ทีวีเป็นสื่อหน้าจอชนิดแรกที่เด็กๆ จะเข้าถึง ส่วนใหญ่แล้วแทบทุกบ้านจะเปิดทีวีไว้เวลาเลี้ยงลูกเลี้ยงเด็ก คุณแม่ คุณยาย หรือพี่เลี้ยงก็มักจะดูทีวีหรือฟังเสียงก็ยังดีควบคู่กันไปด้วย
พอเด็กอายุได้สามสี่เดือน เริ่มจ้องหน้า จำหน้าคนได้ เด็กก็จะเข้าถึงทีวีที่เปิดคาไว้ จ้องมองแสงสีที่แวบไวแวบมา ฟังเสียงที่ดังอยู่ตลอดเวลา ภาพไหนซ้ำๆ เสียงไหนซ้ำๆ เช่นโฆษณาที่ซ้ำๆ กัน เด็กก็มักจะจำได้ หยุดนิ่งเมื่อภาพนั้นโผล่มาหรือเสียงนั้นดังเข้ามาผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าลูกชอบดูโฆษณาเขาเก่งมากเลยจำโฆษณานั้นโน้นได้
ความจริงแล้วทีวีก็มีประโยชน์ เปิดโลกกว้างให้เด็กเรียนรู้ แต่เผอิญโทษก็มีมากและเกี่ยวข้องกับการตลาดของผู้เกี่ยวข้องกับทีวี ทำให้โทษกลับกลายเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า
โทษจากทีวีมาจากไหน
โทษจากทีวีมาจากรายการที่ส่อความรุนแรงหลายๆ รูปแบบที่มีมากมาย เผอิญรายการเหล่านี้ตอบสนองต่อจิตใต้สำนึกลึกๆ ของมนุษย์ทำให้รายการเหล่านี้เป็นที่นิยมโดยง่าย สปอนเซอร์ก็มากมาย คนชอบดู ดูแล้วก็ติด ติดแล้วก็ใช้เวลากับมันมากๆ จนไม่กิน ไม่นอน ไม่คุยกัน เด็กก็เสียสุขภาพ อ้วน เสียสายตา กล้ามเนื้อปวดล้า เสียพัฒนาการด้านอื่นๆ เพราะเสียเวลา เสียโอกาสการเรียนรู้ ครอบครัวก็ขาดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แถมยังนำไปสู่การติดสื่อหน้าจอประเภทอื่นๆ อีกด้วย
เรตติ้ง…เตือนภัยได้จริงหรือ
หลายปีแล้วที่บ้านเรามีการแจ้งเรตติ้ง (rating) ก่อนเข้ารายการทีวี (เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2549) คงน่าสนใจไม่น้อยหากมีใครจะทำวิจัยกันว่า ได้ผลหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่คือ ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านยังคงปล่อยให้เด็กๆ นั่งหน้าสลอน ดูทั้งรายการ น 13+ (เหมาะกับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป) น 18+ (เหมาะกับเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป) หรือแม้แต่ รายการ ฉ (เฉพาะผู้ใหญ่ดู ไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชน) ซึ่งก็คงต้องทำการประชาสัมพันธ์กันให้หนักหน่วงกว่านี้ละครับ เพื่อให้ผู้ใหญ่ และจริงจังกับ “เรตติ้ง..เตือนภัย” ที่ทางการอุตส่าห์ทำกันออกมาด้วยความเป็นห่วงใยเด็กๆ
อ่านต่อ “แนวทางทำให้ลูกไม่ติดทีวี” คลิกหน้า 2
แนวทางทำให้ลูก “ไม่ติดทีวี”
เพื่อการเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจและออกแบบได้ วันนี้จึงมีข้อเสนอแนะบางประการมาฝากคุณพ่อคุณแม่ครับ…
1. ไม่เลี้ยงลูกหน้าจอทีวีตั้งแต่แบเบาะ
ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” แล้วละครับ ที่ผู้ใหญ่เปิดทีวีไปด้วย ป้อนข้าวป้อนนมทารกที่จ้องจอตาแป๋วกระทั่งหลับตานอนพร้อมกับเสียงด่าทอตบตี เสียงปืน เสียงระเบิดที่ยังคงดังระงมจากรายการต่างๆ ในทีวี
ในโลกนี้มีงานวิจัยใหม่ๆ มากมายที่ยังคงออกมาในแนวเดียวกับงานวิจัยมากมายตั้งแต่ปี 1950 เช่นเดียวกับในปี 1972 ผลงานของ Parke และคณะซึ่งสรุปว่าการปล่อยให้เด็กๆ ดูหนัง หรือรายการทีวีที่มีเนื้อหารุนแรงซ้ำๆ บ่อยๆ พวกเขาจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวสูงขึ้น (นั่นรวมถึงก่อให้เกิดความหวาดกลัว เศร้าหดหู่ หรือกระตุ้นให้เกิดความโกรธด้วย) สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่าสถานการณ์เด็กอเมริกันหนักหนาสาหัส โดยเฉลี่ยเด็กเมื่อโตมาถึงอายุ 18 ปีแล้วจะเคยเห็นการกระทำที่รุนแรงจากทีวีมากว่า 200,000 ครั้งและเห็นการฆ่ากันตายจากทีวีมา 16,000 ครั้ง มีข้อสรุปในเรื่องนี้ชัดเจนว่ารายการทีวีที่โชว์ความรุนแรงให้เด็กเห็นจะ desensitization เด็ก หรือคือ ทำให้เด็กชาชินกับความรุนแรง วันหนึ่งเขาก็จะกระทำโดยไม่เห็นรู้สึกว่าแปลกอะไร
ไหนๆ จะพูดเรื่องนี้กันแล้วก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความห่วงใยอย่างยิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้านยังปล่อยให้เด็กนั่งดูละครที่เต็มไปด้วยความรุนแรง (โดยมากก็คือละครไทยที่เรียกกันว่าแนวน้ำเน่า) อันเต็มไปด้วยฉากตบ-จูบ ตบ-จูบ อวดสมบัติบ้า-ด่าทอหยาบคาย-อิจฉานินทาว่าร้าย-มากรักหลายชู้ ฯลฯ…ล้วนไม่จรรโลงใจ และเป็นภัยต่อเด็กๆ อย่างยิ่ง แต่นับว่าเด็กยุคนี้ยังโชคดี ที่การ์ตูนแนว “ทำร้ายร่างกาย” (ทอมกับเจอรี่, ป็อบอายกับบลูตัส และอื่นๆ ที่ทุบตีกันแทบตลอดเรื่อง) ปัจจุบันนี้เลือนหายไปจากหน้าจอทีวี หาดูได้ยากขึ้นแล้ว ที่ยังอยู่ยั้งยืนยง ก็คือ บรรดาฮีโร่แมนพันธุ์โหดที่ถล่มกันด้วยสารพัดอาวุธไฮเทค ทั้งสายพันธุ์ญี่ปุ่น หรือฝรั่ง ที่ยังคงกระตุ้นให้เด็กๆ เลียนแบบความก้าวร้าวบนหน้าจอทีวี ซึ่งยากที่เด็กอายุก่อน 8 ปีจะแยกแยะได้ระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง
2. ผู้ใหญ่ดูทีวีกับเด็กด้วยและจริงจังกับสัญลักษณ์เรตติ้งก่อนเข้ารายการ
กดรีโมท เปลี่ยนช่อง เปลี่ยนรายการถ้าพบว่าไม่เหมาะสมกับอายุเด็กโดยทันที แล้วเลือกสรรรายการที่ดีต่อลูกๆ ของเรา แต่หากไม่ทันแล้ว เพราะลูกได้ดูกันไปแล้วแบบจัดหนักจัดเต็ม ก็ควรค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังว่า ฮีโร่ที่เหาะได้นั่นเป็นเรื่องไม่จริงที่คนวาดการ์ตูน หรือคนสร้างหนังทำให้คนดูสนุกๆ…ความจริงคือนกบินได้ เหาะได้เพราะมีปีก แต่คนไม่มีปีกบินไม่ได้ ถ้ากระโดดเหาะลงมาจากที่สูงก็จะตกลงมากระแทกพื้น พูดแล้วลองปล่อยของตกกระแทกพื้นให้ดู และบอกว่านี่เด็กๆ..ที่ตกลงมาจะต้องเจ็บมากเลย
อ่านต่อ “แนวทางทำให้ลูกไม่ติดทีวี” คลิกหน้า 3
3. แม้แต่จะให้ลูกดูข่าวก็ต้องพึงประเมินให้ดีครับ
มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่าข่าวหรือสารคดีที่มีเรื่องราวหรือภาพที่ดุเดือดรุนแรง เด็กๆ ที่ได้ดูบ่อยๆ จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวยิ่งกว่าการดูหนังดุเดือดทั่วๆ ไปซะอีก! เพราะเด็กรู้และเชื่อว่ามันคือเรื่องจริง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปลี่ยนไปดูข่าวภาคดึกแทน (ในช่วงที่ลูกๆ นอนหลับกันแล้ว) สารคดีมากมายในโลกที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อเด็กๆ จึงต้องเลือกสรรกันหน่อยนะครับ
4. หาช่วงเวลา มานั่งพูดคุย (และ “รับฟัง”) กับลูกๆ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเขาหรือชวนเล่นกิจกรรมต่างๆ ร้องเพลงด้วยกัน เล่านิทาน หรือ ชวนลูกๆเ ล่นกีฬาสารพัด ก็จะช่วยเสริมสร้างความสุขกายสุขใจให้แก่ครอบครัวได้อย่างแน่นอน
5. อย่าให้ห้องนอนมีทีวี
ถ้ามีลูกจะเรียกร้องให้เปิด หรือติดหนังแผ่นทั้งหลายที่แม่เปิดให้ดูตั้งแต่เด็กๆ เล่านิทานก่อนนอนแทนจะดีกว่าครับ ห้องนอนจะกลายเป็นห้องอันตรายที่สุด เพราะจะทำให้ลูกติดทีวี อย่าให้ห้องนอนมีทีวีเลยครับ
รู้แล้วจึงบอกต่อ!
ราว 3-4 ปีก่อน มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์อเมริกันนามว่า ดร.เอเมอร์ โซแอสได้ออกมาประกาศว่า การดูทีวีมากเกินไป (ซึ่งก็น่าจะรวมทั้งเกมออนไลน์ทั้งหลายด้วย) จะทำให้สมองเฉื่อย และสิ่งที่ ดร.เอเมอร์เน้นหนักหนาคือ “ถ้าอยากจะให้สมองผ่องใสตลอดไปนั้น…ต้องรักในการอ่านหนังสือครับ”
เรื่อง: รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพ: Shutterstock