ลูกหยิบมาดูดตอนกลางดึกเช่นกัน
- การเลือกผ้าอ้อมที่ซึมซับดีเยี่ยมและแห้งสบาย ช่วยให้ลูกนอนหลับสนิทตลอดคืน ทำให้ Growth Hormone ทำงานได้เต็มที่
- ไม่ควรทิ้งสิ่งที่อาจจะอุดกั้นทางเดินหายใจของลูกไว้ในเตียงคอก เช่น ตุ๊กตาตัวใหญ่ หมอนข้าง หรือผ้าห่ม
- จังหวะการนอนของทารกมักจะเริ่มพัฒนาอย่างเป็นแบบแผนตอนอายุราว 3 เดือน
- ถ้าอยากให้ลูกนอนหลับสบาย กิจวัตรช่วงก่อนนอนที่ทำเป็นประจำทุกคืนก็ช่วยได้
- ลูกวัย 1 ขวบควรนอนหลับวันละประมาณ 11-13 ชั่วโมง
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock