AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เข้าโซเชียลมีเดีย เด็กเสียอะไร

ไม่เพียงเด็กๆ ต้องบริหารเวลาขณะที่อยู่ใน โซเชียลมีเดีย เด็กยังต้องบริหารเวลาเมื่ออยู่นอกโซเชียลมีเดียด้วย นอกโซเชียลมีเดียเด็กมีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมที่ยังดำเนินไป มีน้ำต้องอาบ มีข้าวต้องกิน มีงานบ้านที่ควรทำ และที่สำคัญคือ มีการละเล่นกลางแจ้ง

โซเชียลมีเดีย กับข้อเสียที่มีต่อลูกน้อย

กิจกรรมกลางแจ้งเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการ กล้ามเนื้อใหญ่ (Gross Motor) กล้ามเนื้อเล็ก (Fine Motor) และพัฒนาการด้านภาษา (Language) กิจกรรมเหล่านี้ไม่มีในโซเชียลมีเดีย

การเข้าสู่โซเชียลมีเดียของเด็กๆ มีปัญหาใหญ่ที่สุดเรื่องการเสียเวลา”

การเสียเวลานำไปสู่การเสียโอกาสที่จะพัฒนาบุคลิกภาพตามวัย (Personality Development) พัฒนาการของบุคลิกภาพแต่ละขั้นตอนมีเวลาวิกฤติ (Critical Period) กล่าวคือ เด็กมีเวลาจำกัดเพียงช่วงหนึ่งในการพัฒนาแต่ละประเด็น หากเราปล่อยเวลานั้นผ่านเลย เมื่อเขาอายุมากขึ้นจะไม่สามารถ พัฒนาได้อีก หรือทำได้ด้วยความยากลำบากอย่างมาก การเสียเวลากับโซเชียลมีเดีย จึงเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้คือ พัฒนาการด้านการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล (Object Relation) เด็กมีเวลาวิกฤติในพัฒนาการด้านนี้เพียง 2 – 3 ปีแรกของชีวิตเท่านั้น การมีโอกาสมองสบตาแม่และพ่อ การได้เล่นและแตะเนื้อต้องตัวกับแม่และพ่อ ไปจนถึงการใช้มือ และสิบนิ้วน้อยๆ สำรวจโลก (มิใช่เพียงใช้นิ้วเขี่ยหน้าจอ) เหล่านี้เป็นรากฐานของชีวิต

“ปัจจุบันเราพบเด็กที่ไม่สบตาพ่อแม่ หรือไม่สบตาคนมากขึ้น โดยมีประวัติว่า พ่อแม่ ยื่นแท็บเล็ตให้เด็กเล่นตั้งแต่ก่อนอายุ 2 ขวบ” บางบ้านให้เล่นขณะรับประทานอาหาร และบางบ้านให้เล่นบนที่นอนก่อนนอน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “เข้าโซเชียลมีเดีย เด็กเสียอะไร” คลิกหน้า 2

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พัฒนาการด้านภาษา (Language Development) ภาษาในที่นี้มิได้หมายถึงภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่หมายถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ความต้องการในใจ (Communication) พัฒนาการด้านนี้เกิดจากการเล่น และดีที่สุด คือ เกิดจากการเล่นสมมุติ (Pretend Play) หรือบทบาทสมมุติ (Role Play) เช่น สมมุติกล่องเปล่าเป็นบ้าน สมมุติจานเป็นเรือ สมมุติตัวเองเป็นพ่อครัวแม่ครัว เป็นครู เป็นหมอ เป็นต้น ภาษาเพื่อการสื่อสาร จะเกิดขึ้นระหว่างการเล่นมากที่สุด

แต่บ้านที่ปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ตั้งแต่ ก่อน 2 ขวบ หรือปล่อยให้ลูกใช้เครื่องมือไอที ตั้งแต่ก่อน 3 ขวบมากเกินไป ย่อมเสียเวลาเล่น และส่งผลต่อการขัดขวางพัฒนาการ ปัจจุบันเราจึงพบเด็กที่ไม่สามารถพูดเพื่อ แสดงความต้องการได้มากขึ้น และเมื่อแสดงความต้องการด้วยคำพูดไม่ได้ก็จะแสดงออกด้วยอาการอื่นมากขึ้น เช่น ร้องไห้ไม่หยุด กรี๊ดเสียงดัง ตีหัวตัวเอง ตีคนอื่น นอนดิ้นพราดๆ ถีบแขนขา พูดอะไรก็ไม่ฟัง ไปจนถึงอยู่นิ่งไม่ได้ เป็นต้น

เด็กโตมีความจำเป็นต้องเล่นในสนาม และเล่นอิสระ (Free Play) พอสมควร เพราะจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดเชื่อมโยง และคิดวิเคราะห์ (Cognitive Development) อย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม ดังที่ Jean Piaget (1896 – 1980) ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดที่สุด การปล่อยเด็กเข้าสู่โซเชียลมีเดียในแต่ละวันมากเกินไป แล้วทำให้การเล่นในชีวิตจริงน้อยเกินไป จะขัดขวางทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างแน่นอน เพราะการละเล่นทุกชนิดเด็กได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเป็นองค์รวม (Problem Solving)

ถึงขั้นตอนนี้เราควรสรุปได้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยพัฒนาทักษะไอทีซึ่งเป็น 1 ใน 3 ทักษะสำคัญของทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) แต่ทำให้เสียเวลา

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “เข้าโซเชียลมีเดีย เด็กเสียอะไร” คลิกหน้า 3

เวลาที่เสียนั้นไม่เพียงกระทบพัฒนาการบุคลิกภาพ แต่กระทบความสามารถในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) และทักษะชีวิต (Life Skills) ซึ่งเป็นอีก 2 ใน 3 ทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วย

ทักษะการเรียนรู้ ได้แก่

  1. ความสามารถในการคิดวิพากษ์
  2. สื่อสารความคิด
  3. ทำงานเป็นทีม
  4. มีความคิดสร้างสรรค์

ทักษะชีวิต ได้แก่

  1. ความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย
  2. วางแผน
  3. ตัดสินใจ
  4. ลงมือทำ
  5. รับผิดชอบการกระทำ
  6. มีความยืดหยุ่น

ทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตไม่พัฒนาเท่าไรนักในโซเชียลมีเดีย แต่จะพัฒนาได้ดีกว่า มากกว่า และเร็วกว่าในการเล่นจริงๆ ทำงานจริงๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ การพูดจากันจริงๆ ด้วยการเห็นสีหน้าและท่าทาง

มนุษย์สื่อสารกันด้วยอวัจนภาษาหรือภาษาท่าทาง (Nonverbal Communication) มากกว่าภาษาพูดอยู่แล้ว หลายครั้งที่เราสื่อสารด้วยการมองหน้า มองมือ และด้วยการทำนายว่าคู่สนทนาคิดอะไร ทักษะการสื่อสารด้านอวัจนภาษาไม่สามารถฝึกได้ในโซเชียลมีเดีย แม้ว่าจะมีอิโมติคอน (Emoticon) หรือคำอุทานอื่นใดในโซเชียลมีเดียก็เป็นอวัจนภาษาอย่างหยาบ ไม่มีความละเอียดอ่อนมากพอที่จะเข้าใจคู่สนทนาได้ถูกต้องเท่ากับการพบหน้ากัน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์จิตแพทย์แผนกจิตเวชโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับคู่มือระวังภัย โลกยุคใหม่อันตรายรอบด้าน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Save