การมองเห็นส่งผลต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจดูแลสายตาลูกน้อย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าโรคตาพบบ่อยในเด็ก และแนะนำให้รีบตรวจรักษาค้นหาความผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งพบได้ในเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต
โรคตาที่พบบ่อยในเด็ก
- เด็กคลอดก่อนกำหนด โรคจอประสาทตาเสื่อม
- เด็กทารก โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ความผิดปกติส่วนหน้าของตา
- เด็กเล็ก โรคตาขี้เกียจ โรคตาเข สายตาสั้นยาว และตาไม่เท่ากัน
- เด็กโต สายตาผิดปกติ
ตาขี้เกียจคืออะไร?
ตาขี้เกียจคือการที่ตาข้างนั้นมองภาพไม่ชัด ในช่วง 7 ขวบแรก เป็นช่วงที่มีพัฒนาการมองเห็น ส่งผลให้การรับภาพโดยสมองจากตาข้างนั้นน้อยลง มีระดับการมองเห็นลดลง ถ้าไม่ได้รักษา จะทำให้การมองเห็นลดลงถาวร พบในเด็กที่มีตาเข สายตาสั้น ยาว เอียง และไม่เท่ากัน หรือจอประสาทตาผิดปกติ
ถ้าลูกสายตาสั้น ยาว เอียง ทำยังไงดี?
1.เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีความผิดปกติทางสมอง และพัฒนาการ มีโรคประจำตัว หรือคนในครอบครัวมีตาผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปพบจักษุแพทย์ หาความผิดปกติ และรักษาได้ทันท่วงที
2.เด็กปกติ คุณพ่อ คุณแม่ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ตามช่วงวัย ทุกๆ 1-2 ปี เพื่อหาความผิดปกติ
ความผิดปกติของสายตา
1.สายตายาว เด็กที่มีสายตายาว จะต่างจากคนที่มีสายตายาวตามอายุ อาการสายตายาวจะทำให้เห็นภาพไม่ชัดเวลามองใกล้ๆ บางคนมีผลทำให้ตาเขเข้าข้างในด้วย หรืออาจกลายเป็นตาขี้เกียจได้
2.สายตาสั้นแท้ เด็กไทย และเอเชีย พบว่ามีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว แต่จะพบน้อยในเด็กที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือนอกห้องเรียน เด็กในบ้านจะสายตาสั้นมากกว่าเพราะมองในระยะใกล้ๆ นานๆ
4.สายตาสั้นเทียม พบในเด็กที่ขอบเพ่งมอง ทำให้การวัดสายตาสั้นกว่าความเป็นจริง ทำให้มองไกลๆ ไม่เห็น ต้องเดินไปดูใกล้ๆ หรือหยีตาเวลามองเพื่อจ้องวัตถุ
5.สายตาเอียง เกิดจากการโฟกัสในแต่ละแนวไม่เท่ากัน เพราะปกติกระจกตาดำไม่ได้กลมเหมือนลูกบอล แต่กลมรีเหมือนรักบี้ ทำให้ความโค้งแต่ละแนวไม่เท่ากัน ไม่ได้ตกโฟกัสจุดเดียว ทำให้เห็นภาพมัว ทั้งไกลและใกล้ เด็กๆ ที่เป็นจะเอียงหน้า หรือตะแคงหน้ามองเพื่อให้เห็นชัดๆ
อ่านต่อ “วิธีสังเกตความผิดปกติของสายตาลูกน้อย” คลิกหน้า 2
วิธีสังเกตความผิดปกติของสายตาลูกน้อย
แรกเกิด – 6 เดือน สังเกตว่าลูกมีตาเขเข้าด้านใน หรือออกด้านนอกหรือไม่ ตาดำมีสิ่งผิดปกติหรือเปล่า เช่น ตาดำไม่เท่ากัน ควรพาลูกไปตรวจ เพื่อขอคำแนะนำ อาจเป็นโรคตาเขได้ ไม่ปล่อยไว้จนโต
1 – 3 ขวบ ถ้ามีตาเขเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาดูอะไรใกล้ๆ ควรรีบพบแพทย์ ไม่ปล่อยไว้ เพราะบางครั้งพ่อแม่เห็นว่าลูกไม่เจ็บ ก็ละเลย เพราะคิดว่าคงไม่อันตราย เด็กบางคนรักษาช้าเกินไปอาจเป็นโรคตาขี้เกียจ ทำให้ลูกไม่มีพัฒนาการ มีปัญหาในการดูภาพได้
3 – 5 ขวบ สังเกตเวลาลูกเผลอดูทีวี หรือเข้าไปดูใกล้เกินไป ต้องพาลูกไปตรวจตา เพราะอาจพบความผิดปกติของตาได้
- สังเกตรูปหน้าเปรียบเทียบความสมดุล และตาดำสองข้างเท่ากันหรือไม่
- เมื่อลืมตาเต็มที่ หนังตาเปิดกว้างเท่ากันหรือไม่
- มีสีขาวขุ่นอยู่ตรงกลางโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่
- น้ำตาไหลเอ่อตาอยู่เสมอหรือไม่
- ขยี้ตาอยู่บ่อยๆ ตาขาวไม่ขาว มีสีแดงเรื่อๆ หรือไม่
- เวลามองแสงจ้าจะหรี่ตาข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ หรือเงยหน้าดูจึงจะเห็นชัด
- ลูกตาควรใสสะอาด ไม่ควรมีขี้ตา ลูกตาดำทั้งสองข้างไม่ควรมีสีขุ่นขาว ต้องดูใส
- ลูกตาดำมีลักษณะเขเข้าและดูแวววาว คล้ายตาแมวในเวลากลางคืน
- ลูกตาดำเขเข้าหรือเขออก เป็นบางครั้ง หรือเห็นว่าเขตลอดเวลา
- เห็นภาพสองภาพ ปวดศีรษะ ตามัว
- ตาดำสั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมการสั่นของลูกตาดำได้
- มีพัฒนาการทางร่างกายช้า ไม่สัมพันธ์กับการมองเห็น เช่น เด็กอายุ 3-4 เดือน ควรจะมองหน้าและประสานสายตากับแม่ได้ สามารถแสดงกิริยายิ้ม โต้ตอบเมื่อมีอารมณ์พอใจ
อ่านต่อ “การวัดสายตาในเด็ก และเตรียมตัวพาลูกน้อยไปวัดสายตา” คลิกหน้า 3
การวัดสายตาในเด็ก
โดยธรรมชาติ เด็กจะชอบเพ่งทำให้สายตาที่วันค่าได้เป็นสายตาสั้นกว่าความจริง หรือวัดสายตายาวได้น้อยกว่าความจริง ต้องให้เด็กหยุดเพ่งสักครู่ โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 12 ขวบ หยอดยาเพื่อลดการเพ่ง แล้ววัดสายตา หลังจากตรวจคุณหมอจะสั่งตัดแว่นที่เหมาะสม และนัดติดตามผลเป็นระยะ เพราะค่าสายตาเด็กเปลี่ยนแปลงได้ตลอด หยอดยาวัดสายตาปีละ 1 ครั้ง จนถึง 12 ขวบ ก็สามารถวัดสายตาแบบผู้ใหญ่
เตรียมตัวพาลูกน้อยไปวัดสายตา
1.ควรเป็นวันที่ไม่มีไข้ ร่างกายปกติดี ไม่มีสอบ หรือการเรียนที่ต้องใช้สายตามาก ประมาณ 1 วัน
2.เตรียมแว่นดำ หรือหมวกมาด้วย เพราะหลังจากตรวจม่านตาจะขยายเล็กน้อย ทำให้แพ้แสง 1 วัน
3.หยอดยาวัดสายตา ทุก 5 – 10 นาที 2-3 ครั้งทั้งสองตา รอประมาณ 30 นาที จะสามารถตรวจได้ ระหว่างหยอดตาเด็กๆ อาจร้องไห้งอแง เพราะยาหยอดตาทำให้แสบตา
4.หลังตรวจเรียบร้อย จักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตา เนื่องจากม่านตาขยายพอที่จะตรวจได้
5.หลังตรวจตาแล้ว ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนในบ้าน ไม่ควรโดนแสงสว่างมากๆ
พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้างานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า “บางที เราอาจจะมีความสงสัยว่า ทำไมสายตาสั้นทำให้ตาบอดได้ เพราะเราก็รู้กันว่าถ้าผู้ใหญ่เกิดอาการสายตาสั้นก็ไปตัดแว่น อันนั้นก็เป็นภาวะผิดปกติของสายตาโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ในเด็ก เนื่องจากระบบการมองเห็นในเด็กตั้งแต่แรกเกิด มันยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะเป็นการมองเห็นที่สมบูรณ์เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ตามที่ทำให้เด็กไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้ การพัฒนาการมองเห็นของเด็กก็จะไม่เกิดด้วย เพราะพัฒนาการมองเห็นที่ว่านี้ จะประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางด้านสายตาและสมอง ซึ่งก็คือศูนย์รับภาพการมองเห็น ถ้าพัฒนาการนี้ไม่เกิด ก็แสดงว่าเด็กคนดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ”
“เพราะฉะนั้น เด็กที่สายตาสั้นตั้งแต่ก่อนอายุ 6 ขวบ และไม่ได้รับการแก้ไขด้วยแว่น ก็หมายความว่าเขาเห็นภาพไม่ชัด เมื่อภาพไม่ชัดส่งเข้าไปที่สมอง สมองก็จะไม่พัฒนา และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเกิดการสายตาเสียถาวร นั่นหมายความว่า หลังจาก 6 ขวบก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อีกแล้ว แม้ว่าจะไปใส่แว่นหลังจากนั้น ก็จะไม่สามารถกระตุ้นให้มันเกิดการพัฒนาการที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่แว่นให้เด็กก่อนอายุหกขวบ เขาจะกลับมาเห็นเป็นปกติได้เลย แต่ถ้าเลยจากนั้นไปแล้ว การมองเห็นจะไม่สมบูรณ์”
เครดิต: พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์, นพ.วรากร เทียมทัด, พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์, ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
Tablet มือถือ คอมพิวเตอร์ อันตรายเสี่ยงลูกป่วยทางสายตา