ลูกไม่ยอมเคี้ยว หนักข้อจนไม่ยอมกินอาหารที่ต้องเคี้ยว จะกินแต่อาหารบดละเอียด อาหารเละๆ เหมือนโจ๊ก อาหารเนื้อหยาบ พอเป็นเนื้อแข็งขึ้น เป็นชิ้นใหญ่ขึ้น ไม่ยอมเคี้ยว แม้แต่ผลไม้ก็ต้องปั่นหรือหั่นชิ้นเล็กๆ จะแก้ปัญหาอย่างไรดี??
ลูกไม่ยอมเคี้ยว อาจเป็นเพราะมี “ความทรงจำฝังใจ”
เด็กบางคนเคยมีประสบการณ์กินอาหารที่แข็งครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ คือไม่ทันได้เคี้ยวให้ละเอียดแล้วรีบกลืนลงคอ ทำให้ระคายคอแล้วอาเจียน หรืออาจเป็นเพราะพ่อแม่ป้อนอาหารคำใหญ่เกินไป ทำให้เคี้ยวยากและกลืนลำบาก หากพยายามกลืนก็อาจมีอาการจุกในคอ เนื่องจากอาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร หากเป็นในผู้ใหญ่ จะใช้วิธีรีบดื่มน้ำเข้าไป อาการจึงดีขึ้น แต่เด็กจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและควรแก้ไขอย่างไร
หากอาหารติดคออยู่นานอาจทำให้ลูกเล็กกลัวการกินของแข็งไปเลย ร่วมกับอาการตื่นเต้นตกใจของผู้ป้อนที่เห็นเด็กมีอาการอาเจียนหรือติดคอ เด็กจะกลัวการกินของแข็งและฝังใจว่าถ้ากินอีกจะอาเจียนอีก กลายเป็นพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยได้ค่ะ ดังนั้นครั้งต่อมาเมื่อมีการป้อนข้าวลักษณะเดียวกันอีก ทั้งที่ยังไม่เข้าปากลูกเลยเขาอาจจะเริ่มทำท่าโก่งคออาเจียนแล้ว
(ชมคลิป ช่วยลูกอาหารติดคอ สำลัก เมื่อไม่หมดสติ)
อ่านต่อ “ฝึกลูกกินอาหารอย่างถูกวิธี เริ่มเมื่อไหร่ อย่างไร” หน้า 2
ฝึกทักษะเคี้ยว-กลืน เริ่มได้ตั้งแต่ 6 เดือน
เราอาจฝึกทักษะด้านการเคี้ยวและกลืนได้ตั้งแต่เล็ก โดยพยายามให้ลูกได้เห็นคนอื่นทำเป็นต้นแบบ ตั้งแต่การตักอาหารเข้าปากเคี้ยวและกลืน พอถึงวัยให้อาหารเสริม คืออายุ 6 เดือน ควรทำอาหารให้มีลักษณะข้นกว่านม คล้ายโยเกิร์ต แล้วใช้ช้อนตักป้อน เพื่อฝึกการใช้ลิ้นพาอาหารให้กลืนลงคอได้ ไม่ใช่ปั่นจนเหลวแล้วใส่ขวดให้ลูกดูด
พอลูกกลืนได้คล่อง ให้ทำอาหารเหนียวข้นขึ้นเรื่อยๆ (คล้ายมันบด) ลูกจะเริ่มมีทักษะในการกลืนของที่ฝืดคอมากขึ้น เมื่อลูกเริ่มมีอาการคันเหงือก อยากเคี้ยว อยากงับ ให้ทำอาหารที่หยาบขึ้น แต่ตุ๋นจนนุ่ม เป็นการบังคับให้ลูกหัดเคี้ยวก่อนกลืน
พอลูกเริ่มนั่งเองได้ ให้นั่งรับประทานอาหารกับผู้ใหญ่ โดยทำอาหารที่หยิบใส่ปากได้ด้วยตัวเอง เช่นผักต้มสุกจนนิ่ม หรือผลไม้เนื้อนิ่มหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
เมื่อลูกอายุ 9 – 10 เดือน ควรให้รับประทานข้าวต้มนิ่มๆ หรือโจ๊ก และเปลี่ยนเป็นข้าวสวยได้เมื่ออายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องรอจนเด็กมีฟันครบ
(อ่านเพิ่มเติม ฝึกลูกกินเอง ไม่ต้องใช้ตัวช่วย ทำได้ง้าย ง่าย!)
อ่านต่อ “วิธีแก้ไข หากลูกไม่ยอมเคี้ยว” หน้า 3
แก้ปัญหาลูกไม่อยากเคี้ยวอาหาร
ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเริ่มจากการป้อนอาหารที่ไม่ละเอียดมากแต่ก็ไม่หยาบมากนักแบบข้าว เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊กข้นๆ ที่มีเนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ชิ้นเล็กๆ ผักต้มนิ่มๆ ที่ไม่มีเส้นใยให้ระคายคอ เช่น แครอทต้ม โดยให้เริ่มกินคำเล็กๆ ก่อน บอกให้ลูกลองเคี้ยวดู พอลูกกินได้ชมเชยให้กำลังใจ กอดจูบ ไชโยโห่ร้อง ถ้ามีกองเชียร์คอยให้กำลังใจจะดีมาก จะช่วยให้ลูกมั่นใจในการกินครั้งต่อๆ ไป พอคุณแม่สังเกตว่าลูกเริ่มพอเคี้ยวได้บ้างแล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะของอาหารให้หยาบและแข็งขึ้น
ทำไมลูกจึงเคี้ยวบ้างไม่เคี้ยวบ้าง?
เด็กส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาหารชนิดไหนกลืนได้เลย หรือชนิดไหนต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อน หากป้อนเข้าไปพร้อมๆ กันมีโอกาสที่เด็กจะกลืนเข้าไปเลยแล้วทำให้อาเจียนได้
ดังนั้นคุณแม่ควรช่วยบอกลูกอยู่ข้างๆ ยกตัวอย่างเช่น ลูกชายของหมอ หากป้อนเต้าหู้นิ่มพร้อมกับหมูสับเขาจะอาเจียน เพราะเขาเห็นว่าเป็นเต้าหู้ก็รีบกลืนไปเลย ไม่ทันระวังหมูที่ป้อนมาพร้อมกัน แต่ถ้าป้อนหมูสับอย่างเดียวแล้วเตือนเขาว่า “หมูนะลูก ต้องเคี้ยวก่อนนะครับ” เขาจะเคี้ยวแล้วกลืนได้โดยไม่มีปัญหา
บทความโดย : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
Save