”การเล่นคือเครื่องมือการเรียนรู้ชิ้นแรกของมนุษย์ เด็กได้เล่นหมายถึงเขาได้สำรวจโลก เมื่อโตขึ้นโลกกว้างมากขึ้น เด็กได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด” ดร. เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเรื่องการเล่นและประโยชน์ที่เด็กๆจะได้รับ แถมยังมีตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่พ่อแม่ก็ทำร่วมกับลูกได้ด้วยค่ะ
ประโยชน์ของการเล่น ไม่ใช่ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น
พ่อแม่หลายคนยังคงมองว่าการเล่นของเด็กๆ เป็นเรื่องไร้สาระ หรือใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ที่จริงแล้วการเล่นนั้นให้ประโยชน์ทางตรงกับเด็กๆ มากมายโดยเฉพาะ
- พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ในขณะที่เด็กเล่น เขาจะสัมผัสสิ่งที่เขาเล่น สัมผัสสิ่งแวดล้อม เกิดการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร รู้ว่าร้อน เย็น ใกล้ ไกล สูงหรือต่ำ ฯลฯ และเด็กก็จะสังเคราะห์และวิเคราะห์ว่าตัวเองทำได้แค่ไหน อะไรยากง่าย นั่นคือการเรียนรู้ด้านปัญญา สมองของเด็กจะได้รับการกระตุ้นให้ทำหน้าที่ในการเรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ จดจำเข้าใจ ถ้าเด็กขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้หรือได้เล่น สมองก็จะไม่พัฒนา
- พัฒนาการทางด้านคุณธรรมจริยธรรม เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการให้และการรับไปโดยธรรมชาติ เพราะเมื่อเด็กเล่นเขาจะได้รับสิ่งที่คนอื่นให้กับเขา เช่น ให้ของเล่น ให้โอกาสเล่น ให้พื้นที่ ให้เวลา แม้กระทั่งให้อภัยในขณะที่เล่นรุนแรงหรือทำให้เพื่อนเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ และเมื่อเด็กได้รับสิ่งเหล่านี้เขาก็จะตอบสนองกลับ เพราะฉะนั้นคุณธรรมจริยธรรมเด็กจะเรียนรู้จากการเล่น ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียน ถึงวิชาพุทธศาสนาสอนคุณธรรมจริยธรรมเด็กได้ แต่ความซื่อสัตย์ ความเอื้ออาทร มันเกิดขึ้นจากโอกาสที่เขาได้เล่นและสัมผัสด้วยตัวเอง
- พัฒนาทักษะทางกาย ข้อนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งถ้าเด็กได้เล่นเขาจะได้รับประโยชน์ทางร่างกายแน่นอน การเล่นทำให้เด็กได้ออกกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง สำหรับเด็กเล็กจะได้พัฒนาเรื่องการเดิน การวิ่ง กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดี
อ่านเรื่อง “พ่อแม่คือคนสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นให้ลูก” คลิกหน้า 2
ทุกทักษะที่กล่าวมาเด็กจะได้รับโดยตรง นี่คือประโยชน์ของการเล่นแบบ Active play ดังนั้นสิ่งจำคือ “โอกาส”ที่จะได้เล่น สำหรับเด็กในวัยประถมต้นอายุ หรือช่วงอายุ 6-8 ปี ทุกอย่างเขากำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา การเล่นแบบ active play ทุกวัน วันละ 60 นาทีเป็นอย่างน้อย จะช่วยพัฒนาเด็กได้อย่างดี ดังนั้นที่บ้านและโรงเรียนจึงมีความสำคัญต่อการเล่นของเด็กๆวัยนี้มาก
โรงเรียนส่งเสริมการเล่นของเด็กได้อย่างไร
ช่วงอนุบาลถึงประถมต้นคือวัยทองของเด็กที่จะได้รับพัฒนาการที่ดีจากการเล่น โรงเรียนมีส่วนช่วยได้ เช่น ในช่วงพักระหว่างชั่วโมง ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น จะวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬาอะไรก็แล้วแต่ให้กำหนดว่าทุก 10 นาทีก่อนเข้าเรียนวิชาต่อไปเด็กต้องได้ขยับร่างกาย หรือสอดแทรกการเล่นอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนของเด็ก หมดยุคที่จะให้เด็กนั่งอ่านนั่งเขียนเพียงอย่างเดียวแล้ว
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากโครงการ FIT kids ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอมริกา ยืนยันออกมาแล้วว่า เด็กที่ใช้เวลา 70 นาที ทำกิจกรรมทางกายหรือเล่นระดับปานกลางหลังเลิกเรียน เป็นเวลา 5 วัน ต่อสัปดาห์ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 9 เดือน เด็กจะมีความแข็งแกร่งทางกาย อัตราน้ำหนักเกินลดลง และมีความจำดีกว่าเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ได้เล่นเลย
อ่านเรื่อง “พ่อแม่คือคนสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นให้ลูก” คลิกหน้า 3
พ่อแม่คนคือคนสำคัญที่จะส่งเสริมการเล่นของลูก
เมื่อเห็นข้อดีของการเล่นที่กล่าวไปแล้ว พ่อแม่ควรแบ่งเวลาทำกิจกรรมกับลูกให้ได้ทุกวัน เช่น ชวนกันขี่จักรยาน
แต่ถ้าขี่จักรยานไม่เป็นว่ายน้ำได้ไหม เลือกเอาสิ่งที่ถนัด หรือถ้าพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย มีข้อติดขัดจริงๆ วันเสาร์อาทิตย์พาลูกไปเดินเล่นสวนสาธารณะก็ได้ หรือถ้าวันไหนอากาศร้อน ไม่ไปสวนสาธารณะก็ไปห้างสรรพสินค้าแทน เดินเพลินๆ สัก 1 ชั่วโมง แค่นี้ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว
หรือบ้านไหนพ่อแม่ยุ่งมากๆ ทำงานเยอะ จนไม่มีเวลาที่จะทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้ อีกทางเลือกก็คือพาลูกไปเรียนเสริมทักษะแต่เลือกที่ลูกได้ออกกำลังกาย อย่างเช่น เทควันโด ว่ายน้ำ ชกมวย เป็นต้น แต่อย่าให้มันเป็นแค่แฟชั่น เรียนคอร์สเดียวก็เลิก ขอให้มันเป็นวิถีชีวิตจริงๆของลูก อีกอย่างควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมหลายๆอย่าง เพราะบางทีเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร การให้ทางเลือกแก่ลูกก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเขาสนุกกับกิจกรรมไหนเป็นพิเศษ พ่อแม่ก็ควรมุ่งส่งเสริมไปทางนั้น ไม่ควรจะบังคับลูก เพราะมันจะไม่ยั่งยืน
เรื่อง : ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ
ภาพ : ShutterStock