AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ

เรื่องของ ‘แท็บเล็ต’ เป็นเรื่องที่เราไม่ควรให้เด็กอยู่กับมันมากอยู่แล้ว อย่างที่เรารู้ว่าเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้แท็บเล็ต เพราะจะมีผลทำให้เด็กสื่อสารได้ช้า มีอาการคล้ายกับออทิสติก ในเรื่องของดวงตาไม่ใช่แค่กับแท็บเล็ตอย่างเดียว พวกหน้าจอต่างๆ ที่เป็น Screen เหล่านี้ล้วนปล่อยรังสีออกมาทั้งนั้นซึ่งก็มีผลต่อ ดวงตาของเด็กวัยเรียน

7 ปัญหา ดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันเรายังไม่เจอเคสที่รุนแรงในเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังรักษาได้ตามอาการ ได้แก่

1. ตาแห้ง..เพราะไม่กะพริบตา

เคสที่เข้ามารักษากับหมอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของตาแห้ง โดยปกติไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็กหากจ้องหรือเพ่งมองอยู่กับอะไรนานๆ เรามักจะลืมกระพริบตาจนเกิดอาการตาแห้ง พบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และในวัยรุ่นเป็นส่วนมาก เมื่อสอบถามกลับไปก็พบว่าเกิดจากการจ้องหน้าจอนานๆ ทั้งวัน รวมถึงถ้าใช้สายตามากๆ ก็จะกระตุ้นทำให้เกิดตาแห้งได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

2. ผิวกระจกตาเป็นแผล ..ผลต่อเนื่องจากตาแห้ง

ผิวกระจกตาเป็นแผลนี้เป็นสาเหตุต่อเนื่องมาจากที่เราปล่อยให้ตาแห้งนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา ซึ่งหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ หมอจะแนะนำให้ปรับไลฟ์สไตล์ ลดเวลาอยู่กับหน้าจอ หยอดน้ำตาเทียม หรือถ้าอาการหนักมากก็ต้องให้ยาที่กระตุ้นต่อมน้ำตาให้ผลิตน้ำตามากขึ้น

3. สายตาสั้น..ปัญหาจากการจ้องใกล้เกินไป

ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ (วัย Pre-school and school age) หากใช้อุปกรณ์พวกนี้มากจะกระตุ้นให้สายตาสั้นเร็วขึ้น  เพราะบางคนมีกรรมพันธุ์เป็นสายตาสั้นอยู่แล้วและหากใช้มากๆ จะทำให้กระตุ้นการเป็นสายตาสั้นมากขึ้นเป็นสายตาสั้นถาวร  ความสัมพันธ์อย่างหนึ่งระหว่างดวงตากับแท็บเล็ต ทางการศึกษาวิจัยเขาพบว่าการใช้สายตาระยะใกล้มากๆ เช่น เล่นแท็บเล็ต อ่านหนังสือมีผลกระตุ้นทำให้เด็กเป็นสายตาสั้นกันมากขึ้น จะการศึกษาใน ประเทศออสเตเลีย พบว่าเด็กที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน (outdoor activity) วันละ 8 – 10 ชั่วโมง มีโอกาสเป็นสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กที่ใช้ชีวิตนั่งนิ่งๆ อยู่แต่ในบ้าน ดังนั้นควรให้เด็กมีกิจกรรมนอกบ้านบ้าง อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย

 

อ่านหนังสือใกล้ๆ ก็ไม่แนะนำเหมือนกัน…
หลายประเทศ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น มีคนสายตาสั้นเยอะมาก เพราะเขาอ่านหนังสือเยอะ

 

อ่านเรื่อง “7 ปัญหา ดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. คอนแท็กเลนส์ ยังไม่เหมาะกับเด็ก

ยังไม่ควรให้เด็กใส่คอนแท็กเลนส์ เพราะต้องมีการดูแลทำความสะอาดและเด็กไม่สามารถดูแลเองได้ จะเกิดปัญหาติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้

ปัจจุบันมีคอนแทกเลนส์ตัดแสงไหม?

ปัจจุบันคอนแทกเลนส์ตัดแสงยูวีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคอนแท็กเลนส์รุ่นไหนที่ออกมาพิเศษเพื่อแท็บเล็ตโดยเฉพาะ

5. ตาเขชั่วคราว ..พบเร็ว รักษาให้เร็ว

ถ้าพบว่าลูกมีอาการตาเหล่ ตาเข ตาส่อน อย่าปล่อยให้เป็นนาน ต้องรีบมารักษา ยังพอมีวิธีรักษาทันค่ะ อาจจะหายได้เอง หรือให้ใส่แว่นปรับสายตา ตาเขชั่วคราวเกิดจากอ่านหนังสือใกล้ๆ ใช้สายตาเขม่นมากเกินไป ตาเขบางประเภทไม่เกี่ยวกับการใช้หน้าจอดังนั้นต้องมาตรวจกับคุณหมอก่อนว่ามีภาวะที่ตาเขากล้ามเนื้อบีบตัวมากกว่าปรกติหรือเปล่า ตาเขบางชนิดทำให้เกิดตาขี้เกียจได้อีกด้วย

6. ตาขี้เกียจ..ตาไม่พัฒนาไปตามวัย

ตาขี้เกียจคือโครงสร้างอวัยวะภายในของดวงตาไม่พัฒนา เกิดจากการมองเห็นได้ไม่ดีในตอนเด็กๆ ทำให้สมองไม่พัฒนาตาม สุดท้ายแล้วดวงตาไม่มีพัฒนาไปตามอายุของเด็ก อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตาข้างที่มัว มองไม่เห็น ถ้าพบตอนเด็กยังพอแก้ไขได้ค่ะ  แม้จะไม่เอ็ฟเฟ็กต์กับพัฒนาการไอคิวหรืออีคิวของเด็ก แต่มีผลต่อบุคลิกภาพเพราะตาข้างที่ขี้เกียจจะเป็นตาเหล่ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นตาขี้เกียจ ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ ไม่ควรรอ การรักษาตั้งแต่เด็กจะได้ผลของการรักษาที่ดีกว่ารอโตแล้ว หรือในบางคนกว่าจะไปพบคุณหมอก็โตเกินที่จะทำการรักษาได้แล้ว

7. Computor Vision Syndrome ..กลุ่มอาการคล้ายติดเกมส์

เด็กที่ติดแท็บเล็ต หรือติดมือถือ จะมีอาการคล้ายกับติดคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เพิ่มเติมจากอาการตาแห้งและอื่นๆ คือจะรู้สึกขาดไม่ได้ ที่พบแน่ๆ ทำให้สายตาสั้นมากขึ้น สายตาจะเปลี่ยนบ่อยๆ ทำให้มึนหัว นอกเหนือไปจากนั้นอาจมีอาการปวดคอ ปวดหลัง เสียบุคคลิกภาพอีกด้วยค่ะ

ผู้ปกครองบางคนกลัวว่าถ้าไม่ให้ลูกเล่นแท็บเล็ตโตขึ้นอาจจะตามไม่ทันเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร online  หากถามหมอว่าแนะนำให้ใช้ไหม แนะนำให้ใช้อย่างพอประมาณ ไม่ควรให้เล่นเป็นระยะเวลายาว ใช้อยู่ในวิจารณญาณของผู้ใหญ่เพราะมีผลต่อพัฒนาการส่วนหนึ่งด้วย ถ้าใช้ 30 นาที พักสายตา 15 นาทีเป็นอย่างน้อย ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็เช่นเดียวกันค่ะ ควรดูแลถนอมดวงตาให้ดี เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่ต้องใช้งานไปตลอดชีวิต ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน เรามาถนอมดวงตาไว้ใช้ระยะยาวๆ ดีกว่านะคะ

อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก


ที่มาจาก : อ.พญ. แพร์ พงศาเจริญนนท์  จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตาและวุ้นตาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จากนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง  ฉบับเดือนธันวาคม 2558)