เด็กๆ ทุกคนต้องการความรักและการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ จนกว่าจะเติบโตและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ไม่ดูแลลูก ก็คงเป็นเรื่องยากที่ลูกจะอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ พ่อแม่ไม่ควรทอดทิ้งลูก การ เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี และอารมณ์ดี ก็เป็นสิ่งสำคัญ
1.รู้จักเด็ก
- เด็กเลี้ยงง่าย มักพบประมาณ 40% มีการทำงานของร่างกายค่อนข้างสม่ำเสมอ อารมณ์ดี ปรับตัวได้เร็ว กินง่าย นอนตามเวลา เมื่อถึงเวลาตื่นอาจร้องเพียงเล็กน้อย พอดูดนมจะสงบได้เร็ว ไม่ค่อยงอแง หลับได้นาน คาดเดาได้ง่ายว่านอนนานเท่าไหร่จึงจะตื่น
- เด็กเลี้ยงยาก มักพบประมาณ 10% มีการทำงานของร่างกายไม่สม่ำเสมอ ปรับตัวช้า ใช้เวลานาน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ กินยาก นอนยาก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา งอแง ปลอบยาก อารมณ์แปรปรวน ทำให้พ่อแม่มีความกังวลต่อความต้องการของลูก เพราะคาดเดาได้ยาก ต้องอดทนสูง
- เด็กปรับตัวช้า มักพบประมาณ 15% จะอารมณ์ไม่ดีบ่อย อาจร้องไห้มากช่วงแรก เมื่อพ่อแม่ปลอบจึงจะสงบ ต้องการเวลาปรับตัว คุณพ่อ คุณแม่ต้องให้เวลา ไม่กดดัน ลูกจึงจะทำได้ดี เช่น ดูดนมไปสักครู่แล้วหยุดดูดเป็นพักๆ ไม่ควรเร่งให้ลูกดูดเร็วๆ ลูกจะหงุดหงิด งอแง พ่อแม่ต้องใจเย็นๆ
- เด็กเลี้ยงได้ในระดับปานกลาง มักพบประมาณ 35% มีการทำงานร่างกายค่อนข้างสม่ำเสมอ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง มีปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อเผชิญกับสิ่งใหม่ในระดับปานกลาง คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตและปรับการตอบสนองตามลักษณะของลูก เพราะจะมีบุคลิกภาพเฉพาะตัวตั้งแต่ทารก
อ่านต่อ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อารมณ์ดี และมีความสุข” คลิกหน้า 2
2.รู้จักวิธีเลี้ยงเด็ก
- ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกคือ ความสุขของลูก และความสุขของพ่อแม่
คงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะมีความสุขขณะที่พ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อพ่อแม่ทะเลาะกัน จะทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะมีความสุข และคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุ เมื่อพ่อแม่มีความสุขจะส่งผลให้ลูกมีความสุขด้วย เพราะพ่อแม่จะอดทนต่อพฤติกรรมของลูกได้มากกว่าตอนที่ไม่มีความสุข เด็กที่มีความสุขจะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เด็กที่ไม่มีความสุขจะมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก
- การปรับสมองให้มีความสุข
ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน บางครั้งอาจสับสนไปตามความคิด และค่านิยมของสังคม ไม่ได้มองถึงความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง จริงๆ แล้วคนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความสุข เพราะความเชื่อ ความคิด ที่ถูกสอนมาจนโต เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุข และส่งต่อถึงลูก ทำให้ลูกไม่ชอบตัวเอง และเปิดปมชีวิต ลองเปลี่ยนให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่บวก จะทำให้ลูกมีความสุข
- การปรับโปรแกรมสมองของลูกน้อย
เด็กสังเกต และเลียนแบบการกระทำของคนรอบข้าง สิ่งที่ต้องการคือแบบอย่างที่ดี การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม คนส่วนใหญ่มักจะจดจำเรื่องในแง่ลบเพื่อปกป้องตัวเอง กลายเป็นการทำลายความรู้สึกดีๆ ซึ่งในแต่ละครั้งที่พ่อแม่พูดกับลูก ลูกจะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่รู้สึกอย่างไร เพราะพ่อแม่มักใช้คำพูดเชิงลบซึ่งส่งผลให้ลูก รู้สึกผิด ขาดความนับถือในตัวเอง ไม่ยุติธรรม เด็กจะแก้ตัวเพื่อปกป้องตัวเอง รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ต่อต้าน
ทุกอย่างที่พ่อแม่ คิด รู้สึก การแสดงอารมณ์ การตอบสนอง ความคาดหวัง ความเชื่อที่มีต่อลูก ลูกจะรับรู้ และเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ลูกเป็น เพราะการแสดงออกของพ่อแม่คือกระจกสะท้อน ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูก ส่งผลต่อความคิด พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น พ่อแม่คิดว่าลูกคือคนที่นำโชคดีมาให้ เพราะเกิดมาในช่วงที่อยู่ดีกินดี พ่อแม่จะปฏิบัติตัวกับลูกดี แต่ถ้าเกิดมาในช่วงที่ยากลำบากก็จะทำตรงข้าม
อ่านต่อ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อารมณ์ดี และมีความสุข” คลิกหน้า 3
3.รู้จักพ่อแม่
- พ่อแม่ถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับมาจากปู่ย่าตายาย ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในโรงเรียน แต่เรียนรู้จากชีวิตจริงของตัวเอง อาจดุลูกเมื่อลูกทำไม่เหมาะสม แล้วคิดว่า นี่คือสิ่งที่ตายายเลี้ยงมา และเติบโตมาได้เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ชอบวิธีแบบนี้ก็ตาม แต่พ่อแม่บางคนก็เลี้ยงลูกแบบตรงกันข้าม เพราะสิ่งที่ครอบครัวเลี้ยงดูมาสร้างความเจ็บปวด และตั้งใจว่าจะไม่เลี้ยงลูกแบบนั้นเด็ดขาด
- พ่อแม่เพียงแค่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งพ่อแม่อาจถูกเลี้ยงมาแบบหนึ่ง และไม่รู้วิธีอื่นๆ หรือเพียงคิดว่าวิธีนี้น่าจะใช้ได้แล้ว
- พ่อแม่มีความเครียด เมื่อมีความขัดข้องทางการเงิน ทำงานหนัก เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย มีแนวโน้มว่าพ่อแม่จะใช้อารมณ์กับลูก หรือทำร้ายลูกด้วยคำพูด เมื่อความเครียดสะสมจึงระบายออกมากับคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ถูกเจ้านายต่อว่า หลังจากกลับมาบ้านลูกน้อยขอให้ช่วยสอนการบ้าน พ่อแม่อาจเผลอใส่อารมณ์กับลูก ควรปรับสมดุลอารมณ์ของพ่อแม่ก่อนที่จะคุยกับลูก
อ่านต่อ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อารมณ์ดี และมีความสุข” คลิกหน้า 4
4.รู้จักความโกรธ
- สอนให้ลูกแสดงความโกรธที่เหมาะสม โดยใช้คำพูดแทนการกระทำ เช่น “ตอนนี้กำลังโกรธ” “โกรธใคร” “โกรธยังไง”
- หยุดการแสดงความโกรธที่ก้าวร้าวของลูก การเพิกเฉยคือวิธีที่เหมาะที่สุด พ่อแม่ไม่ควรโอ๋ พูดโต้ตอบ ดุว่า อบรมสั่งสอน หรือตอบสนองใดๆ ขณะที่ลูกก้าวร้าว
- ช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ถามลูกว่า ทำไมถึงโกรธ ช่วยในลูกคิดถึงอารมณ์ เช่น “หนูโกรธเพราะน้องแย่งของเล่นใช่ไหมคะ?” แล้วลูกจะตอบว่าโกรธเพราะอะไร
- ยอมรับอารมณ์ของลูก แสดงออกว่าอารมณ์ของลูกได้รับการยอมรับ เปิดโอกาสให้ลูกพูดแสดงความรู้สึก แม้ว่าจะไปเห็นด้วย แต่ต้องฟังความโกรธของลูกก่อน
- สอนวิธีจัดการความโกรธ เช่น พูดคุยขณะที่ลูกพร้อมและอารมณ์ดีว่า วิธีไหนจะช่วยจัดการอารมณ์ เช่น นั่งมุมสงบ หากิจกรรมอย่างอื่นทำ เด็กคิดเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยแนะนำ เช่น “เวลาที่หนูโกรธ หนูทำอะไรแล้วรู้สึกดี?” “หนูล้างหน้าก่อนมั้ย แล้วค่อยมาคุยกัน”
- พ่อแม่เป็นแบบอย่างในการจัดการความโกรธ พ่อแม่ควรจัดการความโกรธด้วยตัวเอง แล้วบอกให้ลูกรับรู้ด้วย เช่น “แม่โกรธที่บ้านรกแบบนี้ แม่จะไปสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วค่อยคุยกัน”
เด็กก็คือเด็ก ถึงแม้ว่าจะฉลาดแค่ไหน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และจิตใจ พ่อแม่ควรรู้ และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ให้ความรัก ความเข้าใจ ลูกน้อยจะค่อยๆ เติบใหญ่ และเรียนรู้ผิดถูก เพราะเด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีเพื่อที่จะได้เป็นที่รักของพ่อแม่
เครดิต: พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ นิตยสารหมอชาวบ้าน
Save