AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สอนลูกเจนอัลฟ่า ให้เป็นเด็กหลายภาษาพร้อมรับ AEC

สอนลูกเจนอัลฟ่า ให้เป็นเด็กหลายภาษาพร้อมรับ AEC

คุณหมอเดว นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี พร้อมกับ บก.นิตยสาร Amarin Baby & Kids ร่วมพูดคุยถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคการ สอนลูกเจนอัลฟ่า ในยุคดิจิตอล โดยคุณหมอแบ่งคนแต่ละยุคออกไปเป็น 5 ยุค 5 generation ตามเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นๆ พร้อม 2 ครอบครัวตัวอย่าง

5 generations family

คุณหมอเดว นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี

5 generation ของคน 5 ยุค

  1. Generation Baby Boomer เป็นยุคที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุเกิน 60 ปี เป็นยุคที่คนต้องปากกัดตีนถีบ สู้ชีวิต ไม่มีโทรทัศน์ หรืออาจจะเริ่มมีโทรทัศน์แต่เป็นแบบขาวดำ เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอึด อดทน ในยุคนี้ใช้นกพิราบในการสื่อสาร การสื่อสารจึงจะใช้เวลานานกว่า 2 เดือน ผู้รับจะได้รับสารช้ากว่า เมื่อเริ่มมีเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง ก็จะเข้าสู่คน Generation X
  2. Generation X เป็นยุคของคนอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในสังคม
  3. Generation Y อยู่ในช่วงวัยทำงาน จะเป็นกลุ่มคนที่เรียบเฉย มีเทคโนโลยีและความสะดวกสบายครบครัน ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้พลังอึดอดทนของคนลดน้อยลง เป็นหนี้เป็นสินง่าย ถ้าไม่ได้รับความรู้การควบคุมเงิน ทางด้านเศรษฐศาสตร์
  4. Generation C เป็นยุค digital native คือวัยรุ่น วัยเรียน และเยาวชน มีโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นมาเป็นอวัยวะที่ 33 สามารถเรียนผ่านระบบ E-learning สามารถสอบผ่านสื่อออนไลน์ได้ และสามารถรับประกาศนียบัตร
  5. Generation alpha เป็นุคของวัยเด็กเล็กในสมัยนี้ เด็กในยุคนี้จะมีความฝันเรื่องอาชีพที่หลากหลาย อยากเป็นนู่น อยากเป็นนี่ เพียงไม่กี่วันก็เปลี่ยนใจ จุดอ่อนของเด็กกลุ่มนี้คือมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก

อ่านต่อ “7 คุณลักษณะ และ 7 ทักษะพื้นฐานของเด็กยุค Gen alpha” คลิกหน้า 2

7 คุณลักษณะของเด็กยุค Gen alpha

1.มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก

2.ใช้เทคโนโลยีมาก ทำให้ลูกกลายเป็นหุ่นยนต์

3.เสพและบริโภคสื่อมาก ทำให้เด็กเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีวันไหว้ครู ถ้าครูไม่มีความยืดหยุ่นและปรับตัว

4.ต้องการทำหลากหลายอาชีพในเวลาเดียวกัน

5.กลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะ เลี้ยงลูกแล้วมีปัญหา เพราะพ่อแม่เอาใจลูกมากเกินไป

6.ปกป้องลูกมากเกินไป จนลูกไม่มีจิตสำนึก

7.พ่อแม่มีลูกน้อยลง ต้องการแต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก

พฤติกรรม gen alpha

7 ทักษะพื้นฐานของเด็กยุค Gen alpha

1.การฝึกทักษะการอยู่ร่วมกันเป็นทีม ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน รู้ผิดรู้ถูก ยับยั้งอารมณ์ อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าครอบครัว

2.การใช้ธรรมชาติในการสอนลูก เช่น พืช สัตว์ สังคม ให้อยู่ร่วมกันได้ ให้ลูกทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้จักอ่อนโยนต่อสัตว์ ใจของลูกจะได้ไม่แข็งกระด้าง

3.ต้องรู้เท่าทันสื่อ หาวิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกเสพติดสื่อ

4.ใช้สื่อให้หลากหลาย และได้ประโยชน์

5.ฝึกทักษะการเป็นผู้ให้ เลือกสิ่งดีๆ ให้คนอื่น เป็นการเสียสละ

6.ฝึกความยากลำบากขั้นพื้นฐาน เพราะเด็กบางคนสบายเกินไป

7.ฝึกสุนทรีในการพูด เมื่อพูดแล้วต้องรักษาการสนทนาต่อไปได้

อ่านต่อ 7 หลักที่พ่อแม่ควรทำกับเด็ก และภาษาในยุค Gen alpha” คลิกหน้า 3

7 หลักที่พ่อแม่ควรทำกับเด็กยุค Gen alpha

1.ให้ความรัก ความอบอุ่น ความไว้วางใจ ทำบ้านให้เป็นบ้าน ทำให้ลูกมีความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เพราะความรักไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงลูกให้มีความสุขเท่านั้น อาจมีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

2.สื่อสารกับลูกให้ดีต่อกัน เปิดใจรับฟังลูก ฟังอย่างเข้าใจ ฟังแล้วคิดตาม และแสดงความรู้สึกถึงความสนใจในสิ่งที่ลูกพูด

3.ควรมีหลักวินัยเชิงบวก มีความมั่นคง มีการให้เกียรติกัน

4.ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้

5.อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ ลูกทุกคนมีคุณค่า ไม่มีใครอยากเกิดมาโง่ หรือแย่

6.เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก

7.ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบ้าน ทำให้ลูกรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า

ภาษาในยุค Gen alpha

ภาษา มีไว้สำหรับสื่อสาร ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาไว้สอบเพียงอย่างเดียว ให้เรียนเพื่อนำมาใช้ เมื่อลูกนอนหลับสมองจะเริ่มจัดเรียงข้อมูลที่ได้รับขณะตื่น แยกแยะสิ่งที่ได้ใช้ และไม่ได้ใช้ การจัดการของสมองจะลบทิ้งสิ่งที่ไม่ได้ใช้ออกไป สิ่งที่ใช้บ่อยๆ  สมองก็จะเก็บสิ่งนั้นเอาไว้ ภาษาก็เช่นกัน

พัฒนาการเด็กมี 4 ด้าน เริ่มตั้งแต่การพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก การเดินได้เร็วไม่ได้มาจาก IQ แต่มาจากการพัฒนากล้ามเนื้อเหล่านั้น ส่วนการเพิ่มทักษะทางภาษามีผลมาจาก IQ มีเด็กจำนวนมาก มีปัญหาการพัฒนาทางภาษาช้า เพราะพ่อแม่ฝึกลูกไม่เป็น ไม่ได้ฝึกตั้งแต่ยังเล็ก ในจำนวน 30 คน มีเด็กจำนวน 20 คนที่พัฒนาการช้า เพราะพ่อแม่ใช้สื่อเทคโนโลยีเลี้ยงลูกแทนตัวเอง อย่าไปหวังพึ่งเทคโนโลยีมากเกินไป เพราะทักษะทางภาษาฝึกได้ด้วยฝีมือพ่อแม่ ลองฝึกลูกให้เหมือนกับการฝึกภาษาไทย จากคำง่ายๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องสำเนียง เพียงแค่สื่อสารกันได้และรู้เรื่องก็พอแล้ว

เด็กที่เรียนรู้หลายภาษาจะมีสมาธิมากกว่าภาษาเดียว เข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ได้มากกว่า ซึ่งเป็นจุดๆได้เปรียบ ทำให้มีการพัฒนาสมองอย่างต่อเนื่อง ลูกจะมีพัฒนาการได้เร็ว แต่ก็ไม่ใช่ให้ลูกท่องจำ ลองนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนเกิดความเคยชิน

อ่านต่อ “ครอบครัวตัวอย่างเด็ก 2 ภาษา” คลิกหน้า 4

ครอบครัวตัวอย่างเด็ก 2 ภาษา

ครอบครัวตัวอย่าง 2 ครอบครัวที่มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กหลายภาษา เล่าว่า ความแตกต่างของเด็กแต่ละช่วงวัยกับการใช้ภาษาไม่แตกต่างกันมาก เด็กที่พ่อแม่พูดด้วยเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่อยู่ในท้อง การส่งเสียง การปฏิสัมพันธ์กับลูกเรื่องสำเนียง พูดให้เป็นกิจวัตร ไม่ต้องเขินอาย เพราะแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมมีมากมายในสื่อเทคโนโลยี

คุณครูอร คุณแม่ของน้องอาย ลูกสาววัย 15 ปี ที่สอบชิงทุนได้ไปศึกษาที่อเมริกา แนะนำว่า การเลี้ยงลูกก่อนอื่นต้องดูที่ธรรมชาติของลูก พยายามเข้าใจลูก และเปิดใจกับภาษาที่ 2 ทำให้มีความสนุกในการสอน สอนให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ จับสำเนียงภาษาขั้นพื้นฐาน ABC ให้ได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สำเนียงยังไม่ได้ ก็ใช้ตัวช่วยผ่านสื่อเทคโนโลยี หรือเปิดดิกชันนารี เป็นการปูคุณลักษณะในการเรียนรู้ สอนให้ลูกหาทางเรียนรู้ด้วยตัวเอง และอย่าคาดหวังกับลูกมากเกินไป เพราะลูกจะกดดัน

คุณพ่อ คุณแม่ของน้องคินนี่ เด็กชายวัยประมาณ 2 ขวบ ที่เป็นเด็ก 2 ภาษาเล่าว่า เมื่อคุณพ่อมีน้องคินนี่ ก็เกิดความสนใจในเด็ก 2 ภาษา โดยคุณพ่อมีหลักการสอนลูกอยู่ 2 อย่าง คือ พูดภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์กับลูก ให้ลูกเห็นภาพว่าสิ่งนั้นคืออะไร ลองพูดภาษาที่เราอย่างให้ลูกพูดในชีวิตประจำวัน คุณพ่อจะเป็นคนพูดภาษาอังกฤษกับลูก คุณแม่จะพูดภาษาไทย โดยรากฐานของคุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนไทย เรียนที่ประเทศไทย แต่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง เรื่องสำเนียงอาจต้องใช้ส่อเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย และคุณพ่อ คุณแม่ต้องควบคุมดูแลเรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยีกับลูกด้วย

เลี้ยงลูกสองภาษา

ถ้าลูกไม่มีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษเลยจะทำอย่างไร?

คุณพ่อของน้องคินนี่แนะนำว่า เทคโนโลยีช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ แต่ควรให้ลูกใช้อย่างพอดี เลี้ยงลูกให้เหมือนเป็นลูกครึ่ง วิธีการคือพ่อพูด 1 ภาษา แม่พูด 1 ภาษา เด็กๆ สามารถแยกแยะได้ว่าควรพูดภาษาอะไรกับใคร

คุณครูอร คุณแม่ของน้องอายกล่าวว่า มีเด็ก 2 ขวบที่คุณครูอรสอน พูดไม่ได้เลยแม้แต่ภาษาเดียว เพราะที่บ้านมีการพูดกันถึง 3 ภาษา เด็กจึงใช้สมองในการจัดการด้านภาษาช้าเร็วไม่เท่ากัน พ่อแม่ หรือครู คือคนที่จะใส่สิ่งที่ถูกต้องให้ลูก และใช้ตัวช่วยทางเทคโนโลยีให้ถูกวิธี เพราะเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมศักยภาพการรับภาษา ทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาเป็นสิ่งเล็กๆ และซึมซับอย่างเป็นธรรมชาติ

คุณโป่ง บก.นิตยสาร Amarin Baby & Kids แนะนำว่า ให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังวันละ 10 นาที เป็นการฝึกทักษะทางภาษา และจินตนาการต่อยอดทางสมองของลูก เมื่อลูกมีความสนใจในการเรียนรู้ทางภาษา ลูกก็อาจจะนำความรู้ย้อนกลับมาถ่ายทอดให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง การฝึกภาษาเริ่มต้นจากการอ่าน การใช้เวลาพูดคุยกับลูก เป็นผู้ฟังลูก

คุณครูอร คุณแม่ของน้องอาย แนะนำให้ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ พูดคุยกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมทั้งให้กำลังใจลูก

คุณพ่อคุณแม่ของน้องคินนี่ กล่าวว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพของตัวเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ที่จะดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร รีบเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเริ่มช้าเท่าไหร่ ลูกก็จะพัฒนาช้าออกไปเรื่อยๆ